ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

บุกทวาย - ทัวร์โรงไฟฟ้า โปรเจ็กต์สานฝัน ไทย-พม่า

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 20, 15, 21:36:53 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

โครงการท่าเรือน้ำลึกและเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Deep Sea Port and Special Economic Zone) ถือเป็นหนึ่งในโครงการแห่งความหวังของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ โดยรัฐบาลไทยหวังที่จะใช้โครงการนี้เป็นการเปิดเส้นทางขนส่งทางภาคตะวันตกของไทยออกสู่ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย และเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสินค้าภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน จากท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันออกสู่ทะเลฝั่งมหาสมุทรอินเดียไปยังตะวันออกกลาง ทวีปแอฟริกา และทวีปยุโรป โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาด้านการขนส่งได้อย่างมหาศาล


ขณะที่ประเทศพม่าเองก็จะได้ประโยชน์อย่างมากในด้านการยกระดับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้พ้นจากสภาวะประเทศยากจนมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา และรายได้ประชาชาติขยับตัวสูงขึ้น เหมือนกับการเกิดขึ้นของเขตอุตสาหกรรมหนักฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard) ในประเทศไทย เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา

โครงการท่าเรือน้ำลึกและเศรษฐกิจพิเศษทวายตั้งอยู่ในเขตของรัฐทะนินทายี หรือรัฐตะนาวศรี ภาคใต้ของพม่า ติดกับจังหวัดกาญจนบุรีของไทย มีขนาดพื้นที่โครงการประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ประกอบไปด้วย 1.เขตนิคมอุตสาหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเบา อุตสาหกรรมบริการ นิคมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 2.ท่าเรือน้ำลึก ที่สามารถรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่และรองรับปริมาณสินค้าประมาณ 170 ล้านตันต่อปี 3.เขตเมือง ที่พักอาศัย ศูนย์ราชการ โรงแรม และศูนย์การค้า

โดยที่ผ่านมาบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ได้เป็นบริษัทผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่าในการพัฒนาโครงการนี้ แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีความคืบหน้ามากเท่าใดนัก เนื่องจากติดขัดปัญหาด้านแหล่งเงินทุนและความไม่พร้อมโครงสร้างพื้นฐานในพม่า

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น (Mekong-Japan Summit) ครั้งที่ 7 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า และนายชินโสะ

อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนง (เอ็มโอไอ) เรื่องการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระหว่างพม่า-ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มตัวของรัฐบาลญี่ปุ่นในการร่วมพัฒนาโครงการนี้และทำให้การเดินหน้าโครงการมีความชัดเจนและแหล่งเงินทุนในการพัฒนามากยิ่งขึ้น

แต่ปัญหาต่อมาคงหนีไม่พ้นเรื่องปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่พม่ายังไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าที่ทั้งประเทศมีกำลังการผลิตได้เพียง 3,000 เมกะวัตต์ ต่างจากประเทศไทยที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 30,000 เมกะวัตต์ หรือแตกต่างกันถึง 10 เท่า ทั้งที่ประชากรของทั้งสองประเทศมีจำนวนใกล้เคียงกัน ทำให้พม่ามักประสบปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ประกอบกับจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศขึ้นด้วยแล้ว การลงทุนด้านโรงงานไฟฟ้าในพม่าจึงมีความสำคัญมากในขณะนี้

บริษัท อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด หรือเอพียู บริษัทผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่าในการผลิตไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 30 ปี นำคณะสื่อมวลชนและผู้ถือหุ้นของบริษัทรวมประมาณ 80 คน เดินทางไปยังทวายโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมืองเมื่อเช้าตรู่วันที่ 16 กรกฎาคม เพื่อพาไปดูความคืบหน้าการผลิตไฟฟ้า

เยี่ยมชมโรงงานไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ ที่อำเภอกันบอก จังหวัดทวาย รัฐทะนินทายี ซึ่งบริษัทดำเนินการติดตั้งและเริ่มเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้าแล้วตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อยืนยันว่า ทุกอย่างพร้อมแล้ว

