ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ศาลอนุญาโตตุลาการตัดสิน "จีน" ไม่มีสิทธิ์อ้างกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะทะเลจีนใต้

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 14, 16, 06:28:24 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ศาลประจำอนุญาโตตุลาการ (Permanent Court of Arbitration – PCA) มีคำตัดสินคดีทะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์ กับ จีน ในวันนี้ โดยตัดสินว่า ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พิจารณาได้ จีนจึงไม่มีสิทธิ์อ้างกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะทะเลจีนใต้


ศาลประจำอนุญาโตตุลาการตัดสินปฏิเสธข้ออ้างของจีนต่อสิทธิทางเศรษฐกิจเหนือพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ โดยระบุว่า "จีนไม่มีหลักฐานทางกฎหมายที่จะอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์เหนือทรัพยากรในบริเวณพื้นที่ที่จีนเรียกว่า nine-dash line" โดยบริเวณเส้นเชื่อมทั้ง 9 จุดตามหลัก nine-dash line ของจีน ถือเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในแง่พลังงาน แร่ธาติ และการประมง

นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่า หน่วยงานลาดตระเวณของจีนยังสร้างความเสี่ยงจากการปะทะกันกับเรือประมงของชาวฟิลิปปินส์ และจีนยังสร้างความเสียหายให้กับแนวประการังในบริเวณดังกล่าวด้วยการก่อสร้างในพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ จีนบอยคอตต์คดีดังกล่าว และระบุว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินใดๆ ของศาลโลก โดยบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ People's Daily ของจีน ในช่วงเช้าววันจันทร์ (11 ก.ค. 59) ระบุว่า อนุญาโตตุลาการในเรื่องทะเลจีนใต้เป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามกฎหมายและผลักดันโดยฟิลิปปินส์เพียงฝ่ายเดียว จึงไม่สามารถลบล้างสิทธิตามทำนองคลองธรรมและผลประโยชน์ของจีน พร้อมกล่าวถึงคำตัดสินของศาลครั้งนี้ว่า "มีค่าไม่ต่างจากกระดาษแผ่นเดียว"

กรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556/2013 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยผ่านกลไก ศาลประจำอนุญาโตตุลาการ (Permanent Court of Arbitration – PCA) เพื่อฟ้องร้องจีนภายใต้บทบัญญัติของภาคผนวก 7 (Annex VII) ย่อหน้า 2 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ฉบับที่ 2 (The United Nations Convention on the Law of the Sea 1982 – UNCLOS II) ปี 2525/1982 โดย "อ้างถึงข้อพิพาทกับจีนเหนือเขตอำนาจในพื้นที่ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (with respect to the dispute with China over the maritime jurisdiction of the Philippines in the West Philippine Sea.)"

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556/2013 จีนได้ส่งสารบันทึกวาจา (Note Verbale) ว่าด้วย "ท่าทีของจีนในทะเลจีนใต้ (the Position of China on the South China Sea issues)" ไปยังฟิลิปปินส์ เพื่อปฏิเสธคำร้องของฟิลิปปินส์ โดยศาลประจำอนุญาโตตุลาการได้ดำเนินการรับคำร้องของฟิลิปปินส์เพื่อเข้าสู่ กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการแล้ว และได้แต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการจำนวน 5 คน ได้แก่ ทอมัส เอ. เมนซาห์ (Thomas A. Mensah) เป็นประธาน ฌอง-ปิแอร์ คอท (Jean-Pierre Cot) สแตนิชลอว์ พาวลัค (Stanislaw Pawlak) อัลเฟรด เอช. เอ. ซูนส์ (Alfred H. A. Soons) และ รุดดิเจอร์ วอลฟรุม (R?diger Wolfrum)

และฝ่ายฟิลิปปินส์ได้แต่งตั้งผู้แทน (agent) ตามขั้นตอนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการแล้ว แต่ฝ่ายจีนยังไม่มีท่าทีที่จะแต่งตั้งผู้แทนของฝ่ายตนแต่อย่างใด โดยในสารบันทึกวาจา (Note Verbale) ของจีน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556/2013 จีนได้ย้ำว่า "จุดยืนของฝ่ายจีนคือการไม่ยอมรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ฟิลิปปินส์ เริ่มขึ้น"



ที่มา Data & Images -




ทูตจีนเตือนคำตัดสิน "ศาลกรุงเฮก" เรื่องทะเลจีนใต้จะยิ่งกระตุ้น "ความขัดแย้ง-การเผชิญหน้า"

