ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ครม.ไฟเขียวโครงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดเฟส 2 รัฐทุ่ม 3 แสนล้านลงทุนพื้นฐาน

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 30, 16, 06:27:02 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบตามที่ สศช.เสนอโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรืออีสเทิร์น ซีบอร์ด เฟส 2 โดยให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กองทัพเรือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำรายละเอียดแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมทั้งทางบกทางรางทางน้ำและทางอากาศให้แล้วเสร็จใน 3 เดือนเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนใน 3 จังหวัด คือชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา โดยภายใต้โครงการนี้ภายใน 5 ปี รัฐจะมีเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 300,000 ล้านบาท ขณะที่คาดว่าจะมีเงินลงทุนจากเอกชนตามมาไม่ต่ำกว่า 1.9 ล้านล้านบาท เทียบกับปี 24 ที่รัฐบาลทำโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเฟสแรก ตอนนั้นรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาทและมีเอกชน ลงทุนตาม 1.9 ล้านล้านบาท


นายปรเมธีกล่าวต่อว่า พื้นที่นี้มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับอีก 30,000 ไร่ จะเป็นพื้นที่พัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ที่เป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ซึ่งจะให้มี พ.ร.บ.การพัฒนา พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกขึ้นมาด้วย และได้ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ใหม่ และความช่วยเหลือจากกองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้ง ได้รับการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ใบอนุญาตต่างๆประกาศเป็นเขตปลอดภาษี จัดหาที่ดินและเช่าที่ดินได้ 50+49 ปี “รัฐบาลยังจะเชื่อมโยงท่าอากาศยาน 3 แห่งคือ สุวรรณภูมิ ดอนเมืองและอู่ตะเภา โดยเฉพาะอู่ตะเภาจะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารจากปีละ 300,000 คน เป็น 3 ล้านคน รวมทั้งจัดทำศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และเชื่อมโยงคมนาคมทางถนน ทางราง ทางเรือและทาง อากาศ อีกทั้งจะพัฒนาท่าเรือ และเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวทางทะเล และเน้นเชื่อมท่าเรือท่องเที่ยว 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน นอกจากนี้จะขยายท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกด้านที่จะขยายตัวในอนาคตให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปี 61

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องอีสเทิร์น ซีบอร์ดเฟส 2 ไปชี้แจงกับนักลงทุนจีนบนเวทีสัมมนาใหญ่ที่นครเซี่ยงไฮ้เพื่อเล่าให้ฟังถึงแนวทางพัฒนาโครงการนี้ พร้อมชักชวน ให้เอกชนจีนมาร่วมลงทุน เพราะจากนี้ไปพื้นที่นี้จะช่วย ให้จีนใช้ไทยเป็นประตูการค้าและการลงทุนในอาเซียน.

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development)

มติคณะรัฐมนตรี -- อังคารที่ 28 มิถุนายน 2559 - คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ร่วมกับกระทรวงคมนาคม (คค.) กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดทำรายละเอียดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

สาระสำคัญของเรื่อง สศช. รายงานว่า

1. ปัจจุบันพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน และยานยนต์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของประเทศ ประกอบกับมีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางถนน รถไฟ ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือของอาเซียน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังท่าเรือน้ำลึกทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ท่าเรือสีหนุวิลล์ของราชอาณาจักรกัมพูชา และท่าเรือวังเตาของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลก จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยมีกรอบแนวคิดในการดำเนินโครงการ สรุปได้ดังนี้

1.1 พื้นที่ดำเนินการ ดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยแบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม เขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเขตพัฒนาเมือง

1.2 การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย

1) ทางอากาศ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา
2) ทางเรือ ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด
3) ทางถนน ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรุงเทพฯ-ชลบุรี พัทยา-มาบตาพุด และแหลมฉบัง-นครราชสีมา
4) ทางราง ได้แก่ รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง

ทั้งนี้ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจะต้องบูรณาการเชื่อมโยงกันทั้งระบบ เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ดให้เป็นจุดจอดเรือยอชท์ เรือข้ามฟาก (Ferry) และเรือสำราญ (Cruise) เน้นการเชื่อมโยงกับท่าเรือท่องเที่ยวอื่น 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกด้านที่มีแนวขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอนาคตให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2561

1.3 การดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม การจัดตั้งกองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จการลงทุน (One Stop Service) การอำนวยความสะดวกในการอนุมัติเรื่องการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและผังเมือง ความรวดเร็วในการออกใบอนุญาต การประกาศเป็นเขตปลอดภาษี การจัดหาที่ดินและระยะเวลาเช่าที่ดิน ระยะเวลาพำนักและทำงานของนักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้เงินตราต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์ธุรกรรมทางการเงิน และการจัดตั้งกองทุนในพื้นที่ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น


2. ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ร่วมกับกระทรวงคมนาคม (คค.) กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดทำรายละเอียดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยให้มีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศทั้งระบบ ที่คำนึงถึงการเชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน แผนดำเนินการด้านผังเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรม สีเขียว และผลประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับ รวมทั้งจัดทำแผนงบประมาณในการดำเนินโครงการ โดยให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และ 2561 ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มิถุนายน 2559--



ที่มา Data & Images -




"นายกฯ" สั่งเร่ง "ท่าเรือเฟอร์รี" เชื่อมอ่าวไทยสองฝั่ง

"คมนาคม" เร่งแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ทั้งอุตฯ การบิน, ระบบราง, ถนนและท่าเรือ เผย "นายกฯ" เร่งเรือเฟอร์รีเชื่อมอ่าวไทยฝั่งตะวันออก-ฝั่งตะวันตก สั่งคุยกองทัพเรือจัดสรรพื้นที่ท่าเรือสัตหีบ หรือแหลมฉบัง ผุดจุดสร้างท่าเรือเฟอร์รี ชง "สมคิด" ใน 3 เดือน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่จังหวัดระยองและตรวจเยี่ยมสนามบินอู่ตะเภานั้น ได้มีการมอบหมายกระทรวงคมนาคมจัดทำแผนโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายคมนาคมทางบก น้ำ ราง อากาศ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในแผนแม่บทโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้คณะกรรมการที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณากรอบแผนงานให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะมีแผนด้านระบบราง, การพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน, โครงข่ายถนน, การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก (East-West Ferry)

ขณะที่ท่าเรือเฟอร์รีนั้นมี 2 พื้นที่ โดยฝั่งตะวันออก กองทัพเรือได้นำเสนอท่าเรือสัตหีบ (ท่าเรือจุกเสม็ด) และมีท่าเรือแหลมฉบัง ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่สามารถพัฒนาเป็นท่าเรือพาณิชย์และเฟอร์รีข้ามฟากซึ่งจะมีการออกแบบการใช้พื้นที่เพื่อจัดสรรพื้นที่ต่อไป ส่วนฝั่งตะวันตกนั้นมีการศึกษาและมีข้อเสนอของภาคเอกชนซึ่งจะพิจารณาต่อไป โดยนายกฯ มอบให้กระทรวงคมนาคมและกองทัพเรือร่วมกันพิจารณาในการจัดสรรพื้นที่

"จะมีการทบทวนแผนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก อะไรที่ทำไปแล้ว อะไรยังขาด ซึ่งนายกฯ เน้นการแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่ เพื่อทำเป็นแผนรวมและเสนอของบประมาณดำเนินการต่อไป" นายอาคมกล่าว

ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายกฯ เร่งโครงการเรือเฟอร์รีเชื่อมโยงชายฝั่งทะเลอ่าวไทยด้านตะวันออก (ท่าเรือแหลมฉบัง, ท่าเรือสัตหีบ) กับชายฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันตก ลักษณะการเดินเรือเป็นสามเหลี่ยม จากท่าเรือแหลมฉบัง-ปากน้ำ-หัวหิน ซึ่งจะย่นระยะเวลาในการเดินทางข้ามอ่าวไทยลงเหลือ 1.20 ชม. จากรถยนต์ที่ใช้เวลาเร็วที่สุด 4 ชม.หากรถไม่ติด โดยขณะนี้มีแผนแล้วกำลังศึกษา ดังนั้นจะเร่งหาข้อสรุป ซึ่งปัญหาคือการหาจุดก่อสร้างท่าเรือที่จะต้องเป็นท่าเรือขนาดใหญ่เพราะต้องรองรับเรือเฟอร์รีขนาดใหญ่ที่บรรทุกรถยนต์ใต้ท้องเรือได้ด้วย ดังนั้น การสร้างท่าเรือใหม่ อาจจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมโดยกรมเจ้าท่าได้ให้บริษัทที่ปรึกษาฯ ศึกษารายละเอียดโครงการ โดยที่ปรึกษาได้เสนอพื้นที่ทางเลือกเบื้องต้น ในส่วนพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออก ประกอบด้วย ทางเลือก E-1 ท่าเรือเกาะลอย อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทางเลือก E-2 ท่าเรือแหลมฉบัง (A1) ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทางเลือก E-3 ท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยา (ท่าเรือแหลมบาลีฮาย) อ.เมืองพัทยา และทางเลือก E-4 ท่าเรือจุกเสม็ด ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ส่วนพื้นที่ทางเลือกชายฝั่งด้านตะวันตก ประกอบด้วย ทางเลือก W-1 พื้นที่ปากร่องน้ำ บจก.ชลประทานซีเมนต์ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ทางเลือก W-2 พื้นที่วัดไทรย้อย ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และทางเลือก W-3 ท่าเทียบเรือประมงหัวหิน เขต ต.หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์



ที่มา Data & Images -




..-