ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

เปิดบ้านกลางอ่าว (ไทย) เชฟรอน

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 22, 13, 15:53:18 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เราผลิตเอง ใช้เอง ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้อง ผลิตก็ส่งไปทำงานประจำแท่น เราผลิตคนอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างไรก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ


ถือเป็นวาระพิเศษซึ่งจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก สำหรับการเดินทางไปสัมผัสวิถีชีวิตคนทำงานบนแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยอย่าง "ใกล้ชิด" ของคนภายนอก แต่โชคดี "กรุงเทพธุรกิจ" ก็ได้รับโอกาส ในวันที่ฟ้าฝนเป็นใจเมื่อไม่นานมานี้

และเป็น "ไพโรจน์ กวียานันท์" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นำพาไปเยี่ยมชมยังแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเอราวัณ และเรือกักเก็บและผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ 2 ด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดีคนธรรมดาอย่างเราๆ มีความรู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก ในการเดินทางที่ต้องทั้งนั่งเฮลิคอปเตอร์ ทั้งยังต้องลงเรือเล็กฝ่าฟันคลื่นลมทะเลเพื่อเดินทางต่อไปยังแท่นขุดเจาะ แต่ในทางกลับกัน หากต้องเดินทางบ่อยครั้ง หรือต้องไปอยู่กันแบบยาวๆ ..ก็คงจะไม่สนุกนัก

ทว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลก เพราะงานนอกชายฝั่ง หรือ Offshore นี้กลับทำให้สำนวนที่ว่า "คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า" สิ้นความขลังไปอย่างสิ้นเชิง

เพราะแม้ว่างานดังกล่าว ซึ่งไม่ว่าจะทำงานอยู่บนแท่นเจาะ ฐานผลิต หรือบนเรือสนับสนุน จะเต็มไปด้วยความยากลำบากก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง เรื่องความเสี่ยงของการทำงานเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง และที่หนีไม่พ้นก็คือ ความรู้สึกโดดเดี่ยวเนื่องจากต้องทำงานห่างจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ฯลฯ

แต่งานนอกชายฝั่งกลับสร้างปรากฏการณ์ที่ว่า "คนในไม่ออก คนนอกอยากเข้า"

เนื่องจากเมื่อได้ทดลองเข้าไปสำรวจเว็บบอร์ดที่ว่าด้วยคนหางานแล้ว ก็พบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจ อยากใช้ชีวิตการทำงานกลางอ่าวไทย

เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่จะได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างง่ายดาย

ขึ้นชื่อว่าเป็นงานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ก็ย่อมต้องการคนทำงานที่มีทักษะเฉพาะตัว


โดยปริยาย การขาดแคลนบุคลากร (โดยเฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ) จึงกลายเป็นอีกหนึ่งในความท้าทายสำคัญของเชฟรอน

"อุตสาหกรรมนี้ขาดคนซึ่งเป็นปัญหาทั้งโลก เนื่องมาจากความต้องการพลังงานนั้นมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แหล่งก๊าซเก่าๆ ก็ถดถอย ส่วนแหล่งใหม่ก็ขุดหาได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และคนที่เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้น"

คำถามก็คือ เชฟรอนเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยเป็นเวลาเนิ่นนานถึง 50 ปีแล้ว และในปัจจุบันพนักงานคนไทยเองก็สามารถเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ จนในวันนี้สัดส่วนของพนักงานไปจนถึงระดับผู้บริหารระดับสูงของเชฟรอนประเทศไทยนั้น เป็นจำนวนคนไทยถึง 90 เปอรเซ็นต์ ขณะที่ฝรั่งซึ่งเป็นต้นตำรับเหลืออยู่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

"เป็นความตั้งใจ เพราะไม่ว่าธุรกิจไหนคงไม่มีทางจ้างฝรั่งไปตลอด ร้อยทั้งร้อยถ้าคนพื้นเมืองทำงานได้ บริษัทย่อมต้องการจ้างคนพื้นเมือง เนื่องจากค่าแรงต่างกันมาก"

