ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

‘โลกน้ำมัน’ ยุคเก่ากำลังพังทลาย ล้มการประชุมโอเปกที่โดฮา

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 24, 16, 06:22:54 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

Debacle at Doha, The Collapse of the Old Oil Order By Michael T. Klare 28/04/2016

โลกกำลังใช้น้ำมันลดน้อยลงทุกที แทนที่จะเกิด "peak oil" หรือน้ำมันหมดโลกก่อนที่ดีมานด์น้ำมันจะเหือดหายไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาในอีกไม่ช้าไม่นานนี้กลับเป็น "peak oil demand" หรือดีมานด์น้ำมันหมดไปก่อนที่ซัปพลายจะเหือดแห้ง บางทีซาอุดีอาระเบียอาจจะคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย จึงล้มการประชุมของชาติผู้ผลิตน้ำมันทั้งโอเปกและนอกโอเปก ที่กรุงโดฮาเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่คำนึงถึงผลประโยชน์ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ว่าด้วยการแข่งขันชิงดีกับศัตรูตัวกลั่นอย่างอิหร่านเท่านั้น


วันอาทิตย์ 17 เมษายน 59 ที่ผ่านมา คือช่วงเวลาที่พิเศษผิดธรรมดา เป็นที่คาดหมายกันว่าพวกชาติผู้ผลิตน้ำมันชั้นนำทั้งหลายของโลกจะนำเอาระเบียบวินัยสดๆ ใหม่ๆ เข้ามายังตลาดปิโตรเลียมที่กำลังโกลาหลวุ่นวาย และจุดประกายให้ราคาน้ำมันขยับกลับสูงขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง การประชุมพบปะกันในวันดังกล่าว ณ กรุงโดฮา เมืองหลวงที่แพรวพราวเรืองรองของ กาตาร์ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยปิโตรเลียม มีทั้งพวกรัฐมนตรีน้ำมันของรัฐสมาชิกแห่งองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียม (Organization of the Petroleum Exporting Countries หรือ OPEC โอเปก) และของชาติผู้ผลิตนอกโอเปกรายสำคัญๆ อย่างรัสเซีย และ เม็กซิโก เข้าร่วมหารือ การประชุมคราวนี้ได้รับการกำหนดจัดวางเอาไว้ว่า เพื่อลงมติรับรองร่างข้อตกลงฉบับหนึ่งซึ่งมีเนื้อหากำหนดให้พวกเขาทั้งหมดต้องหยุดเพิ่มผลผลิตน้ำมันของพวกเขาและแช่แข็งเอาไว้เพียงในระดับปัจจุบัน เนื่องจากเป็นที่คาดการณ์กันล่วงหน้าว่าจะมีการทำความตกลงกันดังกล่าว ราคาน้ำมันจึงได้เริ่มต้นคืบคลานสูงขึ้นไปอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้ จากที่เคยอยู่ในระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงกลางเดือนมกราคม กลายเป็น 43 ดอลลาร์ในวันก่อนหน้าการประชุมคราวนี้ แต่แล้วแทนที่จะสามารถฟื้นฟูระเบียบของตลาดน้ำมันให้กลับคืนมาได้เหมือนเมื่อครั้งเก่าก่อน การพบปะครั้งนี้กลับยุติลงโดยตกลงอะไรกันไม่ได้ ดังนั้นจึงขับดันราคาให้ต่ำลงมาอีกครั้ง รวมทั้งเปิดเผยให้เห็นถึงความแตกร้าวอย่างล้ำลึกในหมู่ชาติผู้ผลิตพลังงานของโลกเหล่านี้

การพังทลายที่โดฮาคราวนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากชนิดที่จะหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างไรก็ดูจะไม่เป็นการเกินเลย อย่างน้อยที่สุด มันก็จะยืดระยะเวลาของการที่น้ำมันมีราคาต่ำให้ยาวนานออกไปอีก หลังจากที่ได้ทำความลำบากให้แก่อุตสาหกรรมนี้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นแล้วมันยังจะทวีแรงบีบบังคับให้กิจการรายเล็กกว่าเขา ต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลาย และทำให้เม็ดเงินลงทุนนับแสนๆ ล้านดอลลาร์ในศักยภาพกำลังการผลิตใหม่ๆ ต้องมีอันมลายหายลับไป ยิ่งกว่านั้นยังน่าจะเป็นตัวทำลายโอกาสลู่ทางที่จะเกิดความร่วมมือกันระหว่างโอเปกกับพวกผู้ผลิตนอกโอเปกเพื่อการจัดระเบียบตลาดปิโตรเลียมขึ้นใหม่ในอนาคต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดเลยก็คือ มันกลายเป็นหลักฐานที่สาธิตให้เห็นว่า โลกซึ่งใช้ปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงที่เรารู้จักมักคุ้นตลอดหลายสิบปีหลังมานี้ –โดยที่ดีมานด์ความต้องการน้ำมันพุ่งแรงแซงหน้าซัปพลายที่มีออกมาสนองให้อยู่เสมอ จึงเป็นเครื่องรับประกันว่าพวกผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งหลายจะต้องได้ผลกำไรเข้าพกเข้าห่ออย่างมั่นคงแน่นอน— ไม่ได้ดำรงอยู่อีกต่อไปแล้ว สิ่งที่กำลังเข้ามาแทนที่คือโลกซึ่งดีมานด์ความต้องการน้ำมันอยู่ในสภาพกะปริดกะปรอย กระทั่งเป็นไปได้ว่ากำลังลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งน่าที่จะบีบบังคับให้พวกซัปพลายเออร์ทั้งหลายต้องต่อสู้รบรากันเองเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่หดหายลงไปทุกทีๆ

