ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

หม่อมอุ๋ยเซ็น MOU พม่า ขอใช้ทะเลตั้งคลังแก้วิกฤติก๊าซ 15 มิ.ย. 58

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 12, 15, 20:11:52 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

จี้ขอใช้พื้นที่ตั้งคลังแอลเอ็นจีลอยนํ้าเป็นโครงการเร่งด่วน แก้ปัญหาวิกฤติก๊าซขาดในอีก 3 ปีข้างหน้า ปตท.ยันมีความจำเป็น หลังประเมินก๊าซเมียนมาจะหมดในอีก 5 ปี สร้างคลังไม่ทัน ต้องเช่าเรือเอฟเอสอาร์ยูขนาด 3 ล้านตัน ส่งก๊าซป้อนไทยแทน คาดตกลงได้ต้องใช้เงินลงทุน 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ความร่วมมือด้านไฟฟ้าเอ็มโอยูรับซื้อไฟฟ้า 2 โครงการ โรงไฟฟ้าพลังนํ้ามายตงและโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริด รวมกำลังผลิตเกือบ 1 หมื่นเมกะวัตต์


นายณัฐชาติจารุจินดาประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในวันที่ 15 มิถุนายน 2558 นี้ ทางม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี  และนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเดินทางไปยังประเทศเมียนมา เพื่อลงนามบันทึกในข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ในกรอบความร่วมมือด้านพลังงานกับกระทรวงพลังงานและกระทรวงไฟฟ้า ของเมียนมา ก่อนจะนำไปสู่การตั้งคณะทำงานในแต่ละเรื่องต่างๆต่อไป

โดยเฉพาะโครงการตั้งคลังพร้อมกับหน่วยแปลงสภาพก๊าซแอลเอ็นจีลอยน้ำ หรือเอฟเอสอาร์ยู ซึ่งถือเป็นโครงการเร่งด่วน ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้มีความชัดเจน เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาจากการส่งก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาเข้าไปไม่เป็นไปตามแผนที่ทำสัญญาไว้ที่ประมาณ 1.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแต่ปัจจุบันส่งจากแหล่งเยตากุนได้ประมาณ 316 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากแหล่งยานาดาประมาณ 449 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่มีการประเมินเบื้องต้นว่าปริมาณก๊าซจากแหล่งเยตากุนจะหมดลงปี 5 ปีข้างหน้า และยานาดา คาดว่าจะหมดในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งระหว่างนี้ได้มีการจ้างที่ปรึกษามาประเมินเพื่อยืนยันปริมาณก๊าซทั้ง 2 แห่งนี้แล้วว่าจะหมดเมื่อใด คาดว่าจะทราบผลภายใน 6 เดือนนี้

ประกอบกับหากแหล่งใดแหล่งหนึ่งหยุดซ่อม ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี จะทำให้อีกแหล่งหนึ่งไม่สามารถส่งก๊าซให้กับไทยได้ และจะทำให้ก๊าซที่มาจากเมียนมาหายไปจากระบบทั้งหมด อีกทั้ง รัฐบาลเมียนมาประกาศที่จะส่งก๊าซให้กับไทยจากแหล่งซอติก้า ปริมาณ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นแหล่งสุดท้าย หากมีก๊าซเพิ่มเติมก็จะสงวนไว้ใช้ในประเทศเอง

"ที่ผ่านมาทางเมียนมาได้ทำหนังสือมา เพื่อขอปรับลดปริมาณก๊าซที่จะต้องส่งมอบตามสัญญาลงมาแล้ว เนื่องจากไม่สามารถจะเพิ่มระดับการผลิตก๊าซให้เป็นไปตามสัญญาได้ ทำให้ ปตท.เรียกค่าปรับมาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว ซึ่งก๊าซจากแหล่งเยตากุนถือเป็นก๊าซที่มีค่าความร้อนสูง ปกติจะต้องนำมาผสมกับก๊าซจากแหล่งยาดานา ซึ่งมีค่าความร้อนที่ต่ำกว่า เพื่อให้ได้ค่าความร้อนในระดับเหมาะสมกับโรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตกของไทย ดังนั้นการปรับลดปริมาณรับซื้อก๊าซลง ก็จะกระทบกับแหล่งก๊าซต่างๆ ต้องปรับลดปริมาณส่งก๊าซด้วย"

