ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

นวัตกรรมใหม่แท่นหลุมผลิต Minimum Facility Platform ‘เอ็มเอฟพี’

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 29, 15, 19:48:06 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เพื่อลดความซ้ำซ้อนและต้นทุน ปตท.สผ. จึงพัฒนาและปรับปรุงแท่นหลุมผลิตให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งการซ่อมบำรุง การจัดซื้อ การจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ และการจัดการด้านความปลอดภัย


นายวุฒิพล ท้วมภูมิงาม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ โครงการผลิตนอกชายฝั่งในประเทศไทย ปตท.สผ. เล่าว่า การนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้งานจะผ่านโครงการบงกชและโครงการอาทิตย์ ได้พัฒนาในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกัน และมีบริษัทร่วมทุนจากหลายชาติ อาทิ ฝรั่งเศส อเมริกัน อังกฤษ เป็นต้น

ทั้ง 2 โครงการมีแนวคิดและการออกแบบแท่นหลุมผลิตแตกต่างกัน กลไกในการทำงาน การควบคุมระบบ การบำรุงรักษา การจัดซื้อ การควบคุมระบบมาตรการด้านความปลอดภัย แตกต่างกันไปด้วย

เพื่อลดความซ้ำซ้อนและต้นทุน ปตท.สผ. จึงพัฒนาและปรับปรุงแท่นหลุมผลิตให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งการซ่อมบำรุง การจัดซื้อ การจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ และการจัดการด้านความปลอดภัย รวมทั้ง ยังทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรในการก่อสร้างอย่างคุ้มค่าอีกด้วย

ปัจจุบันแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีขนาดเล็กลง ปริมาณปิโตรเลียมน้อยลง อายุในการผลิตน้อยลงไปด้วย ในปี 2556 ปตท.สผ.จึงต่อยอดการพัฒนาและปรับปรุงแท่นหลุมผลิตในชื่อ Minimum Facility Platform (MFP) หรือ เอ็มเอฟพี ให้มีขนาดและอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับขนาดของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่มีขนาดเล็กและกระจายตัว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการประกวดราคาก่อสร้าง

ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมของวิศวกร ปตท.สผ. ช่วยให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับสภาพทางธรณีวิทยาในอ่าวไทยในปัจจุบัน

ด้านนายพีระศักดิ์ พานิชไตรภพ วิศวกรอาวุโสโครงสร้าง, สายงานวิศวกรรมและก่อสร้าง ปตท.สผ. เล่าว่า ด้วยปริมาณปิโตรเลียมที่เหลืออยู่ถูกประเมินว่า ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เอ็มเอฟพี จะช่วยให้นำก๊าซเหล่านั้นขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด และลดต้นทุนในการสร้างแท่นหลุมผลิตลงประมาณ 20% และลดการใช้ทรัพยากรในการก่อสร้างเมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างแท่นหลุมผลิตรูปแบบเดิม

ทั้งนี้ การออกแบบแท่นหลุมผลิตแต่ละแท่น จะถูกออกแบบให้รองรับกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ 40 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมที่รองรับได้ 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และออกแบบให้มีอายุการใช้งานในด้านการผลิตเหลือ 5 ปี จาก 15 ปี

เอ็มเอฟพี ยังทำงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 100% จึงช่วยลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษด้วย อีกทั้งยังสามารถถอดอุปกรณ์บางตัว เช่น ปั้นจั่นใช้สำหรับยกอุปกรณ์ขึ้นลงแท่น และอุปกรณ์ทำความสะอาดท่อขนส่งปิโตรเลียม

ในอนาคต ปตท.สผ.มีแผนจะพัฒนาแท่นหลุมผลิตที่โครงการบงกชให้มีขนาดเล็ก (S) เพื่อเข้าถึงทุกขนาดของแหล่งปิโตรเลียมที่มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ เพราะแท่นหลุมผลิตที่ใช้งานปัจจุบันที่เรียกว่าขนาดใหญ่ (L) มีอยู่ 37 ตัว จะใช้งานได้แค่ปีหน้า ก่อนจะเริ่มลงแท่นหลุมผลิตขนาดกลางเอ็มเอฟพี (M) ช่วงปี 2559-2560 จำนวน 10-20 ตัว

ที่มา -




'แท่นเจาะ' Minimum Facility Platform (MFP)  พลิกมุมประหยัด

แหล่งปิโตรเลียมพระอาทิตย์ในอ่าวไทย และคณะวิศวกรที่พัฒนาแท่นหลุมผลิตใหม่ช่วยประหยัดได้ 20%


แหล่งปิโตรเลียมพระอาทิตย์ในอ่าวไทยเตรียมรับเทคโนโลยีขุดเจาะใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อ ปตท.สผ.มีแผนการติดตั้งทดลองใช้ "แท่นหลุมผลิต" โฉมใหม่ไซส์มินิ ออกแบบสอดรับกับปริมาณผลผลิตปิโตรเลียมที่ลดลง มุ่งตอบโจทย์ความคุ้มค่าในการลงทุน

จุดสตาร์ทนวัตกรรมเริ่มเมื่อ 3 ปีที่แล้ว บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีแนวคิดที่จะพัฒนาลดขนาดแท่นหลุมผลิตและอุปกรณ์ ให้เหมาะสมกับแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่ให้ผลผลิตน้อยลง ทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสท ขณะที่การใช้แท่นหลุมผลิตขนาดมาตรฐานอาจไม่คุ้มค่า