รอยเตอร์ - คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก (Permanent Court of Arbitration) ซึ่งปฏิเสธการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ "จะยิ่งกระตุ้นความขัดแย้ง หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดการเผชิญหน้า" ระหว่างรัฐ เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ กล่าวเตือนเมื่อวานนี้ (12 ก.ค. 59)


ชุ่ย เทียนข่าย เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้กล่าวในเวทีเสวนาระหว่างประเทศว่า ปักกิ่งยังคงยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเจรจากับรัฐคู่กรณีเกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลที่สำคัญของโลก

ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรได้มีคำพิพากษาวานนี้ (12) ว่า จีนกำลังละเมิดอธิปไตยของฟิลิปปินส์ด้วยการแทรกแซงขัดขวางการทำประมงตามประเพณี รวมถึงโครงการขุดเจาะน้ำมันของฟิลิปปินส์ในน่านน้ำทะเลจีนใต้

ชุ่ย กล่าวโทษยุทธศาสตร์ "ปักหมุด" (pivot) ของสหรัฐฯ ว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ร้อนระอุหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรณีนี้ก็จะยิ่ง "เปิดโอกาสให้เกิดการบั่นทอนกระบวนการตัดสินชี้ขาด"

"แน่นอนว่าคำพิพากษาของศาลในกรณีนี้จะทำให้รัฐต่างๆ หมดกำลังใจที่จะเจรจาและปรึกษาหารือกันเพื่อยุติความขัดแย้ง" ชุ่ย ระบุ

"มันจะยิ่งกระตุ้นความขัดแย้ง และก่อให้เกิดการเผชิญหน้า"

รัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการไต่สวนของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร และวิจารณ์ว่าเป็นแค่ "ละครตลก" ฉากหนึ่ง ขณะที่นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเอเชียเตือนว่า จีนเสี่ยงที่จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ หากยังคงแสดงท่าทีแข็งกร้าวและเพิกเฉยต่อคำตัดสินนี้

ด้านสหรัฐฯ ซึ่งถูกจีนกล่าวหาว่าพยายามปลุกปั่นข้อพิพาท และขยายอิทธิพลทางทหารด้วยการส่งเรือออกตรวจการณ์และจัดการซ้อมรบในทะเลจีนใต้ ระบุว่า คำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลากรถาวรถือเป็นที่สุด และมีผลบังคับ

"สหรัฐฯ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอย่านำประเด็นนี้มาเป็นโอกาสกระทำการยั่วยุใดๆ ทั้งสิ้น" จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงต่อสื่อมวลชน

คำพิพากษาของศาลคราวนี้นับว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการร้องขอให้ศาลระหว่างประเทศเข้ามาชี้ขาดปัญหาทะเลจีนใต้ และแม้ว่าศาลอนุญาโตตุลาการถาวรจะไม่มีอำนาจบังคับให้จีนต้องกระทำการอย่างใด แต่ก็ยังถือเป็น "ชัยชนะ" สำหรับฟิลิปปินส์ผู้เป็นโจทก์ฟ้อง และอาจกรุยทางให้ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งอ้างกรรมสิทธ์ในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับจีนอยู่ ลุกขึ้นมาใช้กฎหมายเล่นงานจีนบ้าง

กระทรวงการต่างประเทศจีนปฏิเสธที่จะยอมรับคำตัดสินคราวนี้ โดยบอกว่าประชาชนของตนมีประวัติศาสตร์อยู่ในทะเลจีนใต้มานานกว่า 2,000 ปี และเกาะต่างๆ ของจีนก็มีสิทธิที่จะอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะ อีกทั้งแดนมังกรได้ประกาศต่อโลกให้ทราบถึง "แผนที่เส้นประ" ของตนมาตั้งแต่ปี 1948 แล้ว

เอกอัครราชทูตจีนได้กล่าวในเวทีเสวนาของศูนย์ยุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ว่า ปักกิ่ง "จะทำทุกวิถีทางเพื่อรับรองว่าการค้าทางทะเลจะดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีอุปสรรค และจะสกัดกั้นการกระทำใดๆ ก็ตามที่จะบั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาค"

ด้านฟิลิปปินส์ระบุว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างศึกษาคำพิพากษาของศาล และรัฐมนตรีต่างประเทศ เปอร์เฟ็กโต ยาซาย ก็ได้เรียกร้องให้ "ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดทนอดกลั้น และความสุขุม"

จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาวอชิงตันพบเห็นสัญญาณกิจกรรมทางทหารของจีนอย่างต่อเนื่องในทะเลจีนใต้ ขณะที่ แดเนียล คริเตนบริงก์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายเอเชียของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่เคยมีเจตนาโหมไฟพิพาทในทะเลจีนใต้เพื่อสร้างบริบทในการขยายอิทธิพล