ก่อนจะถึงการประชุมที่โดฮา

ก่อนจะไปชุมนุมรวมตัวกันที่โดฮาคราวนี้ บรรดาผู้นำของประเทศผู้ผลิตรายสำคัญๆ ทั้งหลายต่างแสดงความมั่นอกมั่นใจว่า การแช่แข็งการผลิตที่กำลังจะเกิดขึ้นมา ในที่สุดแล้วจะสามารถหยุดยั้งหายนะอันเกิดจากภาวะไหลรูดของราคาน้ำมัน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อกลางปี 2014 เอาไว้ได้ ประเทศของพวกเขาส่วนใหญ่แล้วต่างต้องพึ่งพาอาศัยการส่งออกปิโตรเลียมอย่างมากมายเหลือเกิน เพื่อให้ได้เงินทองรายได้มาให้รัฐบาลของพวกเขาใช้จ่าย และระงับยับยั้งความไม่สงบพลุ่งพล่านในหมู่ประชากรของพวกเขาให้อยู่หมัด ตัวอย่างเช่น ทั้ง รัสเซีย และ เวเนซุเอลา ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกพลังงาน มาเป็นรายรับของรัฐบาลถึงประมาณ 50% ทีเดียว ขณะที่ ไนจีเรีย หนักข้อยิ่งกว่านั้นโดยน่าจะอยู่ในระดับ 75% ดังนั้นการทรุดตัวของราคาจึงทำให้ต้องมีการตัดลดรายจ่ายของรัฐบาลในตลอดทั่วโลกกันแล้ว อีกทั้งกำลังเป็นสาเหตุทำให้เกิดความไม่สงบในหมู่ประชาชน และกระทั่งในบางกรณีได้ลุกลามกลายเป็นความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมือง

ไม่มีใครคาดหมายหรอกว่า การประชุมในวันที่ 17 เมษายนจะบังเกิดผลในทางที่ทำให้ราคาดีดกลับพุ่งขึ้นไปอย่างน่าตื่นใจในฉับพลันทันที ทว่าทุกๆ คนวาดหวังว่ามันจะสร้างรากฐานให้แก่การค่อยๆ ขยับขึ้นไปในตลอดหลายๆ เดือนนับจากนี้ พวกผู้นำของประเทศเหล่านี้ยังมีความตระหนักรับรู้เป็นอย่างดีในสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งก็คือ เพื่อบรรลุความก้าวหน้าดังกล่าว ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาคงจะไม่มีทางเอาชนะปัจจัยต่างๆ หลายหลากซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ราคาหล่นฮวบลงมาตั้งแต่ทีแรก ปัจจัยเหล่านี้บางอย่างเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและแฝงฝังอยู่ลึกเข้าไปในวิธีการจัดระเบียบของอุตสาหกรรมนี้ทีเดียว แต่บางอย่างก็เป็นผลผลิตของการสนองต่อวิกฤตอย่างสะเพร่าเลินเล่อของพวกเขาเอง

เกี่ยวกับปัจจัยในเชิงโครงสร้างนั้น เรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือดีมานด์ความต้องการพลังงานของทั่วโลกในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ มีอัตราเติบโตขยายตัวไม่รวดเร็วเพียงพอที่จะดูดซับน้ำมันดิบทั้งหมดซึ่งไหลทะลักเข้ามายังตลาด ทั้งนี้ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณซัปพลายใหม่ๆ ซึ่งส่งออกมาจากอิรักที่ค่อยๆ มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ที่จะต้องขอบคุณกันมากเป็นพิเศษก็คือซัปพลายใหม่ๆ จากแหล่งหินน้ำมันของสหรัฐฯที่มีการขยายกำลังผลิตอย่างขนานใหญ่ ภาวะซัปพลายล้นเกินเช่นนี้เองเป็นตัวจุดประกายให้ราคาหล่นวูบในตอนแรกๆ เมื่อปี 2014 โดยที่น้ำมันดิบชนิดเบรนต์ (Brent) ซึ่งเป็นน้ำมันชนิดที่ถือเป็นเกณฑ์วัดระดับราคาระหว่างประเทศ ได้เคลื่อนไหวจากระดับสูงสุดที่ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนปีนั้น ลงมาเหลือ 77 ดอลลาร์ในวันที่ 26 พฤศจิกายนปีเดียวกัน ทั้งนี้ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2014 คือวันก่อนหน้าที่จะมีการประชุมโอเปกครั้งชี้ชะตาในกรุงเวียนนา ครั้นเมื่อการหารือของโอเปกในวันถัดมา บรรดารัฐสมาชิกนำโดยซาอุดีอาระเบีย ประสบความล้มเหลวไม่สามารถตกลงกันได้ไม่ว่าในเรื่องการตัดลดปริมาณการผลิต หรือเรื่องการแช่แข็งไม่ทำการผลิตเพิ่ม จากนั้นมาราคาน้ำมันจึงดำดิ่งลงอีกอย่างชนิดไม่มีหูรูด