ดังนั้น ปตท.ในฐานะที่เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนนี้และได้รายงานให้กระทรวงพลังงานรับทราบในฐานะที่รัฐต่อรัฐจะต้องไปเจรจาในการขอใช้พื้นที่จากทางเมียนมาในการขอตั้งเอฟเอสอาร์ยูเพื่อส่งก๊าซแอลเอ็นจีมายังฝั่งไทยผ่านท่อส่งก๊าซที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะตั้งเอฟเอสอาร์ยูในพื้นที่ใดระหว่างทวายที่จะต้องก่อสร้างท่อก๊าซเชื่อมกับท่อที่ใช้อยู่ปัจจุบันกับพื้นที่กันบล็อกซึ่งเป็นที่ตั้งของท่อส่งก๊าซจากเมียนมามาไทยอยู่แล้ว

นายณัฐชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับการขอใช้พื้นที่ตั้งเอฟเอสอาร์ยูดังกล่าว จะต้องเร่งเจรจาให้เร็วที่สุด และให้โครงการแล้วเสร็จภายใน 3 ปี หรือปี 2561 ซึ่งความยากง่ายขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลเมียนมา จะให้ทางไทยใช้พื้นที่ตรงจุดไหน และที่สำคัญเมียนมาจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้แค่ไหน ในเมื่อไม่มีก๊าซส่งให้แล้ว ซึ่งคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นมาคงต้องชี้แจงให้ได้ ถึงผลประโยชน์ที่เมียนมาจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เป็นคลังสำรองก๊าซสร้างความมั่นคงให้กับเมียนมาได้ทางหนึ่ง อีกทั้งเมียนมายังได้ค่าตอบแทนในรูปแบบค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซ เป็นรายได้ให้กับประเทศทางหนึ่ง

ทั้งนี้ หากโครงการเป็นไปตามแผน คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็น การสร้างท่าเรือ การสร้างแนวกันคลื่น เป็นต้น ขณะที่เอฟเอสอาร์ยู จะเป็นการเช่าเรือมาลอยลำ โดยมีความจุราว 3 ล้านตันซึ่งการที่ต้องเช่าเรือมาลอยลำนี้เนื่องจากมีความสะดวกสามารถเคลื่อนย้ายได้

ประกอบกับการจะสร้างคลังแอลเอ็นจีและหน่วยแปลงสภาพก๊าซบนบก จะใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี เพราะเห็นได้จากคลังแอลเอ็นจีเฟสแรกที่ปตท.สร้างที่มาบตาพุด ขนาดความจุด 5 ล้านตัน ต้องใช้เวลาถึง 8 ปี และเฟสที่ 2 ขนาด 5 ล้านตัน ระยะเวลาก่อสร้างลดลงมาเหลือ 6 ปี ซึ่งจะไม่ทันกับความต้องการใช้ก๊าซที่หายไป ดังนั้น การเลือกเช่าเรือลอยน้ำจะดำเนินการได้เร็วกว่า เพราะเวลานี้ก็มีเรือทั่วโลกกว่า 100 ลำที่ไว้คอยบริการให้เช่าซึ่งปตท.ได้เริ่มเจรจาบ้างแล้ว 2-3 ราย ทั้งนี้ หากการจัดทำรายละเอียดของโครงการได้ข้อยุติแล้ว จะต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง


แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นอกจากการลงนามเอ็มโอยูความร่วมมือในการตั้งคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำกับทางกระทรวงพลังงานเมียนมาแล้ว ทางกระทรวงพลังงานของไทยจะยังลงนามเอ็มโอยูในด้านความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้ากระทรวงไฟฟ้าของเมียนมา ซึ่งเป็นกรอบข้อตกลงความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ โดยไทยจะรับไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง ขนาดกำลังผลิต 7 พันเมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำสาละวิน โดยมีบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พร้อมกับพันธมิตร เป็นผู้ดำเนินการ

รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริดในเขตตะนาวศรีขนาดกำลังการผลิต 2.640 พันเมกะวัตต์ โดยมีบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) และพันธมิตรทั้ง 3 ราย คือ บริษัท บลู เอนเนอร์ยี่ แอนด์ เอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด, Vantage Company Limited (Myanmar) และ KyawKyawPhyo Company Limited (Myanmar) เป็นผู้พัฒนาโครงการที่คาดว่าจะสามารถก่อสร้างและผลิตไฟเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563

ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากทั้ง 2 โครงการ ถือว่าอยู่ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2015 ฉบับใหม่ที่กพช.เพิ่งอนุมัติเห็บชอบไปเมื่อเร็วๆนี้ ที่จะเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 15-20 % ภายในปี 2579 หรือคิดเป็นกำลังผลิตที่เป้าหมายราว 1.1 หมื่นเมกะวัตต์

ที่มา -