ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ผุด ‘กรมโรงงานโมเดล’ เปิดฐานทัพเรือ ผลิตเด็กอาชีวะป้อนกิจการทางทะเล

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 28, 13, 16:49:15 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

"ภาพเจ้าหน้าที่กรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ สาธิตการตัดและเชื่อมโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า รวมทั้งให้คำแนะนำวิธีการซ่อมเรือรบ ถ่ายทอดศาสตร์ต่าง ๆ ให้แก่นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ได้เรียนรู้งานทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ ภายในโรงซ่อมบำรุง แบบไม่หวงวิชา" เหล่านี้คือส่วนหนึ่งในความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกองทัพเรือ โดยกรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ในการผลิตช่างเฉพาะทางรุ่นใหม่รองรับกิจการทางทะเลและอุตสาหกรรมการต่อเรือ


กิจการทางทะเล และอุตสาหกรรมการต่อเรือ มีการขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ร้อยละ 90 ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศยังอาศัยการขนส่งทางน้ำ เพราะเรือสามารถบรรทุกสินค้าได้ในปริมาณมาก มีต้นทุนการขนส่งที่ถูกกว่าการขนส่งด้านอื่น ๆ และยังเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง สนับสนุนกับการป้องกันประเทศของกองทัพเรือ แต่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญทางด้านนี้มาก ด้วยตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น และจะยิ่งขาดแคลนเพิ่มมากขึ้น ทั้ง 2 หน่วยงาน จึงจับมือกัน "ผลิตบุคลากรด้านกิจการทางทะเล และอุตสาหกรรมการต่อเรือ" ซึ่งได้มีพิธีลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมี พลเรือโทชัยณรงค์ เจริญรักษ์ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ และ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมเป็นสักขีพยาน

กรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ กับ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรเฉพาะทาง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้แก่ สาขางานตัดและเชื่อมโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า สาขางานเทคนิคเครื่องกลเรือ สาขางานไฟฟ้าในเรือ และหลักสูตรดำน้ำระยะสั้น 72 ชั่วโมง โดยเปิดรับบุคคลทั่วไปเข้ามาเรียน ซึ่งหลักสูตรระดับ ปวส.ใช้เวลาเรียน 2 ปี เป็นการเรียนภาคทฤษฎีที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และเรียนภาคปฏิบัติที่กรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานอยู่จริง มาถ่ายทอดความรู้ให้เเก่นักศึกษา รวมถึงให้ได้ใช้เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ทันสมัยในโรงซ่อมของฐานทัพเรือด้วย

ผู้ที่มีประสบการณ์ในการซ่อมแท่นขุดเจาะน้ำมันมาแล้วอย่าง นาวาเอกชำนาญ สอนแพง หัวหน้าแผนกโรงงานเรือไม้และบริการ ผู้ดูแลหลักสูตรการตัดและเชื่อมโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า บอกถึงคุณสมบัติของผู้ที่เรียนในสาขานี้ว่า โรคที่สืบเนื่องมาจากการอยู่ใต้น้ำมีมาก ดังนั้นผู้ที่เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้ นอกจากต้องผ่านการประเมินทักษะวิชาการที่สถานศึกษาได้คัดเลือกมาแล้ว ยังต้องผ่านการทดสอบสมรรถนะทางด้านร่างกายด้วย ทั้งเรื่องของสายตา หู ระบบการหายใจ เพื่อให้พร้อมเข้ารับการฝึกใน 2 วิชาสำคัญ คือ 1. การดำน้ำเบื้องต้น สามารถปฏิบัติการดำน้ำด้วยเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำความลึกไม่เกิน 60 ฟุต และ 2. การเชื่อมโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า โดยใช้วิธีการเชื่อมแบบ Wet Welding (Shielded Metal Arc Welding) ที่ความลึกไม่เกิน 33 ฟุต เมื่อเรียนจบจะได้รับวุฒิ ปวส. และมีใบเซอร์ติฟิเคต 2 ใบ คือ 1. เป็นผู้ได้รับการรับรองว่าสามารถดำน้ำได้ โดยสมาคมดำน้ำแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับรองให้ สามารถใช้ได้ทั่วโลก และ 2. รับรองว่ามีความสามารถในการตัดเชื่อมใต้น้ำได้ โดยกรมโรงงานร่วมกับวิทยาลัย เป็นผู้รับรองให้