ความล้มเหลวของการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2014 คราวนั้น มองเห็นกันอย่างกว้างขวางว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากความปรารถนาของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องการเข่นฆ่าบริษัทผู้ผลิตรายใหม่ในที่ต่างๆ –โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้ผลิตปิโตรเลียมจากหินน้ำมันในสหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบียคาดหวังไว้ว่าหลังจากทำเรื่องนี้สำเร็จแล้ว ก็จะสามารถรื้อฟื้นฐานะครอบงำตลาดน้ำมันโลกของพวกตนขึ้นมาได้ใหม่เฉกเช่นกับที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต นักวิเคราะห์จำนวนมากยังมองด้วยความแน่ใจอีกด้วยว่า ริยาดยังกำลังหาทางเล่นงานลงโทษคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคอย่างอิหร่านและรัสเซีย จากการที่ประเทศทั้ง 2ให้การสนับสนุนระบอบปกครองของ (ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-)อัสซาดในซีเรีย (ขณะที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียกำลังพยายามหาทางโค่นล้มระบอบปกครองนี้อยู่)

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่ซาอุดีอาระเบียปฏิเสธไม่ยอมลดการผลิตหรือแช่แข็งการผลิตในตอนนั้น เนื่องจากมุ่งประสงค์ที่จะบรรลุภาระหน้าที่ 2 ประการในเวลาเดียวกัน ได้แก่ การลดทอนหรือกระทั่งกำจัดการท้าทายที่มาจากผู้ผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งหินน้ำมันในอเมริกาเหนือ, และการบ่อนทำลายสร้างความเสียหายให้แก่ 2 มหาอำนาจพลังงานทว่ามีฐานะง่อนแง่นในทางเศรษฐกิจ ซึ่งคอยคัดค้านต่อต้านการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของซาอุดีอาระเบียในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ด้วยวิธีการบีบคั้นรัดคอพวกเขาไม่ให้ได้เงินรายรับจากน้ำมันอย่างเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ต้องการเหลือเกิน เนื่องจากซาอุดีอาระเบียนั้นสามารถที่จะผลิตน้ำมันด้วยต้นทุนซึ่งถูกกว่าประเทศอื่นๆ อย่างมากมาย –ซาอุดีอาระเบียมีต้นทุนต่ำมากๆ โดยสามารถที่จะใช้เพียงแค่ 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น— มิหนำซ้ำราชอาณาจักรแห่งนี้ยังสามารถระดมเงินทองระดับเป็นแสนล้านดอลลาร์จากพวกกองทุนบริหารความมั่งคั่งของภาครัฐ (sovereign wealth funds)ของตน เพื่อนำมาอุดหนุนจุนเจือในกรณีที่งบประมาณแผ่นดินของตนยังขาดดุลอยู่ ดังนั้นพวกผู้นำซาอุดีอาระเบียจึงเชื่อว่าตนมีศักยภาพมากกว่าพวกปรปักษ์นักหนา ในการเผชิญคลื่นลมความตกต่ำใดๆ ทางด้านราคา อย่างไรก็ตาม เวลานี้คำทำนายพยากรณ์อันสดใสดังกล่าวนี้ กลับกำลังดูหมองหม่นลงไปทุกขณะ เมื่อปรากฏว่าพวกเจ้าชายเชื้อพระวงศ์ซาอุดีทั้งหลายชักเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันลดต่ำกันแล้ว พวกเขาพบว่าตนเองกำลังต้องตัดลดผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งพวกเขาเคยแบ่งออกไปเจือจานประชากรที่อาจบังเกิดความไม่สงบขึ้นมาอย่างง่ายดาย ขณะเดียวกันนั้น พวกเขายังต้องรับภาระในการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่สงครามในเยเมน ซึ่งทั้งสิ้นค่าใช้จ่ายสูง ทว่ายังไม่ทราบผลแพ้ชนะอย่างชัดเจนเสียที และกลับสร้างความหายนะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจำนวนมากเกิดความมั่นอกมั่นใจกันว่า การประชุมโดฮาในวันที่ 17 เมษายน 2016 จะต้องกลายเป็นช่วงขณะแห่งการชี้เป็นชี้ตายช่วงหนึ่งของตลาดน้ำมันอย่างแน่นอน โดยลงท้ายแล้วริยาดจะต้องยินยอมให้ความร่วมมือแช่แข็งหยุดเพิ่มการผลิต บรรยากาศในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้าการประชุมก็ดูเอื้ออำนวยให้คิดเห็นไปเช่นนั้น ในเมื่อประเทศที่เข้าร่วมต่างแสดงความเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จะมีการรับรองแผนการดังกล่าวนี้แน่ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นจากการเจรจาเบื้องต้นระหว่างรัสเซีย, เวเนซุเอลา, และซาอุดีอาระเบีย ได้มีการเห็นพ้องกันไปไกลถึงขั้นผลิตเอกสารฉบับร่างขึ้นมาฉบับหนึ่ง ซึ่งผู้เข้าร่วมแทบทุกรายต่างเห็นว่าครอบคลุมสาระสำคัญพรักพร้อมสำหรับการลงนามกันได้แล้ว ประเด็นที่ยังคงคั่งค้างอยู่มีเพียงประเด็นเดียว นั่นคืออิหร่านจะเข้าร่วมการประกาศแช่แข็งการผลิตคราวนี้ด้วยหรือไม่ และหากเข้าร่วมด้วยจะมีส่วนมากน้อยขนาดไหน

