ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

บุกเรือ 'กรีนพีซ' เจาะภารกิจ ... ป้องโลก : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 03, 13, 17:02:07 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

"ขอต้อนรับทุกคนสู่เรือเอสเพอรันซา...เรือลำนี้มาทำงานเพื่อปกป้องท้องทะเลไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่เราปกป้องท้องทะเลทั่วโลก ลูกเรือที่อยู่บนเรือลำนี้จะมาจากหลายๆ ประเทศ หลากหลายสัญชาติ เรามักจะได้รับคำถามจากชาวประมงว่า ไม่ต้องการให้เราทำประมงเหรอ แต่ในทางกลับกันเรามาในวันนี้เพื่อให้ทุกคนได้ทำประมงอย่างยั่งยืนสำหรับเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไป" วัลเดอร์มาร์ วิทช์แมน กัปตันเรือเอสเพอรันซา ชาวอาร์เจนตินา กล่าวต้อนรับทุกคนเข้าสู่เรือเอสเพอรันซา


เรือสีเขียวเข้มคาดสีสายรุ้ง สัญชาติเนเธอร์แลนด์ลำนี้ เริ่มภารกิจเมื่อปี 2545 เรือลำนี้ที่มีชื่อเรียกขานว่า "เอสเพอรันซา" แปลตามภาษาสเปนว่า"ความหวัง" เป็นเรือลำใหญ่ที่สุดของกรีนพีซ ด้วยความยาว 72 เมตร และความเร็วสูงสุด 16 นอต ทำให้เรือลำนี้เหมาะสมอย่างที่สุดสำหรับงานที่ต้องใช้ความเร็วและใช้เวลานาน และยังมีความสามารถในการแล่นผ่านน้ำแข็ง

แม้ว่าขณะนี้ "เอสเพอรันซา" เคลื่อนตัวออกจากท่าโอบี ท่าเรือกรุงเทพ แล้ว เพื่อปฏิบัติภารกิจต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์ "คม ชัด ลึก" มีโอกาสสำรวจบนเรือลำนี้ ภายนอกมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เพื่อใช้ในการบินสังเกตการณ์การ "ล่าวาฬ" และ "ล่าทูน่า" ในมหาสมุทร หรือการทำประมงในเขตพื้นที่อุทยานฯตลอดจนสถานการณ์เหตุฉุกเฉิน เพื่อกดดันให้เขาชะลอการกระทำความผิด หรือรอให้เรือเล็กเข้ามาพูดคุยเพื่อให้หยุดการกระทำนั้น รวมถึงเครนพิเศษสำหรับยกเรือเพื่อใช้ปล่อยเรือสูบลมลงน้ำและมีเรือเล็กที่เป็นเรือท้องแข็งใหญ่ 2 ลำ เรือสูบลม 4 ลำ


ภายในประกอบด้วย "ห้องสะพานเรือ" ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด เพราะเป็นห้องที่บังคับเรือของกัปตัน มี "จอเรดาร์" สังเกตเรือประมงต้องสงสัยที่ทำประมงทำลายล้าง มีที่วัดคลื่น รวมทั้งมี "พวงมาลัยเรือจิ๋ว" ที่อยู่บนแผงควบคุมที่สามารถใช้ได้จริง

ถัดไปเป็น "ห้องแผนที่" ซึ่งจะพบกับ "ออเค" ผู้ช่วยกัปตันชาวเยอรมัน ทำหน้าที่เหมือนกับ "เนวิเกเตอร์" กำลังจดจ่ออยู่กับการทำแผนที่เดินเรือ "ออเค" บอกว่า แม้เรือจะจอดอยู่ ก็ต้องทำแผนที่ว่าวันต่อๆ ไป เรือจะไปในทิศทางใด พร้อมทั้งศึกษาเส้นทางว่าจะไปที่ไหน เส้นทางใด แต่ละวันต้องรายงานว่าเขาอยู่ที่ไหน เดินทางด้วยความเร็วเท่าไหร่ เมื่อเปิดเทียบท่าให้คนมาเยี่ยมชมเรือก็จะมีการบันทึกกี่คน เกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นรายละเอียดเชิงลึกในแต่ละวันที่เกิดขึ้นบนเรือลำนี้ และรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ที่เนเธอร์แลนด์

ความอลังการกว้างใหญ่ของ "เอสเพอรันซา" ถูกจัดสรรเป็นห้องต่างๆ มากมาย อาทิ "ห้องเว็ทรูม" (Wet Room) ที่อยู่ชั้นล่างสุดของเรือเป็นห้องสามารถนำเรือยางเทียบ และจะให้คนที่จะลงเรือยางมารอที่ห้องนี้ ภายในห้องจะมีเครื่องมืออุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นเสื้อชูชีพ เสื้อโค้ดกันหนาว หมวก เครื่องมือช่างต่างๆ

"ห้องอาหาร" อยู่ติดกับ "ห้องครัว" มีอุปกรณ์เครื่องครัวครบครัน รวมทั้งเครื่องปรุงต่างๆ ที่เตรียมไว้เพื่อปรุงอาหารคาวและหวาน ก่อนจะนำมาวางตรงช่องที่เชื่อมกับห้องอาหาร เมื่ออิ่มแล้วสามารถนั่งพักผ่อนคลายที่ "ห้องนั่งเล่น" ซึ่งมีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งทีวี โซฟา หนังสือ เครื่องดนตรีนอกจากนี้ ก็ยังมี ห้องสมุด ห้องยิม ห้องซักผ้า ห้องเซาน่า  และห้องพยาบาล ซ่อนตัวอยู่ตามชั้นต่างๆ ของเรือ ส่วน "ห้องนอน" จะมีพื้นที่จำกัด ประกอบด้วยเตียงสองชั้น ภายในมีทีวี โซฟา อ่างล้างหน้า

