ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ลงทุนแหลมฉบังเฟส 3 ยังลุ้น !! พักรอจังหวะ หรือพับโครงการ

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 17, 13, 19:33:38 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

นโยบายของกระทรวงคมนาคมต่อการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง  จ.ชลบุรี ด้วยแผนลงทุนในการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งหรือท่าเทียบเรือ เอ ในเขตท่าเรือแหลมฉบังเดิม (เฟส 1) วงเงินรวม 1,959.49 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ควบคู่กับจัดทำโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ วงเงิน 3,062.65 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ด้วยแนวคิดที่จะลดต้นทุนโลจิสติกส์ และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางน้ำและทางราง โดยกำหนดเปิดให้บริการได้ภายในปี 2558 ในแผนงานดังกล่าวที่จะดำเนินการในปีนี้ สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดี ถึงการลงทุนของรัฐบาลต่อกิจกรรมพาณิชยนาวีในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ที่ยังคงมีการดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง


ที่มาของการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งเพิ่มเติม อยู่บนพื้นฐานที่ว่า ปัจจุบันในตัวท่าเรือแหลมฉบังไม่มีท่าเทียบเรือชายฝั่งโดยเฉพาะ เป็นการใช้กิจกรรมร่วมกับท่าเทียบเรือระหว่างประเทศแห่งอื่นๆ ปัญหาที่จะตามมาก็คือ หากตารางเวลาเรือเทียบท่าเต็ม เรือชายฝั่งจะต้องรอเทียบท่า ซึ่งบางครั้งต้องใช้เวลารอนาน ขณะเดียวกันยังมีค่าใช้จ่ายในการยกขนสินค้าที่ซ้ำซ้อนจากการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าระหว่างรอ ดังนั้น หากมีท่าเทียบเรือชายฝั่งจะช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายได้

ส่วนข้อมูลในเชิงกายภาพน่าสนใจว่า การขนส่งสินค้าจากภาคใต้ ในปัจจุบันใช้เรือชายฝั่งค่อนข้างมาก โดยมีปริมาณขนส่งปีละ 2 แสนทีอียู ขณะที่ท่าเทียบเรือ เอ รองรับสินค้าได้ปีละ 3 แสนทีอียู และค่าใช้จ่ายในการยกขนสินค้าอยู่ที่ 2,145 บาทสำหรับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต หากเรือชายฝั่งเทียบท่าระหว่างประเทศอยู่คนละท่ากับเรือแม่ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มเป็น 3,070 บาทต่อตู้ ทั้งนี้ ผลศึกษาของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ประเมินว่า โครงการดังกล่าวมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 19.84% ซึ่งอยู่ในระดับที่ยอมรับให้ดำเนินการได้ และการเกิดขึ้นของโครงการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในกิจกรรมขนส่งลงได้

ด้านโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ได้กำหนดไว้ว่าตั้งอยู่ในบริเวณโซน 4 ท่าเรือแหลมฉบัง พื้นที่เพื่อดำเนินการรวม 600 ไร่ โดยระยะแรกจะดำเนินการก่อน 370 ไร่ วางเป้าหมายไว้ว่า สามารถรองรับตู้สินค้าได้ปีละ 2 ล้านทีอียู ภายในจะมีการติดตั้งเครื่องมือยกขนชนิดปั้นจั่นเดินบนราง ช่วยให้การยกขนตู้สินค้าทางรถไฟเร็วขึ้น จากเดิมที่ยกขนตู้สินค้าได้เพียงด้านเดียว ส่งผลให้ขบวนรถไฟต้องเสียเวลาในการจอดรอ กระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนการใช้งานของขบวนรถไฟ รวมทั้งมีรางจอดรถไฟเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนโครงการศูนย์การขนส่งดังกล่าว ผลการศึกษาพบว่า มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 23.15% จากการกำหนดอัตราค่าภาระขั้นต่ำในการยกขนตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟที่ 470 บาทต่อตู้สินค้าทุกขนาดทุกสถานภาพ และอัตราขั้นสูง 835 บาท