ในทางเป็นจริงแล้ว ฝ่ายอิหร่านมีแนวโน้มที่จะเห็นดีเห็นงามกับการแช่แข็งเช่นนี้ เพียงแต่ว่าต้องหลังจากยินยอมปล่อยให้พวกเขาเพิ่มการผลิตรายวันที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำของพวกเขา ไปจนถึงขีดที่เคยผลิตได้เมื่อปี 2012 ก่อนที่จะถูกฝ่ายตะวันตกประกาศมาตรการลงโทษคว่ำบาตรเพื่อบีบบังคับให้อิหร่านยินยอมรื้อถอนยกเลิกโครงการเพิ่มความเข้มข้นวัสดุนิวเคลียร์ ครั้นมาถึงเวลานี้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรเหล่านั้นเพิ่งกำลังมีการยกเลิกไป โดยเป็นผลจากการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์กันระหว่างเตหะรานกับพวกชาติมหาอำนาจของโลกเมื่อเร็วๆ นี้เอง ดังนั้นเตหะรานจึงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนถูกคว่ำบาตรเสียก่อน ในเรื่องนี้เองที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียทำท่าชะงัก เนื่องจากไม่ได้มีความปรารถนาจะเห็นศัตรูรายสำคัญที่สุดของพวกเขารายนี้มีรายรับจากน้ำมันเพิ่มมากขึ้น กระนั้น ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่ยังคงทึกทักว่าในท้ายที่สุดริยาดจะยินยอมเห็นพ้องกับสูตรแก้ไขปัญหาที่จะยินยอมให้อิหร่านเพิ่มผลผลิตขึ้นไปได้อีกระดับหนึ่งก่อนทำการแช่แข็ง "มีสิ่งบ่งชี้ในทางบวกหลายๆ ประการว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในระหว่างการประชุมคราวนี้ ... เป็นข้อตกลงเบื้องต้นในการแช่แข็งปริมาณการผลิต" นี่เป็นคำพูดของ นาวัล อัล-ฟูซาเอีย (Nawal Al-Fuzaia) ผู้แทนของคูเวตประจำโอเปก ซึ่งก็เป็นการสะท้อนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการประชุมโดฮาคนอื่นๆ เช่นกัน

แต่แล้วก็มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นมา ตามคำบอกเล่าของผู้ที่คุ้นเคยเกี่ยวกับลำดับความเป็นมาของเหตุการณ์คราวนี้ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) รองมกุฎราชกุมาร (Deputy Crown Prince) และผู้วางยุทธศาสตร์น้ำมันคนสำคัญของซาอุดีอาระเบีย ได้ทรงโทรศัพท์ไปหารือกับคณะผู้แทนของซาอุดีอาระเบียในกรุงโดฮาเมื่อเวลาตีสามของวันที่ 17 เมษายน และได้ทรงชี้แนะพวกเขาให้ปฏิเสธข้อตกลง หากว่ามีการเปิดทางเบี่ยงใดๆ ก็ตามทีให้แก่อิหร่าน ครั้นเมื่อฝ่ายอิหร่าน –ซึ่งเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการประชุมคราวนี้อยู่แล้ว— ส่งสัญญาณว่าพวกเขาไม่ได้มีความตั้งใจที่จะแช่แข็งการผลิตของพวกเขาเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่เหล่าปรปักษ์ของพวกเขา ฝ่ายซาอุดีก็ปฏิเสธไม่ยอมรับร่างข้อตกลงฉบับที่พวกเขาช่วยเจรจาจัดทำขึ้นมาแท้ๆ และที่ประชุมก็ยุติลงด้วยความปั่นป่วนอลเวง

วัตถุประสงค์ทางภูมิรัฐศาสตร์นำหน้าข้อพิจารณาทางเศรษฐกิจ

ภายหลังการประชุมโดฮาล้มเหลวไปแล้ว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเห็นกันว่า เรื่องจบลงเช่นนี้ก็เพราะราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียพิจารณาเห็นว่า การลงโทษเล่นงานอิหร่านเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเหนือกว่าการผลักดันให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่ามันจะทำให้พวกเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายขนาดไหน แต่พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะยอมปล่อยให้ตนเองเข้าช่วยเหลืออิหร่านเดินคืบหน้าไปสู่วัตถุประสงค์ทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ของเตหะราน เป็นต้นว่า การทำให้อิหร่านมีเงินทองมากขึ้นสำหรับใช้เพิ่มความสนับสนุนที่ให้แก่กองกำลังอาวุธฝ่ายชิอะห์ทั้งในอิรัก, ซีเรีย, เยเมน, และเลบานอน ซาอุดีอาระเบียนั้นกำลังรู้สึกถูกบีบคั้นกดดันจากเตหะรานอยู่แล้ว แถมยังมีความมั่นอกมั่นใจลดน้อยลงเกี่ยวกับความสนับสนุนจากวอชิงตัน พวกเขาจึงมีความพรักพร้อมที่จะใช้หนทางใดๆ ก็ตามซึ่งสามารถแสวงหามาได้ เพื่อทำให้ฝ่ายอิหร่านอ่อนแอลง ไม่ว่ามันจะเป็นการสร้างอันตรายให้แก่ตนเองขนาดไหนก็ตาม