ไพโรจน์กล่าวและอธิบายต่อถึง ปัญหาเรื่องคนที่เชฟรอนประสบอยู่ว่า อุตสาหกรรมนี้แม้ได้รับการกล่าวขานว่าสร้างความโชติช่วงชัชวาลให้กับประเทศชาติ แต่ในเวลาหนึ่งก็เคยกลายเป็นดาวร่วงมาแล้ว ซึ่งเป็นยุคที่น้ำมันมีราคาตกต่ำ (ราวๆ ปี 1980-90) และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนมากต้องเดินจากไป และเป็นแบบ...ไปแล้วไปลับ ไม่เคยหวนกลับคืนวงการอีกเลย

"ปัจจุบันบุคลากรที่อยู่ในบริษัท จะมีอายุถ้าไม่แก่ใกล้เกษียณก็จะเป็นเด็กไปเลย จนเกิดอุปสรรคในการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่"

เกิดเป็น Generation Gap ซึ่งหมายถึง ความห่าง ความต่างของวัย ที่สื่อสารพูดคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง

ปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ หรือ HR ของเชฟรอนจึงมีอยู่หลายโครงการ หลายกิจกรรม ในการจัดการรวบรวมความรู้ (Knowledge Management) ที่มีอยู่ในตัวบุคคล เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Mentoring, Coaching และ Training

"เราเน้นการพัฒนาและสร้างคนขึ้นมาเอง เพราะหากไปคุยกับสถาบันการศึกษาแล้วกว่าเขาจะรู้ความต้องการของเราต้องใช้เวลายาวนาน"

หากแต่มีบางหลักสูตรเช่น วิศวะปิโตรเลียม ที่ทางเชฟรอน ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ร่วมมือกันสร้างบุคลากรขึ้นมาเพื่อป้อนให้กับเชฟรอนโดยเฉพาะ

ไพโรจน์บอกว่า ในอดีตอุตสาหกรรมนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ เมื่อหันมองไปทางใดก็ไม่พบเจอคนไทยที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่เวลานั้นจะพบเห็นแต่ฝรั่งทำงานอยู่บนแท่นขุดเจาะ

ดังนั้น นโยบายตั้งแต่เริ่มแรกของเชฟรอน ก็คือ การสร้างคน โดยได้ก่อตั้ง "ศูนย์เศรษฐพัฒน์" ที่จังหวัดสงขลา ซึ่งมีสโลแกนว่า "ศูนย์พัฒนาคน เพื่อพัฒนาพลังงาน"

ศูนย์ดังกล่าวผลิตช่างเทคนิคหรือ Workforce เพื่อรองรับการขยายจำนวนของแท่นขุดเจาะของเชฟรอนอย่างไม่หยุดยั้ง รุ่นแล้วรุ่นเล่า

"เราผลิตเอง ใช้เอง ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้อง ผลิตเสร็จก็ส่งไปทำงานประจำแท่น เราผลิตคนอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ"

อย่างไรก็ดี อัตราการลาออกของพนักงานเชฟรอนถือว่ามีน้อยมาก โดยเฉพาะพนักงานนอกชายฝั่งที่มักอยู่ทนอยู่นานอยู่กันจนเกษียณอายุ

ไพโรจน์บอกว่า นั่นเป็นเพราะพนักงานรู้สึกได้ว่าบริษัทดูแลพวกเขาเป็นอย่างดีในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าเป็นผลตอบแทน สวัสดิการ สุขภาพกายตลอดจนสุขภาพใจ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับใด หรือเป็นเพศใด เชฟรอนนั้นให้ความสำคัญกับคำว่า Diversity ทุกวันนี้พนักงานหญิงขององค์กรแห่งนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกสายงาน ไม่เว้นกระทั่งงานนอกชายฝั่ง

ทว่าที่โดดเด่นมากก็คือ การคำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงาน ซึ่งผู้ที่เดินทางไปเยี่ยมเยือนก็สามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจน เพราะในทุกๆ การเคลื่อนย้าย ไม่ว่าจะขึ้นหรือลงเฮลิคอปเตอร์ รวมถึงเรือและแท่นขุดเจาะ ทั้งพนักงานและผู้เดินทางที่ไปเยี่ยมชมทุกคนต่างก็ต้องรับฟังกฏ กติกาในการรักษาความปลอดภัยเสียก่อนในทุกครั้งไป

"เชฟรอนเรามีความโดดเด่นมากในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งก็ไม่อยากพูดมาก เพราะกลัวเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ สู้ให้นักข่าวเดินทางมาพบเจอด้วยตัวเองคงดีกว่า"

