ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

เรือประมงไทยกระอักเลือด! เสียหายกว่าหมื่นล้าน อินโดปิดน่านน้ำ-เร่งรัฐเจรจาด่วน

เริ่มโดย mrtnews, มี.ค 10, 15, 19:50:02 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เรือประมงไทยกระอักเลือด เสียหายยับกว่าหมื่นล้าน หลังอินโดนีเซียออกกฎเหล็กใหม่ 4 ฉบับ จัดระเบียบเรือประมงต่างชาติ ห้ามวิ่งในน่านน้ำอินโดฯเด็ดขาด หากจับได้เป็นเรือเถื่อนพร้อมล่มเรือทิ้ง ด้านรัฐมนตรีกิจการทางทะเลและประมงอินโดฯชี้ต่อไปบริษัทต่างชาติจะเข้ามาลง ทุนได้เฉพาะในภาคกระบวนการแปรรูปและทำการตลาดเท่านั้น


หลังจากอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงด้านประมงใหม่ 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ให้ระงับการออกใบอนุญาตทำประมง รวมถึงการต่ออายุใบอนุญาต ส่วนใบอนุญาตที่ยังไม่หมดอายุ จะต้องหยุดทำการประมง เพื่อรอการตรวจสอบจากรัฐบาลอินโดนีเซีย 2)ให้เรือประมงต่างชาติถ่ายปลาที่จับได้ขึ้นฝั่งตามท่าเรือของอินโดนีเซียที่ระบุไว้ 3) งดออกใบอนุญาตทำประมงให้เรือที่ต่อในต่างประเทศและห้ามขนถ่ายปลากลางทะเล 4)ห้ามใช้อวนลากและอวนล้อม

แหล่งข่าวจากวงการเรือประมงเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นับจากอินโดนีเซียมีนโยบายปิดน่านน้ำไม่ให้จับปลามากว่า 4 เดือนตั้งแต่ พ.ย. 2557 คาดการณ์ความเสียหายต่ออุตสาหกรรมประมงไทยแล้ว

ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างแรงงานลูกเรือ 6,000 คน ที่ต้องจ่ายเปล่าแม้ไม่ได้ออกเรือ ประมาณ 200 ล้านบาท/เดือนค่าสินค้าที่ติดค้างในห้องเย็นกว่า 1 พันล้านบาทและมูลค่าเรือที่ต้องจอดที่ท่าอินโดนีเซียอีก 200-300 ลำ มูลค่าลำละ 30-100 ล้านบาท

สาเหตุที่อินโดนีเซียเข้มงวดกับเรือประมงของชาวต่างชาติทุกประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมามีเจ้าของเรือประมงบางคนฝ่าฝืนกฎหมายในหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเจ้าของเรือไทยบางรายได้นำใบอนุญาตจากเรือที่ถูกกฎหมายเพียง 1 ลำ ไปสวมสิทธิ์ให้กับเรือเถื่อนอีก 4-5 ลำ ลักลอบเข้าไปจับปลาในน่านน้ำของอินโดนีเซียด้วย และมีการขนถ่ายวัตถุดิบที่จับได้กันกลางทะเล ไม่ได้เข้าจอดเทียบท่าเรือตามข้อบังคับ ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้เจ้าของเรือที่มีใบอนุญาตถูกต้องทุกลำได้รับความเดือดร้อนมาก

ตั้งแต่กฎหมายใหม่ของอินโดฯมีผลบังคับใช้ เจ้าของเรือประมงไทยที่ไปร่วมทุนกับบริษัทอินโดฯได้พยายามวิ่งเต้นเจรจากับอินโดฯทุกวิถีทางให้มีการผ่อนปรนเงื่อนไขแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากทางอินโดนีเซียมีรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ กาเปลี่ยนขั้วการเมืองส่งผลต่อสายสัมพันธ์ที่ผู้ประกอบการประมงเคยมี ครั้งนี้จึงต้องติดต่อกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผ่านทางสมาคมประมงนอกน่านน้ำไทย เพื่อขอให้รัฐช่วยเจรจากับระดับรัฐบาล เพื่อหารือถึงนโยบายประมงหลังการจัดระเบียบของอินโดนีเซีย ที่จะประกาศหลังวันที่ 30 เม.ย.นี้อีกระลอกหนึ่ง