"ความล้มเหลวไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในโดฮา เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า ในขณะนี้ซาอุดีอาระเบียไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่จะทำดีใดๆ ต่ออิหร่านเลย และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องของพวกเขา ก็ไม่สามารถที่จะลดทอนความสำคัญลงมา ให้กลายเป็นเพียงส่วนประกอบอย่างหนึ่งในนโยบายด้านน้ำมันในปัจจุบันของฝ่ายซาอุดีได้" เจสัน บอร์ดอฟฟ์ (Jason Bordoff) แห่งศูนย์ว่าด้วยนโยบายพลังงานโลก (Center on Global Energy Policy) ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) กล่าวให้ความเห็น

นักวิเคราะห์จำนวนมากทีเดียว ยังชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลที่กำลังเพิ่มมากขึ้นของรองมกุฎราชกุมาร เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผู้ที่กำลังทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากกษัตริย์ซัลมาน พระราชบิดาที่ทรงอยู่ในวัยชราของเจ้าชาย ให้เป็นผู้กำหนดควบคุมอย่างชนิดแทบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านการทหารของราชอาณาจักรแห่งนี้ ในฐานะที่ทรงเป็นรัฐมนตรีว่าการกลาโหม เจ้าชายองค์นี้ยังทรงเป็นหัวหอกแห่งแรงขับดันของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ในการตอบโต้ฝ่ายอิหร่านในสมรภูมิแห่งการต่อสู้เพื่อให้มีอำนาจอิทธิพลครอบงำภูมิภาคแถบนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พระองค์ทรงเป็นพลังสำคัญที่สุดซึ่งอยู่เบื้องหลังการที่ซาอุดีอาระเบียเข้าไปแทรกแซงในเยเมนที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะยังความปราชัยให้แก่พวกกบฎชาวฮูตี (Houthi) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวชีอะห์ที่มีความผูกพันอย่างหลวมๆ กับอิหร่าน และนำเอา อับด์ รับบูห์ มานซูร์ ฮาดี (Abd Rabbuh Mansur Hadi) อดีตประธานาธิบดีเยเมนที่ถูกโค่นล้มลงไป ให้กลับขึ้นสู่อำนาจใหม่ หลังจาก 1 ปีแห่งการโจมตีทางอากาศอย่างไม่ปรานีปราศรัย (มีรายงานว่ามีการใช้ระเบิดลูกปราย cluster bomb ด้วย) โดยที่มีสหรัฐฯคอยให้การหนุนหลัง ปรากฏว่าในทางเป็นจริงแล้ว การเข้าแทรกแซงของฝ่ายซาอุดียังคงประสบความล้มเหลวไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งใจไว้ ถึงแม้การแทรกแซงดังกล่าวได้ส่งผลทำให้พลเรือนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนเรือนพันเรือนหมื่น, กระตุ้นให้พวกเจ้าหน้าที่สหประชาชาติออกมากล่าวประณามติเตียนด้วยถ้อยคำอันดุเดือด, แถมยังทำให้เกิดช่องว่างซึ่งเปิดทางให้กลุ่มอัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาราเบีย (al-Qaeda in the Arabian Peninsula) แทรกเข้ามาแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลได้อีกด้วย กระนั้น เจ้าชายองค์นี้ก็ยังทรงมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะทำให้การสู้รบในเยเมนดำเนินต่อไป รวมทั้งยังทรงมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะตอบโต้อิทธิพลของฝ่ายอิหร่านในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้

สำหรับเจ้าชายโมฮัมเหม็ดแล้ว มีหลักฐานชัดเจนว่าพระองค์ทรงมองตลาดน้ำมันว่าเป็นเพียงอีกอาณาเขตหนึ่งของการต่อสู้ชิงดีชิงเด่นกันที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนี้เท่านั้น "ภายใต้การชี้แนะของพระองค์" หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ชี้เอาไว้เมื่อเดือนเมษายน "นโยบายน้ำมันของซาอุดีอาระเบียดูเหมือนจะมาจากแรงขับดันในเรื่องราคาของน้ำมันดิบ น้อยยิ่งกว่าในเรื่องการเมืองระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเรื่องความเป็นปรปักษ์อันขมขื่นที่ริยาดมีอยู่กับเตหะรานแห่งยุคหลังหลุดพ้นการถูกลงโทษคว่ำบาตร" เรื่องนี้เองดูเหมือนจะเป็นเรื่องเบื้องหลังของการที่ริยาดตัดสินใจในนาทีสุดท้ายที่จะทำลายการเจรจาในโดฮา ตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 16 เมษายน เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ได้ทรงตรัสกับ บลูกเบิร์ก อย่างชนิดที่คงไม่สามารถพูดให้ตรงไปตรงมาได้มากกว่านี้แล้ว ถึงแม้มิได้ทรงเอ่ยชื่ออิหร่านออกมาตรงๆ ก็ตามที โดยที่ทรงตรัสว่า "ถ้าผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ทั้งหมดไม่แช่แข็งการผลิตแล้ว เราก็จะไม่แช่แข็งการผลิตหรอก"

