ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

EU แจก "ใบเหลือง" IUU Fishing & TIP Report กับผลกระทบส่งออกอาหารทะเลไทย

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 10, 16, 10:07:51 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 3 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

8 กรกฏาคม 2559 - ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาด EU แจก "ใบเหลือง" ไทยต่อไป เชื่อไม่กระทบการส่งออกอาหารทะเลปีนี้ แต่ส่งผลดีระยะยาว


หลังจากสหรัฐฯ ได้ปรับอันดับไทยขึ้นเป็นประเทศกลุ่มที่ 2 (เฝ้าระวัง) จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report 2016 : TIP Report) จากกลุ่มที่ 3 นับเป็นข่าวดีต่อการส่งออกอาหารทะเลของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ อีกด้านยังคงลุ้นว่าสหภาพยุโรปหรือ EU จะคงอันดับ "ใบเหลือง" หรือลดอันดับเป็น"ใบแดง" กรณีการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing) ซึ่งน่าจะทราบผลการพิจารณาในช่วงปลายปีนี้

TMB Analytics คาดว่า EU ยังคงสถานะ "ใบเหลือง" แก่ประเทศไทย ในช่วงปลายปีนี้ โดยไม่ลดอันดับเป็น "ใบแดง" จนนำไปสู่การระงับนำเข้าสินค้าประมงจากไทย ซึ่งสอดคล้องกับสหรัฐฯ ที่ได้ปรับอันดับขึ้นก่อนหน้านี้ สะท้อนความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาและดำเนินการให้สอดคล้องกับกฏเกณฑ์ระหว่างประเทศ รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่ออาหารทะเลส่งออกในด้านภาพลักษณ์สินค้าที่มีคุณภาพ ตรวจสอบที่มาได้ และใช้แรงงานอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตามการคงอันดับของ EU และการปรับอันดับของสหรัฐฯ ไม่ได้กระตุ้นให้มูลค่าส่งออกอาหารทะเลไปยังสหรัฐฯ และ EU ขยายตัวในปีนี้ เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อมูลค่าส่งออกไทยปี 2559 ยังคงขยายตัวลดลงทั้งสองตลาด โดยคาดว่าส่งออกอาหารทะเลไปยังตลาดสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 1,215 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงประมาณร้อยละ 5 เทียบกับปี 2558 เนื่องจากผู้นำเข้าในสหรัฐฯ หันมานำเข้าอาหารทะเลจากประเทศอื่นในทวีปอเมริกาเพิ่มขึ้น ขณะที่ไทยมีปริมาณการผลิตกุ้งไม่เพียงพอต่อการส่งออกเนื่องจากปัญหาโรคตายด่วน(EMS) ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ลดลง ด้านการส่งออกอาหารทะเลไป EU ปีนี้ มีมูลค่าประมาณ 365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวลดลงร้อยละ 24 เนื่องจากเศรษฐกิจ EU ที่ยังคงชะลอตัว รวมถึงปัญหาปริมาณผลผลิตกุ้งจากโรค EMS นอกจากนี้ไทยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับอาหารทะเลที่ส่งออกไป EU หรือ GSP อาหารทะเลไทยจึงมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์อยู่

แม้ว่าการคงอันดับของ EU และการปรับอันดับของสหรัฐฯ ไม่ทำให้สถานการณ์ส่งออกอาหารทะเลไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้ แต่ก่อให้เกิด "จุดเปลี่ยน" ในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทยในช่วงปีที่ผ่านมา การยกระดับเรื่องการค้ามนุษย์เป็น "วาระแห่งชาติ" ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้แรงงานภาคการประมง และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การออกกฏหมาย/ระเบียบปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบของ EU กระทบต่อผู้ประกอบการเรือประมง ส่วนหนึ่งอาจต้องหยุดกิจการ การเปลี่ยนแปลงเครื่องมือประมง การติดตั้งระบบติดตามเรือ จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม และส่งผลต่อเนื่องถึงธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำขั้นต้น ธุรกิจค้าสินค้าประมง ธุรกิจห้องเย็น ธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ ธุรกิจอาหารแช่เย็นแช่แข็ง และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโช่อุปทาน(Supply Chain) ซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดไปแล้ว ธุรกิจที่ผ่านการปรับตัวจึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก รวมถึงทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีจำนวนและคุณภาพเพิ่มขึ้น สามารถใช้ได้อย่างยั่งยืน

IUU Fishing & TIP Report แม้เป็น "ยาขม" ส่งผลลบต่อภาพลักษณ์อาหารทะเลไทยและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แต่ส่งผลดีในระยะยาวผ่านการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทยให้มีคุณภาพและเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่า "หวานเป็นลม ขมเป็นยา" ก็คงไม่ผิดนัก



ที่มา Data & Images -




เกษตรสั่งลดจำนวนเรือประมงพาณิชย์ใน 2 ปี

"ฉัตรชัย"เผยอียู ห่วงเรือประมงพาณิชย์มีจำนวนมากเกินทรัพยากรสัตว์ทะเลไทยต้องวางแผนลดภายใน 2 ปี


พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการที่สหภาพยุโรปได้มาติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (ไอยูยู)ว่า คณะผู้สังเกตการณ์จากอียู มาพบพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชมรัฐบาลไทยที่มีความจริงใจและมั่นใจในทีมงานแก้ไขปัญหาซึ่งที่ผ่านมาอียูติดตามมาการแก้ไขตลอดและพบว่าคืบหน้าไปมาก แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องจำนวนเรือประมงพาณิชย์ ที่ต้องการให้ไทยมีการคุมจำนวนเรือเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนทรัพยากรทางทะเลเพื่อ ทำให้เกิดความยั่งยืน ในขณะที่การแก้ไขกฎหมายลูกตามพรก.การประมง 2558 จำนวน  92 ฉบับได้ทำครบแล้วทั้งหมด

"สำหรับการลดจำนวนเรือประมงลง ได้สั่งกรมประมงทำแผนลดลงภายใน2 ปี ตอนนี้มีจดทะเบียน4 หมื่นลำ ซึ่งอาจจะต้องมีการทำแผนซื้อเรือคืนจากชาวประมงที่เรือถูกกฎหมาย แต่ไม่มีใบอนุญาตทำประมงเพราะเครื่องมือผิดกฎหมายเพื่อนำไปทำปะการังเป็นต้น หรือมีกองทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนอาชีพชาวประมง" รมว.เกษตรฯกล่าว

ทั้งนี้ประเด็นสำคัญคือ ทางอียูได้แนะนำให้มีการติดตั้งระบบติดตามเรือด้วยระบบดาวเทียมหรือวีเอ็มเอส กับเรือห้องเย็น ที่รับสินค้ากลางทะเล เพราะเป็นเครื่องมือในการทำประมงด้วยเช่นกัน รวมทั้งให้ระบบวีเอ็มเอส เป็นระบบเรียวไทม์ และสามารถเชื่อมออนไลน์ได้เพื่อให้มีความคล่องตัวในการตรวจสอบได้ทุกลำ สามารถติดตามควบคุมเรือประมงได้จริง

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ขอให้อียูส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำเจ้าหน้าที่  ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะไปดูศูนย์วีเอ็มเอสในพื้นที่และวางระบบติดตามเรือ ตรวจสอบย้อนกลับให้เป็นระบบออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพคาดว่าใช้เวลา 3-4 เดือน ขณะนี้ยังจดในกระดาษกันอยู่



ที่มา Data & Images -