"เราปรารถนาที่จะเห็นข้อพิพาทดินแดนและน่านน้ำในเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงทะเลจีนใต้ ได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธี โดยปราศจากการข่มขู่ และเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ" คริเตนบริงก์ กล่าวในเวทีเสวนาของ CSIS

ด้านออสเตรเลียซึ่งเป็นพันธมิตรของอเมริกา ได้ออกมาเตือนให้คู่กรณีทุกฝ่าย "หลีกเลี่ยงการกระทำฝ่ายเดียว"

"ออสเตรเลียจะรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเดินเรือและสัญจรทางอากาศตามที่กฎหมายระหว่างประเทศระบุ และขอสนับสนุนสิทธิของประเทศอื่นๆ ที่จะกระทำอย่างเดียวกัน" จูลี บิชอป รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแดนจิงโจ้ ระบุในคำแถลง

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศชี้ว่า คำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรถือเป็นการกระหน่ำตีข้ออ้างของจีนซึ่งระบุว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ และยังทำให้วอชิงตัน ปักกิ่ง และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก้าวมาสู่ "ทางแยก" ที่อันตราย

"นี่ถือเป็นชัยชนะทางยุทธวิธีสำหรับฟิลิปปินส์ แต่เป็นความพ่ายแพ้เชิงยุทธศาสตร์สำหรับกฎหมายระหว่างประเทศ" คาส ฟรีแมน อดีตนักการทูตสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นล่ามให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ตอนไปเยือนจีนเมื่อปี 1972 ระบุ

"คำตัดสินคราวนี้ทำให้ปัญหาทะเลจีนใต้ตกอยู่ในภาวะที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่นนอกจากใช้กำลังเท่านั้น ไม่มีกระบวนการเจรจาทางการทูตเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และตอนนี้ก็ไม่มีกระบวนการทางกฎหมายอีกแล้ว" ฟรีแมนกล่าว

จูเลีย กุ้ยฟาง เสวีย (Julia Guifang Xue) อาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ชี้ว่า รัฐบาลปักกิ่งค่อนข้างอ่อนไหวกับประเด็นเรื่องอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ "ดังนั้น เราคงไม่ต้องแปลกใจ หากได้เห็นการกระทำใดๆ ที่เป็นการยืนยันกรรมสิทธิ์ของจีนในพื้นที่ดังกล่าว"

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เคยแสดงความกังวลว่า จีนอาจตอบโต้คำพิพากษาของศาลด้วยการประกาศเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) เหนือทะเลจีนใต้ อย่างที่เคยทำมาแล้วกับทะเลจีนตะวันออกเมื่อปี 2013 หรือไม่ก็อาจเร่งก่อสร้างสาธารณูปโภค และเสริมกำลังป้องกันเกาะเทียม

บัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ วิงวอนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้วิธีเจรจาเพื่อคลี่คลายข้อพิพาท "อย่างสันติและด้วยวิถีทางที่เป็นมิตร โดยคำนึงถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศ"

รัฐบาลจีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรและพลังงานขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก ซึ่งแต่ละปีจะมีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ชาติเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน รวมถึงไต้หวัน ก็อ้างสิทธิอยู่บางส่วนเช่นเดียวกัน

ในการพิจารณาคำฟ้องรวม 15 ประเด็นของฝ่ายฟิลิปปินส์ คณะผู้พิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรวินิจฉัยว่า การที่จีนอ้างสิทธิต่างๆ ตามประวัติศาสตร์เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของทรัพยากรภายในอาณาบริเวณที่เรียกกันว่า "แนวแผนที่เส้นประ 9 เส้น" ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ราว 90% ของทะเลจีนใต้นั้น ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายใดๆ รองรับเลย

ศาลยังวินิจฉัยอีกด้วยว่า ไม่มีแนวปะการังหรือแผ่นดินว่างเปล่าแห่งใดเลยในหมู่เกาะสแปรตลีย์ซึ่งจีนควบคุมอยู่ สามารถนิยามได้ว่าเป็น "เกาะ" ซึ่งจะทำให้ได้พื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ตามที่ฝ่ายจีนกล่าวอ้าง

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไต้หวันซึ่งอ้างว่าเกาะ "อีตู อาบา" หรือ "ไท่ผิง" ที่ตนครอบครองอยู่นั้นเป็น "เกาะ" ที่ถูกต้องเพียงแห่งเดียวในบรรดาแนวปะการัง สันดอน และกองหินปะการังรูปวงแหวน (atoll) หลายร้อยแห่งที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ก็ปฏิเสธที่จะยอมรับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรเช่นกัน เนื่องจากศาลวินิจฉัยว่าเกาะไท่ผิงนั้นเป็นเพียง "ก้อนหิน" (rock) ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำราวๆ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรของไต้หวัน