เมื่อข้อตกลงที่เสนอกันไว้ถูกฉีกเป็นชิ้นๆ แล้วเช่นนี้ เวลานี้จึงคาดหมายกันว่าซาอุดีอาระเบียจะเพิ่มผลผลิตของตนเอง เพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่าราคาจะยังคงอยู่ในระดับต่ำเตี้ยติดดิน และทำให้อิหร่านอดได้อานิสงส์ใดๆ ซึ่งเตหะรานคาดหวังว่าจะได้จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ตรัสกับบลูกเบิร์กด้วยว่า ราชอาณาจักรของพระองค์เตรียมพร้อมที่จะเพิ่มการผลิตขึ้นในทันทีจากระดับ 10.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน ให้เป็น 11.5 ล้านบาร์เรล แล้วยังอาจเพิ่มขึ้นไปอีกสัก 1 ล้านบาร์เรล "ถ้าเราต้องการ" ในช่วงเวลา 6 ถึง 9 เดือนข้างหน้า ในเมื่อน้ำมันของอิหร่านและของซาอุดีอาระเบียต่างมุ่งหน้าเข้าสู่ตลาดในปริมาณมากขึ้นเช่นนี้ นั่นย่อมเป็นคำจำกัดความของภาวะซัปพลายล้นเกิน การกระทำเช่นนี้แน่นอนทีเดียวว่าจะทำให้ซาอุดีอาระเบียมั่นใจได้ว่ายังคงสามารถครอบงำตลาดได้ต่อไป ทว่ามันก็อาจจะทำให้ราชอาณาจักรแห่งนี้ต้องบาดเจ็บด้วยอาการสาหัสทีเดียว หากไม่ถึงกับล้มหายตายจาก


ความเป็นจริงอย่างใหม่ของการใช้พลังงานของโลก

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าภูมิรัฐศาสตร์แสดงบทบาทอันสำคัญในการตัดสินใจของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ทว่านั่นยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวสมบูรณ์ทั้งหมดแล้ว สิ่งที่เป็นเงาทอดทะมึนอยู่เหนือการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะทำการแช่แข็งการผลิตก็คือ ข้อเท็จจริงใหม่ที่สำคัญยิ่งสำหรับชีวิตของอุตสาหกรรมน้ำมัน ทั้งนี้ อดีตไม่อาจใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงอนาคตได้เสียแล้วในเรื่องเกี่ยวกับดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมันของโลก ไม่ว่าฝ่ายซาอุดีอาระเบียจะขบคิดเกี่ยวกับฝ่ายอิหร่านอย่างไร หรือฝ่ายเตหะรานจะมองฝ่ายริยาดไปในทางไหนก็ตามที อุตสาหกรรมของพวกเขาก็กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกผันจนถึงระดับรากฐานอยู่นั่นเอง และกำลังพลิกผันความสัมพันธ์ในระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ตลอดจนบั่นทอนลดความโน้มเอียงที่พวกเขาจะร่วมมือกันอีกด้วย

จวบจนกระทั่งก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ยังเป็นที่ทึกทักสันนิษฐานกันว่า ดีมานด์ความต้องการน้ำมันจะยังคงเติบโตขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก่อให้เกิดช่องทางสำหรับที่ผู้ผลิตหลายหลากจะก้าวเข้ามาในตลาด และสำหรับที่ผู้ผลิตหน้าเดิมๆ ในตลาดจะเพิ่มผลผลิตของพวกเขา แม้กระทั่งในเวลาที่ซัปพลายขยายตัวเร็วกว่าดีมานด์ และขับดันให้ราคาลดต่ำลง อย่างที่เคยเกิดขึ้นเป็นระยะๆ พวกผู้ผลิตก็มักปลอบใจตนเองด้วยความรู้ที่ว่า เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในอดีต ลงท้ายแล้วดีมานด์ก็จะดีดตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ผลักดันให้ราคาสูงขึ้นไปอีกครา ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าวและในช่วงขณะดังกล่าว ย่อมเป็นเรื่องดีสมเหตุสมผลที่พวกผู้ผลิตแต่ละรายจะจับมือกันเพื่อลดผลผลิตลงมา โดยทราบดีว่าทุกๆ คนจะได้รับประโยชน์ไม่ช้าก็เร็วจากราคาที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าความมั่นอกมั่นใจในเรื่องที่ลงท้ายดีมานด์จะต้องหวนกลับเพิ่มสูงขึ้นนี้ เริ่มที่จะคลางแคลงเริ่มที่จะจางหายไป? เมื่อเป็นเช่นนั้นแรงจูงใจที่จะร่วมมือกันก็ต้องเริ่มคลางแคลงเริ่มจางหายไปเช่นเดียวกัน และผู้ผลิตทุกๆ รายกลับจะต้องสาละวนดิ้นรนอย่างหนักเพื่อพิทักษ์ปกป้องส่วนแบ่งตลาด นี่แหละคือความเป็นจริงอย่างใหม่ – ความเป็นจริงที่ว่า โลกซึ่ง "ดีมานด์น้ำมันไปถึงจุดสูงสุด" (peak oil demand) ไม่ใช่ "ซัปพลายน้ำมันไปถึงจุดสูงสุด" (peak oil) จะกลายเป็นตัวปรุงแต่งจิตสำนึกของพวกผู้เล่นรายใหญ่ๆ – ซึ่งความล้มเหลวของโดฮาคือลางบอกเหตุ