ซีอีโอ เชฟรอน กล่าวต่อว่า ในเรื่องของความปลอดภัยต้องมีการรณรงค์กันอย่างสม่ำเสมอ แต่หากถามว่าสถิติเป็นศูนย์แล้วหรือยัง คำตอบก็คือ ยังคงมีอุบัติเหตุอยู่ แต่ก็ไม่ถึงขั้นร้ายแรงถึงขั้นบาดเจ็บ ล้มตาย

"สุดท้ายคือพฤติกรรมของคน ถ้าผมสั่งก็สั่งได้ แต่ฟังหรือเปล่าไม่รู้ ที่ทำได้ก็คือ ผมต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และรณรงค์จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร ที่จะเป็นตัวบีบพฤติกรรมส่วนบุคคลให้ปรับเปลี่ยนไปในที่สุด"




เรื่องเล่าชาว Offshore

"ในคืนที่คุณเหงาๆ ลองชายตาขึ้นมองดาวสักดวง ... คุณอาจจะไม่รู้หรอกว่า
ณ. ชายฝั่งอ่าวไทย ... ที่ไกลออกไป... มีดวงตาเหงาๆอีกหลายคู่
ที่อาจจะกำลังดูดาวดวงเดียวกับคุณ ... เขาคิดถึงบ้าน คิดถึงคนที่เขารัก .. ที่เขาจากมา
และ เขาก็เหงาไม่น้อยกว่าคุณหรอก
"

นี่คือบทกวีที่ถูกโพสต์บนเว็บไซต์ และแน่ใจว่าเป็นฝีมือของคน Offshore

เคยนึกสงสัยหรือไม่ว่า ความเป็นอยู่ของผู้คนที่ทำงานอยู่บนเรือ หรืออยู่บนแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติท่ามกลางความเวิ้งว้างของทะเล คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล นั้นเป็นอย่างไร?

เมื่อสบโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมชมจนถึงที่ ก็ทำให้รู้ว่า พวกเขากินอิ่มนอนหลับ ฟันธงได้เลยว่าในเรื่องของสุขภาพกายนั้นหายห่วง เพราะหยูกยาและอาหารการกินนั้นมีครบครัน เรียกว่าอาจจะดีและมีมาตรฐานสูงกว่าคนทำงานบนฝั่งที่อยู่ในบางองค์กรด้วยซ้ำไป

หากแต่ความคิดและความรู้สึกภายในใจ ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยการไถ่ถาม

"5 ปีแรกก็คิดอยากจะลาออก แต่พอแต่งงานมีครอบครัว กลายเป็นภาระที่ต้องรับผิดชอบ ก็เลยต้องทำงานเรื่อยมา ก็ทำจนเพลิน และอยู่มาเกิน 20 ปีแล้ว"


" ไม่เคยมีปัญหากับครอบครัวนะ เราต้องอธิบายให้พวกเขารู้ว่างานของเรานั้นเป็นอย่างไร เพื่อสร้างความเข้าใจ รวมถึงเรายังต้องแบ่งเวลาให้เป็น และในความเป็นจริงเรากลับบ้านไม่กี่วัน ไม่ทันได้ทะเลาะกับเมียก็ต้องกลับมาทำงานแล้ว"

"เราต้องรู้สึกสนุกกับการทำงานไม่เช่นนั้นเราจะเบื่อ ทีแรกเมื่อเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมก็อาศัยกลับบ้านให้บ่อยเพื่อให้ครอบครัวช่วยเติมพลังใจ หรือไม่ก็ต้องหางานอดิเรกสักอย่างทำเพื่อคลายเหงา และแก้เบื่อ"

อย่างไรก็ตาม ชีวิตคนบนแท่นคงไม่อาจบรรยายให้เห็นภาพได้อย่างแจ่มชัด เพียงแค่การไปเยี่ยมชมและสัมผัสภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประการสำคัญก็คือ ต้องขอขอบคุณพนักงาน Offshore ของเชฟรอนทุกท่านที่ให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี

ถ้าหากอยากรู้เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาให้มากกว่านี้ (ภาพรวมคน Offshore ไม่เพียงแค่เชฟรอนเท่านั้น) ลองคลิก
http://nongferndaddy.net63.net/Living%20offshore.htm
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=nong-fern-daddy&date=17-07-2008&group=6&gblog=42
http://www.gotoknow.org/posts/288078
http://topicstock.pantip.com/silom/topicstock/2011/04/B10487913/B10487913.html

ที่มา -