ที่มา Data & Images -




จีนยืนยันไม่รับคำตัดสินพิพาททะเลจีนใต้ของศาลอนุญาโตตุลาการ

ไชน่าเดลี - เป็นดังที่คาดการณ์เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ศาลอนุญาโตตุลาการ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประกาศคำพิพากษาเป็นที่สุดคดีข้อพิพาททะเลจีนใต้ซึ่งยื่นฟ้องโดยประเทศฟิลิปปินส์ฝ่ายเดียวว่า จีนไม่มีสิทธิตามกฎหมายเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ ขณะที่รัฐบาลจีนยืนยันไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการ


กระทรวงการต่างประเทศจีน ออกแถลงการณ์ทันทีในวันเดียวกัน วันที่ 12 กรกฎาคม ว่า จีนไม่ยอมรับและไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินคดีกรณีพิพาททะเลจีนใต้ ที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องจีนฝ่ายเดียว คำตัดสินนี้จึงเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับใช้ใดๆ

กระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่า กระบวนการพิจารณาคดีนี้ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยศาลอนุญาโตตุลาการไม่มีสิทธิพิพากษา ดั้งนั้นผลการพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลบังคับใช้

คำพิพากษาเป็นเพียงกระดาษที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลจีนเคยประกาศหลายครั้งว่า คดีนี้เป็นคดีที่ยื่นฟ้องฝ่ายเดียวโดยฟิลิปปินส์ ผลการพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

รายงานข่าวกล่าวว่า กระบวนการพิจารณานี้ดำเนินไปทั้งที่จีนแสดงจุดยืนไม่เข้าร่วมและไม่ยอมรับในกระบวนการพิจารณามาตั้งแต่ต้น นับตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2556 ซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องจีนกรณีข้อพิพาททางทะเลนี้โดยลำพัง

แถลงการณ์กระทรวงต่างประเทศระบุว่า จีนกลับเป็นฝ่ายที่อ้างความชอบธรรมซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งคำพิพากษาของศาลฯ จะขยายวงแห่งความตึงเครียด และสหรัฐคงไม่ปล่อยโอกาสนี้ในการที่จะกล่าวโทษจีน และละเลยกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

ในส่วนของกิจกรรมทางทหารที่ระดมเพิ่มเป็นประวัติการณ์ในทะเลจีนใต้ สถานการณ์เช่นนี้ไม่มีใครรับประกันได้ว่าการปะทะคารมกันจะไม่นำไปสู่สถานการณ์อื่นมากไปกว่านี้

ด้านรัฐบาลจีนได้เตรียมตัวสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งอาจรวมถึงกรณีใช้กำลังศักยภาพทางทหาร

อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายต่างรู้ว่าสันติภาพคือสิ่งที่ดีที่สุด ในการจัดสรรผลประโยชน์ระยะยาวสำหรับทุกฝ่ายในภูมิภาคนี้ โดยจีนเต็มใจอย่างยิ่งที่จะสร้างข้อตกลงชั่วคราว รวมถึงการร่วมพัฒนาพื้นที่กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอย่างสอดคล้องกัน ขณะที่ประเทศที่สามอาจจะมีความกระตือรือร้นในการระดมสร้างสถานการณ์เผชิญหน้ากับจีน ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรมองหาหนทางแก้ปัญหาข้อพิพาทอันนำไปสู่สันติ ก่อนที่จะไปถึงจุดที่จีนต้องปิดประตูเจรจาต่อรอง

ก่อนหน้านี้ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้กล่าวระหว่างการเยือนประเทศลาว เมื่อวันที่ 24 เมษายนทีผ่านมา ระบุว่า จีนได้บรรลุ "ฉันทามติสำคัญ" กับทั้งสามประเทศ บรูไน กัมพูชา และลาว โดยมีใจความหลักว่า "ปัญหาทะเลจีนใต้ไม่ใช่ความขัดแย้งและไม่ควรกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน" ด้วยความไม่ลงรอยปัญหาทะเลจีนใต้ ถือเป็นประเด็นหนักใจของชาติอาเซียนทั้งสิบ เนื่องจากหลายประเทศเผชิญความยุ่งยากในการรักษาสมดุล "การส่งเสริมซึ่งกันและกัน" โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เพราะจีนจัดเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของหลายชาติอาเซียน



ที่มา Data & Images -



..