โดย นายอุปกิต ปาจรียางกูร ประธานกรรมการ บริษัท อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด หรือเอพียู กล่าวว่า เอพียูตระหนักถึงพลังงานไฟฟ้าในพม่าที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ การเข้ามาลงทุนเปิดโรงไฟฟ้าแห่งนี้ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกและแห่งเดียวในทวายขณะนี้ เป็นโครงการระยะที่ 1 ขนาดกำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ เริ่มเดินเครื่องและจ่ายไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

"แม้ว่าโครงการระยะแรกจะมีขนาดกำลังการผลิตเพียง 6 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่ผมถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ เพราะตั้งแต่จ่ายไฟออกไปก็มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่ายังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกมาก และการจะมาลงทุนเปิดโรงงานไฟฟ้าที่ทวายหรือที่พม่าไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งจากการก่อสร้างโรงงานจากพื้นที่ที่เป็นป่าทั้งหมด การต้องขนส่งเครื่องมือ เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการผลิตไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่อย่างลำบาก การเดินทางมายังโรงงานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากไม่มีเครื่องบินมาลงที่ทวายโดยตรง ต้องไปลงที่สนามบินย่างกุ้งก่อนที่เปลี่ยนเครื่องมาลงที่ทวาย และจากที่สนามบินทวายต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ชั่วโมงมายังโรงงาน รวมทั้งเรื่องของเงินทุนที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยยังไม่กล้าที่จะให้สินเชื่อ เนื่องจากยังมองไม่เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของการลงทุน รวมทั้งรัฐบาลพม่าให้ทางบริษัทต้องออกค่าใช้จ่ายเองก่อนทั้งหมด ทั้งสร้าง สายส่ง และโรงไฟฟ้าย่อย จึงจะมีการจ่ายคืนภายหลัง เปรียบเสมือนการซื้อใจกันก่อน ถ้าหากไว้ใจกันแล้วการทำงานต่อจากนี้ก็ง่ายขึ้น" นายอุปกิตกล่าว

นายอุปกิตกล่าวอีกว่า ในการดำเนินโครงการระยะที่ 1 ขั้นต่อไปจะมีการเพิ่มขนาดกำลังการผลิตอีก 14 เมกะวัตต์ คาดว่าจะติดตั้งระบบแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนข้างหน้า รวมเป็นเงินทุนกว่า 400-500 ล้านบาท และจะมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 30 เมกะวัตต์ตามมาหลังจากนั้น รวมเป็นทั้งหมด 50 เมกะวัตต์


ส่วนโครงการระยะที่ 2 จะเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ รูปแบบพลังความร้อนร่วม (Combined Cycle Power Plant) ขนาดกำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 2 ปี งบลงทุนประมาณ 240-250 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ระบบไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่ทั้งรัฐทะนินทายี และการใช้ไฟฟ้าสำหรับก่อสร้างในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเศรษฐกิจพิเศษทวาย รวมทั้งจะมีการสร้างสายส่งไปยังเมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของระบบไฟฟ้าในพม่า เฟส 3 จะเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติรูปแบบเดียวกับระยะที่ 2 ขนาดกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องก๊าซธรรมชาติที่จะนำมาใช้ในการผลิตกับรัฐบาลพม่าอยู่ นอกจากนี้ในอนาคตเอพียูยังมีแผนจะเข้าร่วมก่อสร้างอีกหลายแหล่งของรัฐบาลพม่า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาด 1,800 เมกะวัตต์ ที่จะใช้ภายในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเศรษฐกิจพิเศษทวายโดยเฉพาะ และจะมีบางส่วนส่งกลับมาขายยังประเทศไทยด้วย

การเปิดโรงไฟฟ้าแห่งแรกในทวาย นับเป็นย่างก้าวแรก ที่นอกจากจะเป็นการปลุกให้ ฤๅษีแห่งเอเชีย ตื่นจากการหลับใหล กลับมาสว่างไสวอีกครั้ง แยังจะทำให้โครงการท่าเรือน้ำลึกและเศรษฐกิจพิเศษทวายกลับมาคึกคัก มีชีวิตชีวาในสายตาของนักลงทุนอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา -


..-