เรือประมงไทยที่เข้าไปร่วมทุนกับอินโดฯได้โอนสัญชาติเรือ และชักธงเป็นอินโดนีเซียตามกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2548 และถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทอินโดฯตามการจดทะเบียน ดังนั้นจึงถูกรัฐบาลอินโดนีเซียกักไว้ในท่าเรือ เพื่อรอการตรวจสอบความถูกต้อง ส่วนกรณีปิดน่านน้ำ เรือทุกลำทุกสัญชาติขนาดมากกว่า 30 ตันกรอส จะไม่สามารถทำการประมงได้ในน่านน้ำอินโดนีเซีย ระหว่างเดือน พ.ย. 57-เม.ย. 58 เนื่องจากอินโดนีเซียกำลังจัดระเบียบการประมงใหม่ทั้งระบบ หากมีชาวประมงที่สวมสิทธิ์ใบอนุญาตทำการประมงของอินโดนีเซีย นำเรือที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือเรือเถื่อนเข้าไปจับปลา จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายของอินโดฯซึ่งอาจมีการจมเรือ

ชง ครม.ก่อนเปิดโต๊ะเจรจา

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมความร่วมมือด้านการประมงไทย-สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีตัวแทนจากสมาคมประมง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทะเล เข้าร่วมประชุมว่า จากกรณีที่อินโดนีเซียออกกฎกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงฉบับใหม่ บังคับใช้เมื่อเดือน พ.ย. 2557 ทำให้เรือประมงไทยที่เข้าไปลงทุนร่วมกับบริษัทอินโดนีเซียกว่า 200 ลำต้องหยุดทำการประมงทันทีจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2558 และต้องจอดในท่าเรือที่อินโดนีเซีย เพื่อรอการตรวจสอบ ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำนำเข้าจากต่างประเทศกว่า 80% หายจากท้องตลาดไทย

กลุ่มชาวประมงได้ขอให้รัฐบาลไปช่วยเจรจากับทางการอินโดนีเซีย เรื่องเรือที่ติดค้าง กระทรวงเกษตรฯจึงให้สมาคมประมงนอกน่านน้ำไทย ร่วมกับสมาคมประมงจัดทำข้อมูลความเสียหายและแนวทางช่วยเหลือที่ชาวประมงต้องการมาเสนอ เพื่อกระทรวงเกษตรฯจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1-2 สัปดาห์ต่อไป

รายงานข่าวจากกรมประมงเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าสินค้าประมงในระบบจากอินโดนีเซียประมาณ 2 แสนตัน/ปีโดยปี 2557 มีการนำเข้ารวม 2.15 แสนตันมูลค่า 6,744 ล้านบาท และในเดือน ธ.ค.2557 และ ม.ค. 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่อินโดนีเซียใช้มาตรการปิดน่านน้ำ ปริมาณสัตว์น้ำนำเข้าจากอินโดนีเซียลดลงกว่า 50%


อินโดฯเข้มห้ามเรือต่างชาติ

นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ "เทมโป" ของอินโดนีเซีย ฉบับวันที่ 1 มี.ค. 2558 ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ นางซูสี ปูดเจียสตูตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงแห่งอินโดนีเซีย ถึงธุรกิจประมงในอินโดนีเซียว่า เป็นเรื่องลึกลับ ตัวตนของกลุ่มธุรกิจที่เป็นเจ้าของมีความคลุมเครือ และหลังจากระงับทำประมงเสร็จสิ้น เรือที่ถูกพิสูจน์ว่าเป็นเรือต่างชาติจะต้องกลับประเทศทั้งหมด มิฉะนั้นจะถูกริบโดยรัฐบาล ด้านนโยบายระยะยาว เรือประมงในน่านน้ำอินโดนีเซียจะต้องเป็นเรือของชาวอินโดฯเท่านั้น และจะมีเพียงเรือขนาดเล็กเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ทำการในอินโดนีเซีย ต้องเป็นเรืออินโดนีเซียที่ควบคุมโดยบริษัทอินโดฯและการจับปลาจะต้องทำโดยคนอินโดฯ บริษัทต่างชาตินั้นจะเชิญให้เข้ามาลงทุนได้แต่เฉพาะในภาคกระบวนการแปรรูปและทำการตลาดเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ นายวิริยะ ศิริชัยเอกวัฒน์ นายกสมาคมประมงนอกน่านน้ำไทย กล่าวว่า ปลาที่เรือประมงไทยเข้าไปจับในน่านน้ำอินโดนีเซียจะขนส่งมาไทยปีละประมาณ 700,000-1,000,000 ตันต่อปี ครึ่งหนึ่งจะส่งเข้าโรงงานแปรรูปอาหารทะเลในไทยเพื่อส่งออกต่างประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลไทยอย่างแน่นอน

ที่มา -