"ธารารัก รุจิราภา" หนึ่งในลูกเรือคนไทยที่ทำงานอยู่บนเรือเอสเพอรันซา ในตำแหน่ง "เรดิโอ โอเปอเรเตอร์" คอยดูแลอุปกรณ์สื่อสาร ระบบอินเทอร์เน็ตบนเรือ รวมทั้งการประสานงานเข้าในแต่ละประเทศ โดยจะทำงานอยู่บนเรือ 3 เดือน พัก 3 เดือน


เรือแต่ละลำของกรีนพีซจะมีตำแหน่งประจำอยู่บนเรือ คือ "ฝ่ายเดินเรือ" ได้แก่ กัปตัน 1 คน, ผู้ช่วยกัปตัน 3 คน และฝ่ายเครื่องยนต์ ซึ่งจะมีวิศวกรใหญ่ 1 คน มีผู้ช่วยวิศวกร 2 คน มีช่างไฟ 1 คน คนที่ดูแลเรือเล็ก 6 ลำอีก 1 คน มีช่างเหล็ก 1 คน เรดิโอ โอเปอเรเตอร์ 1 คน และพ่อครัว 1 คน

ประสบการณ์บนเรือกว่า 5 ปีของ "ธารารัก" ยอมรับว่าบางครั้งก็พบกับความเสี่ยง อย่างตอนที่เคยไปรณรงค์เรือประมงที่จับปลาเกินขนาด และเกินเวลาการล่าที่กำหนดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เรานำเรือยางเข้าไปทำความเข้าใจกับเขา แต่เขาเอาเรือมาชนเรือเล็กเรา และเอามีดจิ้มเรือยางจนแตก เอาเหล็กมาเกี่ยวขาพวกเรา จึงจำเป็นต้องยกเลิกภารกิจ แต่ไม่บ่อยที่จะเจอการต่อต้านอย่างรุนแรงแบบนี้

"การรณรงค์ในแต่ละประเทศ ทำให้มองเห็นปัญหาของแต่ละประเทศ และเชื่อว่า กิจกรรมของเราจะช่วยแก้ปัญหาและหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น โดยเฉพาะปัญหาในท้องทะเลไทย" ธารารัก บอกอย่างมีความหวัง

"อานันท์ นาคนงนุช" อาสาสมัครกรีนพีซ วัย 25 ปี ที่อยู่บนเรือตั้งแต่เรือเข้ามาในประเทศไทยคือที่สงขลาจนมาถึงกรุงเทพฯ เสริมว่า นอกจากเราจะทำกิจกรรมทิ้งทุ่นที่ จ.สงขลา, สร้างรั้วธรรมชาติที่ประจวบคีรีขันธ์ แล้วยังมีหน้าที่สนับสนุนความปลอดภัย รวมทั้งเหตุการณ์การกระทำผิด เช่นที่เจอการทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เราก็ดูจากเรดาร์ ได้พบเห็นเรืออวนลากคู่ ที่วิ่งไปในทิศทางเดียวกัน ความเร็วเท่ากัน เมื่อส่องกล้องดูก็พบว่ากำลังทำประมงอยู่ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มาตรวจสอบ พร้อมส่งหลักฐานให้

ด้าน "ศิรสา กันตรัตนากุล" ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยรายงาน "วิกฤติทะเลไทย" เพื่อยื่นให้กรมประมงว่า ทะเลไทยกำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย  เพียงแค่ 15 วัน ที่เรือเอสเพอรันซา ลาดตระเวนในอ่าวไทย พบเห็นการทำประมงเกินขนาดประมงทำลายล้าง ทำงานหมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง เช่น เรืออวนลาก และเรือคราดหอย ในน่านน้ำอ่าวไทย การทำประมงวิธีนี้นอกจากทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลน้ำลึกแล้ว ยังเป็นการจับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดโดยไม่เลือกประเภท ซึ่งจะกวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างจากก้นทะเลจนถึงพื้น ทำให้ทะเลไม่ได้หยุดพักและสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาทดแทน

"อยากให้รัฐบาลฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศชายฝั่งทะเลให้กลับมามีสภาพอุดมสมบูรณ์ให้ได้ภายใน 5 ปี รวมถึงยุติการทำประมงแบบทำลายล้างเช่น การใช้อวนลาก อวนรุน คราดหอย และการปั่นไฟล้อมจับสัตว์น้ำ ขยายเขตอนุรักษ์ทางทะเลทั่วประเทศจากชายฝั่ง 3 กิโลเมตร เป็นอย่างน้อย 5 ไมล์ทะเล(9.275 กิโลเมตร) และขยายเขตอนุรักษ์ทางทะเลจากชายฝั่ง 5 ไมล์ทะเล เป็น 12 ไมล์ทะเล (22.224 กิโลเมตร) ขยายขนาดตาอวนและปรับปรุงอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำประมงเพื่อให้สามารถจับได้เพียงสัตว์น้ำที่โตเต็มไว้แล้วเท่านั้น" ศิรสา บอกข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อกรมประมง

ที่มา -