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator) จะเป็นการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เข้าไปในท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร  ที่ผ่านมาการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท เซ้าท์อีสท์เอเซียเทคโนโลยี จำกัด เป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์โครงการและออกแบบรายละเอียดสำหรับก่อสร้าง ที่วางแผนเอาไว้ จะมีการก่อสร้างลานขนถ่ายตู้สินค้าในพื้นที่ จัดทำรางรถไฟลักษณะพวงราง 6 ราง รองรับขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าขบวนละ 34 แคร่ และติดตั้งเครื่องมือยกตู้สินค้า 5 ราง พร้อมกัน

"จากการติดตามการลงทุน แผนงานในส่วนนี้ ผ่านการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นการลงทุนในพื้นที่เดิมที่มีอยู่ ไม่มีผลมาถึงพื้นที่ในส่วนอื่น ยืนยันว่า ท่าทีของภาคประชาชน หรือผู้ที่ติดตามการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในท่าเรือแหลมฉบังยังคงอยู่ในระดับที่ให้การยอมรับได้ ส่วนตัวผมมองว่า นี่คือส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ท่าเรือแหลมฉบังเดิม ทั้งในเฟส 1 และเฟส 2 ยังไม่สามารถที่จะพัฒนาให้เกิดแผนงานที่จะรองรับการลงทุนได้มากพอ ทั้งกระทรวงคมนาคม และกทท. น่าจะตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะคำถามที่จะเกิดขึ้นตามมาจากสังคมก็คือ ที่ผ่านมาได้ใช้พื้นที่ที่มีอยู่เต็มศักยภาพหรือยัง ก่อนที่จะมาลงทุนในโครงการเฟสที่ 3 ที่เสี่ยงต่อการสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมให้รุนแรงยิ่งขึ้น" สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ และตัวแทนเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ให้ความเห็น

ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศ ที่จะกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) ให้ความสำคัญด้วยการกำหนดแผนลงทุนด้วยการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบัง ใน จ.ชลบุรี เข้ากับนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย ในพม่า และเพื่อให้ตัวท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความพร้อมของศักยภาพ จึงมีแผนงานสนับสนุนด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมต่อเพื่อสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือแหลมฉบัง แผนงานที่จะเกิดขึ้นคือ โครงการก่อสร้างถนน ขนาด 2-4 ช่องจราจร ในพื้นที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ระยะทาง 17.312 กิโลเมตร

โครงการนี้จะมีผลให้การลดปัญหาจราจรแออัดบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง สนับสนุนกิจกรรม นำเข้าและผ่านออก ระหว่างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ใกล้เคียง ช่วยลดระยะการเดินทางจาก อ.ปลวกแดง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง รวม 8 กิโลเมตร จากเดิม 50 กิโลเมตร เหลือ 42 กิโลเมตร

"ในโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อาจจะไม่มีความชัดเจนต่อท่าทีของรัฐบาลกับการจัดสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 ซึ่งตามแผนงานเดิมโครงการนี้จะต้องเปิดประมูลหาผู้ก่อสร้างในปี 2556 และจะแล้วเสร็จในปี 2559 เปิดให้บริการในปี 2560 โดยโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนกว่า 35,000 ล้านบาท ผมยังเชื่อว่ารัฐบาลยังคงติดตามโครงการนี้ และอาจจะรอจังหวะที่สุกงอมมากที่สุด ที่จะเดินหน้ากับโครงการ อ้างถึงเหตุผลสนับสนุนในแง่ของการเชื่อมกับโครงการที่จะเกิดขึ้นในทวาย แน่นอนว่าจุดยืนเดิมของภาคประชาชน เราไม่สามารถผ่านโครงการนี้ให้แก่ภาครัฐ เพราะปัญหาเดิมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมจากการสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าโครงการลงทุนเพิ่ม จะไม่ก่อปัญหาเช่นที่ผ่านมา" สมนึก กล่าว

ภาพการลงทุนในขณะนี้สำหรับท่าเรือแหลมฉบังอาจจะเห็นถึงการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในขณะที่โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญว่าจะเดินหน้าเมื่อถึงเวลา หรือระงับโครงการลงทุนในที่สุด

(ลงทุนแหลมฉบังเฟส 3 ยังลุ้น พักรอจังหวะ หรือพับโครงการ : ทีมข่าวภูมิภาค ... รายงาน)

ที่มา -