ในตอนเริ่มต้นของศตวรรษนี้ พวกนักวิเคราะห์ด้านพลังงานจำนวนมากต่างเชื่อถือมั่นอกมั่นใจกันว่า เรากำลังใกล้ที่จะเผชิญกับภาวะ "ซัปพลายน้ำมันไปถึงจุดสูงสุด" เต็มทีแล้ว ณ จุดสูงสุดดังกล่าว ซึ่งก็คือ ผลผลิตปิโตรเลียมที่มีสำรองอยู่ในพิภพจะหดเหี้ยนหมดสิ้นไปนานทีเดียว ก่อนที่ดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมันจะหายสูญไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาย่อมเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างไรก็ดี เนื่องจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีขุดเจาะน้ำมัน ทำให้ซัปพลายปิโตรเลียมยังคงเติบโตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ดีมานด์กลับเริ่มที่จะหยุดชะงักอย่างไม่คาดหมาย เรื่องนี้สามารถสืบสาวย้อนรอยไปได้ทั้งจากการที่อัตราเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลงทั่วทั้งโลก และทั้งจากการเร่งตัวของ "การปฏิวัติสีเขียว" (green revolution) ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนผ่านโลกใบนี้ให้หันไปใช้แหล่งเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่คาร์บอน จากการที่ชาติส่วนใหญ่เวลานี้ต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินมาตรการต่างๆ ซึ่งมุ่งที่จะลดการปล่อยไอเสียของพวกก๊าซเรือนกระจก ภายในกรอบของข้อตกลงภูมิอากาศปารีสที่เพิ่งลงนามกันไป ดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมันจึงน่าที่จะประสบกับการลดต่ำลงอย่างสำคัญในช่วงหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดีมานด์ความต้องการน้ำมันของโลกจะไปถึงจุดสูงสุด นานทีเดียวก่อนที่ซัปพลายจะเริ่มต้นลดต่ำ ก่อให้เกิดปัญหาท้าทายอันใหญ่โตมโหฬารยิ่งสำหรับพวกประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งหลาย

ที่พูดนี้ไม่ใช่การขบคิดประดิษฐ์ขึ้นมาในเชิงทฤษฎีใดๆ เลย มันเป็นความเป็นจริงในตัวมันเอง การบริโภคน้ำมันสุทธิในพวกประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าได้ลดต่ำลงแล้วด้วยซ้ำ จากระดับ 50 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2005 เหลือ 45 ล้านบาร์เรลในปี 2014 ยิ่งกว่านั้น ดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมันยังจะต้องลดฮวบฮาบลงไปอีกในไม่ช้าไม่นาน เมื่อมาตรฐานอันเข้มงวดเพื่อให้การผลิตรถยนต์ใหม่ๆ ต้องทำให้ได้ตามอัตราการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิผล ตลอดจนมาตรการอันเกี่ยวข้องกับภูมิอากาศอย่างอื่นๆ มีผลบังคับใช้, ราคาของกระแสไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์และพลังลมลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง, และแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ พากันเข้าแถวผลิตกันออกมาให้เลือกใช้ ขณะที่ดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมันในโลกกำลังพัฒนายังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อไป ทว่าแม้กระทั่งที่นั่นมันก็ไม่ได้กำลังไต่สูงขึ้นในอัตราที่ก่อนหน้านี้เห็นกันว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เมื่อประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ก็เริ่มต้นบังคับให้จำกัดการปล่อยไอเสียคาร์บอนด้วยแล้ว คาดหมายได้ว่าการบริโภคน้ำมันของโลกจะไปถึงจุดสูงสุด และเริ่มต้นการลดต่ำอย่างไม่อาจยับยั้งได้ ตามการคาดการณ์ของ 2 ผู้เชี่ยวชาญ คือ ธิจส์ ฟาน เดอ กราฟ (Thijs Van de Graaf) และ อาเวียล เวอร์บรูกเกน (Aviel Verbruggen) ดีมานด์สูงสุดของโลกโดยรวมน่าจะมาถึงอย่างเร็วที่สุดในปี 2020

