ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

ไซง่อน นิวพอร์ต ยักษ์ "โลจิสติกส์" เวียดนาม ปรับยุทธศาสตร์คว้าโอกาส TPP

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 07, 16, 06:18:37 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจในตลาดการขายสินค้า บริการ และการลงทุน จึงเป็นโอกาสที่เวียดนาม 1 ใน 12 ประเทศสมาชิก จะส่งออกสินค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเกษตร ส่วนภาคสินค้าการเกษตรและอาหารทะเลอาจขยายตัวต่ำกว่า เพราะส่งออกไปยังตลาดสหรัฐและญี่ปุ่นสูงอยู่แล้ว


การที่ภาคการส่งออกของเวียดนามจะขยายตัวจากอานิสงส์ของ TPP ต้องอาศัยระบบโลจิสติกส์ที่มีความเสถียรภาพ เวียดนาม นิวส์ ได้รายงานถึงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ของ 3 ยักษ์ใหญ่ในวงการ กับการปรับตัวให้สอดคล้องกับโอกาส ดังนี้

ผนึกกำลัง-เพิ่มศักยภาพ

เจิ่น คาน หว่าง รองประธานบริหาร บริษัท ไซง่อน นิวพอร์ต คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์แผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้สอดรับกับโอกาสจาก TPP หลังจากเวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิก รวมถึงข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศอื่น ๆ ซึ่งเอื้อผลประโยชน์กับเวียดนามมากขึ้น ว่าช่วงที่ผ่านมาการค้าต่างประเทศของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 15% ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาสำหรับพอร์ตเวียดนาม และบริษัทโลจิสติกส์อื่น ๆ

"จุดอ่อนของโลจิสติกส์ในเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขาดการเชื่อมต่อ ดังนั้น กุญแจแห่งความสำเร็จในมุมมองของผม คือ การรวมกลุ่มบริษัทโลจิสติกส์ และเพิ่มศักยภาพในการทำงานร่วมกัน พร้อมพัฒนาขีดความสามารถและการศึกษาโอกาส รวมถึงข้อกำจัดของ TPP"

รองประธานบริหาร ไซง่อนฯ เผยว่า บริษัทมีการเตรียมความพร้อม ที่จะใช้สิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิก TPP และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ท่าเรือ ระบบโลจิสติกส์ และการบริการขนส่งทางทะเล

ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายทั้งหมด 16 แห่งทั่วประเทศ ส่วนในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง บริษัทไซง่อนฯ ได้พัฒนาท่าเรือเพิ่มขึ้นในบริเวณแม่น้ำเตี่ยนและแม่น้ำเหิ่ว ในจังหวัดเตียงยาง ซึ่งเป็นแม่น้ำ 2 สายสำคัญ เพราะมีเขตติดต่อกับประเทศ สปป.ลาว เมียนมา ไทย และกัมพูชา

ส่วนพื้นที่ตอนใต้ของประเทศ บริษัทมุ่งพัฒนาท่าเรือกายแม็บ ในจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า ที่สามารถเชื่อมกับท่าเรือในกรุงพนมเปญได้ โดยสามารถรองรับตู้คอนเทรนเนอร์บรรทุกสินค้าขนาด 20 ฟุต (Twenty Foot Equivalent Unit) ได้ 14,000 ตู้ นอกจากนี้เนื่องจากเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจะมีขนาดใหญ่ขึ้น บริษัทจึงร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานท้องถิ่นในบ่าเสียะ-หวุงเต่า ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่สำหรับท่าเทียบเรือให้รองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 18,000 ตู้ ทั้งยังร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นและศุลกากร เพื่อช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

ในนครโฮจิมินห์บริษัทมี 2 ท่าเรือ หนึ่งในนั้นคือ ก๊าตลาย ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ปีที่ผ่านมาพอร์ตแห่งนี้มีตู้คอนเทนเนอร์มาลง 4 ล้านตู้ แต่เชื่อว่าปริมาณจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ สำหรับท่าเรือฟูฮู เพิ่งขยายเส้นทางเพื่อตอบสนองดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น และเปิดให้บริการอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ ท่าเรือไฮฟอง ท่าเรือที่มีขนาดใหญ่อันดับสองของเวียดนาม กำลังพัฒนาท่าเทียบเรือนานาชาติแห่งใหม่ และคาดการณ์ว่า หลังเปิดดำเนินการในเดือน พ.ค.ปี 2561 จะสามารถรองรับสินค้าได้ 14,000 ตู้และกลายเป็นท่าเรือน้ำลึกใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ

ทั้งนี้ บริษัทยังมีบริการจัดส่งสินค้าทางทะเล โดยมีเรือขนาดกลางบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ 700 ตู้ 4 ลำ สามารถเชื่อมต่อได้ทั้งภาคกลาง เหนือและใต้ รวมถึงท่าเรือในกรุงพนมเปญด้วย