ลดไซส์ไม่ลดประสิทธิภาพ
แท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform หรือ WP) คือโครงสร้างกลางทะเลสำหรับวางแท่นเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียม ภายในแท่นประกอบด้วย หลุมผลิตและอุปกรณ์เบื้องต้น เช่น อุปกรณ์แยกสถานะเพื่อทดสอบดูผลผลิตและอัตราการผลิต

ปิโตรเลียมที่ถูกเจาะขึ้นมาจะผ่านอุปกรณ์การผลิตเบื้องต้นนี้ ก่อนส่งผ่านท่อขนส่งกลางทะเลไปยังแท่นผลิตต่อไป

วุฒิพล ท้วมภูมิงาม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ โครงการผลิตนอกชายฝั่งในประเทศไทย ปตท.สผ.กล่าวว่า คณะนักวิจัยได้ระดมสมองออกแบบแท่นหลุมผลิตให้รองรับกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ 40 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมที่รองรับได้ 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้งให้ชื่อแท่นหลุมผลิตใหม่นี้ว่า Minimum Facility Platform (MFP)

"เราออกแบบให้ตอบโจทย์อายุการใช้งานจริง 5 ปี จากขนาดมาตรฐาน 15 ปี แต่ความแข็งแรงของโครงสร้างยังคงอยู่ที่ 15 ปี พร้อมลดขนาดและพื้นที่ของแท่นหลุมผลิต 20% และเลือกใช้อุปกรณ์และวัสดุให้เหมาะสมกับอายุการใช้งาน 5 ปี ทำให้น้ำหนักลดลง ลดใช้ทรัพยากรก่อสร้าง ลดค่าใช้จ่าย แต่คงประสิทธิภาพการใช้งานเช่นเดิม" พีระศักดิ์ พานิชไตรภพ วิศวกรอาวุโสโครงสร้าง สายงานวิศวกรรมและก่อสร้าง กล่าว

ภายในแท่นหลุมผลิตใหม่ยังใช้กระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 100% ขณะเดียวกันก็ปรับอุปกรณ์ให้เป็นการเวียนใช้ ไม่ติดตั้งประจำ โดยสามารถถอดออกและเคลื่อนย้ายไปใช้ในแท่นหลุมผลิตอื่นๆ เช่น ปั้นจั่นยกอุปกรณ์ขึ้นลงแท่น อุปกรณ์ทำความสะอาดท่อขนส่งปิโตรเลียม

นวัตกรรมเพื่อปิโตรเลียมไทย
ความยากของการพัฒนา MFP ในมุมของ ชาญวิทย์ บรรเทิงเภสัชสกุล วิศวกรเครื่องกลและระบบงานท่อ ฝ่ายก่อสร้างแท่นหลุมผลิต คือการยกเครื่องแฟลตฟอร์มใหม่หมด โดยรวมระบบงานที่ซ้ำซ้อนให้เป็นหนึ่งเดียว เช่น เปลี่ยนจาก 1 หลุมต่อ 1 ท่อขนส่งปิโตรเลียม เป็น 3 หลุมต่อ1 ท่อขนส่งปิโตรเลียมเพื่อลดจำนวนวาล์ว

"คน คือส่วนยากที่สุด จะต้องปรับระบบการทำงานทุกส่วน โดยให้ทุกฝ่ายมาร่วมประชุมออกความคิดเพื่อตอบโจทย์การทำงานของตน ที่สำคัญ คือพยายามรวมระบบการทำงานอัตโนมัติผ่านส่วนกลางของคอมเพล็กซ์ เพื่อลดจำนวนคนทำงานในพื้นที่"

ปัจจุบัน แท่นหลุมผลิต MFP ออกแบบได้สำเร็จแล้ว โดยลดพื้นที่ได้ 20% ลดอุปกรณ์ภายใน 24% ลดอุปกรณ์ท่อ 43% ลดอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องมือวัด 22% ลดระบบท่อก๊าซ 26% ในภาพรวมจากการคำนวณเชิงวิศวกรรมสามารถลดต้นทุนได้ราว 24%

"เราต้องรีบใช้นวัตกรรมนี้เพื่อความคุ้มค่า ขณะที่แท่นหลุมผลิตเดิมจะเหลือ 37 ตัวภายในปีนี้ และลดเหลือเพียง 4 ตัวในปีหน้า ส่วน MFP ในปี 2560 จะทดลองติดตั้งใช้กับโครงการพระอาทิตย์ในอ่าวไทย ประมาณ 3 ตัวจากนั้นทยอยเพิ่มให้ได้ 12-25 ตัว" วุฒิพลกล่าว

ขณะที่ทีมพัฒนาก็เตรียมพร้อมที่จะพัฒนาแท่นหลุมผลิตที่มีขนาดเล็กลงอีก Small Platform (SP) เพื่อเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกับขนาดของแหล่งปิโตรเลียมในอนาคตต่อไป

"ตอนนี้ถึงจุดที่เราต้องสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง แม้จะมีเทคโนโลยีของต่างประเทศรอให้เราซื้อ แต่ไม่เหมาะกับสภาพแหล่งผลิตปิโตรเลียมไทย ดังนั้น การพัฒนาองค์ความรู้ของเราเองจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งสร้าง" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ โครงการผลิตนอกชายฝั่งในประเทศไทย กล่าว

ที่มา -