"ความต้องการผู้ที่มีทักษะการตัดและเชื่อมโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้ามีมาก ทั้งการซ่อมใต้ท้องเรือ ซ่อมแท่นขุดเจาะน้ำมัน และงานต่าง ๆ ที่มีโครงสร้างใต้น้ำ ซึ่งค่าแรงที่ให้ก็สูงมากเช่นกัน ผมเคยไปเชื่อมแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล ได้รับค่าตอบแทนประมาณ 3-4 แสนบาทต่อครั้ง ครั้งละ 5 วัน แต่ถ้าเด็ก ๆ ได้ไปเป็นพนักงานประจำในงานที่มีโครงสร้างใต้น้ำซึ่งต้องดูแลบำรุงรักษา อย่างน้อยต้องได้รับค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นบาทต่อเดือน" นาวาเอกชำนาญ ยืนยันถึงรายได้ที่น่าสนใจ

แม้งานซ่อมใต้น้ำจะเสี่ยงอันตราย แต่ "ไอซ์" นายธนพล ขำโพกา นักศึกษา ปวส.1 บอกว่า เลือกเรียนสาขางานตัดและเชื่อมโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า เพราะเห็นว่าเป็นงานที่ท้าทาย เมื่อจบออกไปทำงานก็จะมีรายได้สูง ซึ่งรู้สึกดีใจที่จะได้เรียนกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ตนเคยไปทำงานกับบริษัทที่ทำงานด้านนี้มาบ้างแล้ว และอยากไปเชื่อมแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล

สำหรับตัวเลขนักศึกษาในโครงการฯ ที่ยังดูน้อยนิด มีไม่เกิน 20 คน ในแต่ละสาขา นั้น นายวัชรินทร์ ศิริพานิช ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ มองว่า เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกที่มีความร่วมมือกัน จึงต้องคัดเลือกเด็กอย่างเข้มข้น เพื่อเข้ารับการพัฒนาทักษะวิชาชีพให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามสมรรถนะที่กำหนด และในปีต่อ ๆ ไป อาจเพิ่มจำนวน
ผู้เรียนในแต่ละสาขาให้มากขึ้น รวมถึงร่วมกันจัดทำหลักสูตรต่อยอดในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นด้วย

นายวัชรินทร์ เล่าด้วยว่า ที่ผ่านมาวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบได้ร่วมมือกับสถานประกอบการต่าง ๆ จัดการศึกษาแนวใหม่ ที่ล้ำกว่าการจัดการศึกษาในรูปแบบ "ทวิภาคี" และสามารถผลิตนักศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ โดยเรียกว่า "สัตหีบโมเดล" ซึ่งในการจัดการศึกษาจะเน้นเรียนจริง รู้จริง และทำจริง บนความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ สถานศึกษา สถานประกอบการ และสมาคมหรือองค์กรวิชาชีพ ภายใต้หลักคิด "คนใช้ร่วมคิด ผู้ผลิตร่วมกำหนด ภายใต้บริบทร่วมกันรับผิดชอบ" เพราะการจัดการศึกษา คือ การลงทุน สถานประกอบการจึงต้องมีส่วนร่วมลงทุนกับสถานศึกษาในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ร่วมทำหลักสูตร ร่วมสอน และให้ครูเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการ ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่เด็กที่ไปฝึกปฏิบัติงาน รวมทั้งมาตั้งศูนย์อบรมเกี่ยวกับวิทยาการสมัยใหม่ และช่วยเรื่องครุภัณฑ์พื้นฐานในสถานศึกษา โดยสิ่งที่สถานประกอบการจะได้รับ คือ ได้รับการยกเว้นภาษี 2 เท่าสำหรับการลงทุนทางการศึกษา ที่สำคัญได้คนที่มีความสามารถตรงกับงาน ขณะเดียวกันสมาคมหรือองค์กรวิชาชีพก็ได้เข้ามาร่วมกำหนดสมรรถนะวิชาชีพให้เกิดขึ้นในระบบการเรียนการสอนตั้งแต่ต้นทาง


ขณะที่ พลเรือตรีวิทวัส ณ นคร เจ้ากรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ บอกว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาประเทศทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือทางวิชาการ โดยตนขอเรียกความร่วมมือนี้ว่า "กรมโรงงานโมเดล" อยากให้มีความยั่งยืนและจริงจังตลอดไป โดยหลังจากนี้หากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ทั้งของรัฐ และเอกชน ต้องการร่วมมือทางวิชาการกับกรมโรงงานก็สามารถติดต่อเข้ามาได้

เมื่อประตูฐานทัพเรือเปิด...โอกาสดี ๆ แบบนี้สถานศึกษาไม่ควรพลาดในการร่วมสร้างคน เพื่อไปสร้างงาน สร้างชาติของเรา.

ณัชชารีย์ วิเชียรรัตน์

ที่มา -