รับมือยักษ์ข้ามชาติบุก

เหงียน ซุ่ย มินห์ เลขาธิการ สมาคมโลจิสติกส์เวียดนาม (VLA) กล่าวว่า TPP จะเพิ่มโอกาสที่ดีกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เวียดนาม เนื่องจากปริมาณสินค้านำเข้า-ส่งออกมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติที่จะเข้ามา

ดังนั้น บริษัทโลจิสติกส์ท้องถิ่นควรเตรียมรับกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ด้วยการยกระดับทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้บริษัทจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรและความรู้คเกี่ยวกับ TPP โดยเฉพาะผู้นำเข้าและผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า, รองเท้า, อาหารทะเล, สินค้าเกษตร และเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ เป็นต้น

ที่ผ่านมา สมาคม VLA ให้การสนับสนุนสมาชิกอย่างเต็มที่ ด้วยการจัดประชุมการหารือและวิธีการแก้ไขปัญหา พร้อมโอกาสในการร่วมงานมากขึ้น ส่วนใหญ่จะมุ่งเนื้อหาสำคัญที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, โลจิสติกส์ และวิธีการปรับปรุงการให้บริการโลจิสติกส์

นอกจากนี้ ยังมีหลากหลายโปรแกรมที่จัดขึ้นเพื่อให้สมาชิก VLA สามารถเปรียบเทียบความสามารถในการบริหารงานกับบริษัทอื่น ๆ ในภูมิภาค พร้อมโปรแกรมฝึกอบรมเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้าใหม่ ๆ อีกด้วย ซึ่งปีนี้สมาคมมีแผนมุ่งพัฒนาการบริหารอย่างมืออาชีพสำหรับผู้ให้บริการด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์โดยเฉพาะ รวมถึงเพิ่มแผนการพัฒนาพื้นที่ให้บริการในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ด้วยการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการท่าเรือ กายแม็บถิหว่าย และความร่วมมือกับพันธมิตรในการฝึกอบรมและการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน


ตั้งรับกระแสอีคอมเมิร์ซ

เหงียน ถิ ฮา ซาง ผู้อำนวยการทั่วไป บริษัท Maersk Line สาขาเวียดนาม หนึ่งในบริษัทขนส่งทางทะเลชั้นนำของโลก แสดงความเห็นว่าบริษัทโลจิสติกส์ในเวียดนามควรพัฒนากลยุทธ์การลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น พร้อมทั้งใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ โดยการสร้างโกดังสินค้าที่จะส่งของโดยตรงไปยังสถานีขนส่ง จะช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้า

"ผมชื่นชมรัฐบาลเวียดนามที่พยายามปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่นเพื่อความโปร่งใสและดำเนินงานเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายทางการค้ามากขึ้น และสอดรับกับโอกาสจาก TPP"

โดยบริษัทได้เตรียมความพร้อมสำหรับ TPP อันดับแรก คือ บริษัทได้ขยายเส้นทางบริการการขนส่งสินค้าโดยตรงจากเมืองหวุงเต่าไปยังชายฝั่งทะเลตะวันออกของสหรัฐ ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยนำเสนอว่าเป็นเส้นทางการขนส่งที่เร็วที่สุดในตลาดโลจิสติกส์ทางทะเล เมื่อบวกกับบริการขนส่งไปยังฝั่งตะวันตกของสหรัฐที่บริษัทนี้มีอยู่ก่อนแล้ว ถือเป็นบริการที่ครอบคลุมเส้นทางขนส่งทางเรือระหว่างเวียดนาม-สหรัฐอย่างสมบูรณ์

ประการที่สอง คือ ทบทวนและปรับปรุงเครือข่ายท้องถิ่นทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความคาดหวังของกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเห็นรูปแบบการขนส่งที่รวดเร็วมากขึ้น

ประการที่สามคือ การทำงานร่วมกันกับบริษัทพันธมิตรในสหรัฐ โดยมุ่งให้เวียดนามทำหน้าที่เป็นสะพานเพื่อเชื่อมกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ให้ความสนใจในการขนส่งสินค้าจากเวียดนาม, ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก รวมถึงผู้บริโภคอื่น ๆ ในสหรัฐที่ให้ความสนใจถึงปัจจัยหลักของการเติบโตในเวียดนาม

และสุดท้าย คือ การลงทุนในด้านโซลูชั่นของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ด้วยประสบการณ์ใหม่ ๆ สำหรับลูกค้าในการจัดส่งสินค้ากับบริษัท โดยสิ่งสำคัญที่สุดจะช่วยประหยัดต้นทุนในการขนส่งมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ การวิจัยของสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน (PIIE) ระบุว่า เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่มีรายได้และการส่งออกเพิ่มขึ้น 13.6% มากที่สุดใน 12 ประเทศสมาชิก ขณะที่ประเทศที่ไม่เข้าร่วม TPP จะได้รับผลเสียอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนทิศทางการค้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจของจีน ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่เวียดนามจะขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้าหลายประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงไทย นับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นสูง



ที่มา Data & Images -