ในโลกดังกล่าว พวกผู้ผลิตน้ำมันที่มีต้นทุนสูงจะถูกเบียดขับออกไปจากตลาด และแน่นอนทีเดียวว่า ความได้เปรียบจะตกอยู่กับพวกที่มีต้นทุนต่ำสุด พวกประเทศซึ่งต้องพึ่งพาการส่งออกปิโตรเลียมเป็นส่วนแบ่งก้อนโตสำหรับรายรับของประเทศของพวกเขา จะต้องอยู่ใต้แรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ถอยออกมาจากการอาศัยน้ำมันมากจนเกินไป เรื่องนี้อาจจะเป็นวิธีพิจารณาอีกวิธีหนึ่งในเวลาขบคิดเกี่ยวกับการตัดสินใจของฝ่ายซาอุดีอาระเบียในการประชุมโดฮา ทั้งนี้ช่วงหลายๆ เดือนก่อนจะถึงการพบปะเจรจาในเดือนเมษายน พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของซาอุดีอาระเบียหลายคนได้พูดเป็นนัยว่า พวกเขากำลังเริ่มต้นวางแผนการสำหรับอนาคตภายหลังยุคปิโตรเลียม และรองมกุฎราชกุมาร เจ้าชาย บิน ซัลมาน นี่เองที่จะทรงแสดงบทบาทอันสำคัญในการกำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้

ในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เจ้าชายพระองค์นี้เองได้ทรงออกมาแนะนำขั้นตอนต่างๆ ที่กำลังดำเนินการกันอยู่เพื่อเริ่มต้นกระบวนการนี้ รองมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียตรัสว่า ส่วนหนึ่งของความพยายามเช่นนี้ก็คือ พระองค์กำลังทรงวางแผนนำเอาหุ้นจำนวนหนึ่งของรัฐวิสาหกิจ ซาอุดี อารามโค (Saudi Aramco) ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก ออกมาเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (initial public offering หรือ IPO) และจะโอนเงินที่ขายได้ซึ่งคาดว่าอยู่ในราว 2 ล้านล้านดอลลาร์ ไปยังกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Public Investment Fund หรือ PIF) ของซาอุดีอาระเบีย "การนำเอาหุ้นอารามโคมาทำไอพีโอ และการโอนหุ้นอารามโคไปยัง พีไอเอฟ ในทางเทคนิคแล้วก็คือการทำให้การลงทุน กลายเป็นแหล่งที่มาแห่งรายรับของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ไม่ใช่น้ำมัน" เจ้าชายทรงชี้ออกมาอย่างชัดเจน "สิ่งที่ยังเหลืออยู่ในตอนนี้ก็คือการกระจายการลงทุน ดังนั้นภายในเวลา 20 ปี เราจะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจหรือรัฐซึ่งไม่ได้พึ่งพาอาศัยน้ำมันเป็นสำคัญอีกต่อไป"

สำหรับประเทศที่ประกาศอ้างความมั่งคั่งร่ำรวยและอำนาจอิทธิพลของตนด้วยการอาศัยการผลิตและการจำหน่ายปิโตรเลียมมากยิ่งกว่าประเทศใดๆ ในโลกแล้ว การแถลงเช่นนี้คือการประกาศการปฏิวัติ ถ้าซาอุดีอาระเบียบอกว่าตนเองพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นถอยออกมาจากการพึ่งพาปิโตรเลียม เราก็กำลังเคลื่อนเข้าสู่โลกใหม่กันจริงๆ แล้ว เป็นโลกใหม่ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปก็คือ พวกยักษ์ใหญ่การผลิตน้ำมันทั้งหลายจะไม่มีอำนาจอิทธิพลมาทำให้ชีวิตของพวกเราต้องแกว่งซ้ายแกว่งขวาเหมือนอย่างที่พวกเขามีอยู่ในอดีตอีกแล้ว

อันที่จริงแล้ว เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นทิศทางที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงยอมรับและทรงนำเอามาประยุกต์ใช้ ภายหลังความล้มเหลวไม่เป็นท่าที่โดฮา ในระหว่างที่ทรงประกาศพิมพ์เขียวทางเศรษฐกิจฉบับใหม่ของราชอาณาจักรแห่งนี้เมื่อวันที่ 25 เมษายนนั้น พระองค์ทรงให้คำมั่นว่าจะปลดปล่อยประเทศชาติของพระองค์ออกมาจาก "การเสพติดน้ำมัน" แน่นอนทีเดียว เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้อย่างง่ายดาย เมื่อพิจารณาถึงการที่ราชอาณาจักรแห่งนี้ต้องพึ่งพาอาศัยรายรับจากน้ำมันมากมายขนาดไหน แถมยังขาดไร้ทางเลือกอื่นๆ ที่ดูมีความเป็นไปได้อีกด้วย นอกจากนั้นเจ้าชายหนุ่มซึ่งทรงมีพระชนมายุ 30 พรรษาองค์นี้ ยังอาจจะต้องทรงเผชิญการคัดค้านต่อต้านจากภายในราชวงศ์เองที่มีความไม่พอใจในความเคลื่อนไหวอันห้าวหาญของพระองค์ (ตลอดจนไม่พอใจในความผิดพลาดร้ายแรงด้วยความสะเพร่าเลินเล่อของพระองค์ในเยเมนและอาจจะในที่อื่นๆ อีก) อย่า