ส. ต้านโลกร้อนจี้ รัฐบาล ฟ้อง"พีทีทีฯ" ทำน้ำมันรั่วกลางทะเลอ่าวไทย ทำสิ่งแวดล้อมเสียหาย

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 29, 13, 19:38:26 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

นายศรีสุวรรณ  จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน  ได้ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่เกิดเหตุท่อรับน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ระบุว่า ตามที่ได้เกิดเหตุท่อรับน้ำมันดิบ G 67 ขนาด 16 นิ้วรั่ว ที่บริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบ (Single Point Mooring)  ขณะกำลังมีการส่งน้ำมันมายังโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เมื่อเวลา 06.50 น. วันที่ 27 กรกฎาคม   เกิดการรั่วไหลออกมาอย่างมหาศาลมากกว่า 50 ตันหรือ 50,000 ลิตรนั้น คราบน้ำมันดังกล่าวจะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กระทบต่อการดำรงชีพของสัตว์ทะเล  เช่น วงจรของปลาทู กระทบต่ออาชีพของชาวประมง กระทบต่อระบบการท่องเที่ยว เพราะคราบน้ำมันจะถูกคลื่นซัดมาถึงชายหาดพื้นที่ท่องเที่ยวได้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยชัดแจ้ง ฯลฯ


นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า แม้บริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการใช้เรือฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมันจำนวน 4 ลำพร้อมน้ำยาขจัดคราบน้ำมันจำนวน  35,000 ลิตร  โดยแยกสลายคราบน้ำมันดังกล่าวบนพื้นผิวทะเลให้จมลงแล้วก็ตาม แต่ทว่าน้ำยาขจัดคราบน้ำมันกลับจะเป็นพิษต่อความหลากหลายทางชีวภาพของทะเล เพราะสารอันตรายดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล โดยเฉพาะบริเวณก้นทะเลที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิต กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เป็นอาหารของมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และอาชีพประมงของชาวบ้านทั้งระบบในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย หาใช่พื้นที่ทะเลมาบตาพุดแต่เพียงแห่งเดียวไม่

"สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กรมประมง กระทรงเกษตรและสหกรณ์ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ต้องเป็นธุระในการดำเนินการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสียหายไป ซึ่งเป็นทรัพยากรของของชาติจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) แทนประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียโดยทันที ตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่ง พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 โดยทันที พร้อมกับนำเงินดังกล่าวจัดตั้งกองทุนดูแล ชดเชย อาชีพของชาวประมง และอาชีพต่อเนื่อง ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันดังกล่าว หากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ละเว้น เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องนี้ เราจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบดังกล่าว ในการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายข้างต้นต่อไป รวมทั้งการร้องเอาผิดทางวินัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ละเว้นเพิกเฉยต่อเรื่องดังกล่าวตามกฎหมายต่อไป"นายศรีสุวรรณ กล่าว


นายนริศ  ขำนุรักษ์  ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การที่ดิน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม  สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า จากข่าวท่อส่งน้ำมันดิบ ของ ปทต.รั่วกลางทะเลอ่าวไทย  พื้นที่ จ.ระยอง และขณะนี้ทิศทางลมได้พัดคราบน้ำมันกระจายเป็นวงกว้างและจะเข้าสู่ชายฝั่งทะเล ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล  ทั้งสัตว์น้ำ พืชและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตลอดจนจะมีปัญหาต่อประชาชนตามมา กมธ.จึงขอให้ ปตท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมเครื่องมือทั้งหมดเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน และ ขอความร่วมมือจากต่างประเทศที่มีเครื่องมือ เทคโนโลยีและประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ซาอุดิอาระเบีย ทั้งนี้ ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบระยะยาว กมธ.จะได้เรียกหน่วยงานเข้ามาชี้แจง ติดตามผลการปฏิบัติงาน ตลอดจนประเมินผลกระทบของเหตุการณ์นี้ต่อไป

ที่มา -





ชาวระยองชี้ ปตท. ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้ง สวล.-การท่องเที่ยว

ระยอง - ชาวระยองชี้ ปตท. ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัด ด้าน ส.ส.จังหวัดระยอง เรียกร้องให้มีการตั้งกองทุนเพื่อดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


นายอุดม ศิริภักดี เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่มีคราบน้ำมันลอยอยู่กลางทะเล ซึ่งเป็นความกังวลของพี่น้องประชาชนโดยทั่วไป ไม่มีใครคาดคิดว่าบริษัทใหญ่ๆ ที่มีมาตรฐานระบบต่างๆ เป็นอย่างดียังเกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาแล้วต้องมีมาตรการในการแก้ไข ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในการจัดการคราบน้ำมัน ซึ่งมีข่าวออกว่า สามารถควบคุมคราบน้ำมันได้แล้วตั้งแต่เมื่อวาน แต่ในข้อเท็จจริงในวันนี้ยังมีคราบน้ำมันที่ลอยมาใกล้ชายฝั่ง

ทิศทางลมก็พัดเข้าฝั่งโดยตลอด ถ้าวันนี้ยังขจัดคราบน้ำมันไม่หมดคาดว่าผลกระทบด้านการท่องเที่ยวมีความเสียหายแน่นอน อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างโปร่งใส ไม่ปิดบัง ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันดูแลรับผิดชอบอย่างรวดเร็วแบบบูรณาการ

รวมทั้งในเรื่องการเยียวยาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สัตว์น้ำทะเล คงไม่มีใครปฏิเสธว่าน้ำมันรั่วขนาด 50,000-70,000 ลิตร จะไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีผลกระทบอย่างแน่นอนอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องแก้ไขปัญหาให้อย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล

นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง กล่าวว่า ในฐานะที่เป็น ส.ส.ในพื้นที่ อยากเรียกร้องไปยังบริษัท ปตท. จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของต้นเรื่องที่เกิดเหตุทำให้น้ำมันรั่วไหลสู่กลางทะเล ต้องรับผิดชอบทุกกรณีทั้งทางตรง และทางอ้อม น่าจะมีการตั้งกองทุนเพื่อดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การประเมินค่าเสียหายที่ได้รับผลกระทบต่อหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ เช่น เทศบาลเมืองมาบตาพุด เทศบาลนครระยอง อบต.ตะพง เทศบาลบ้านเพ และเทศบาลอื่นๆ ที่มีแนวเขตติดต่อชายฝั่งทะเล ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนจากที่มีคราบน้ำมันไหลเข้าฝั่ง

นอกจากนี้ หากคราบน้ำมันไหลเข้าสู่พื้นที่เกาะเสม็ด ซึ่งมีระยะห่างแค่ 5 กิโลเมตร ความเสียหายจะเกิดต่อการท่องเที่ยวอย่างมหาศาลแน่นอน ในเมื่อคาดการณ์ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เราต้องตั้งกองทุนเพื่อรองรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งบริษัทต้นเหตุ หรือบริษัท ปตท. ต้องรับผิดชอบ ซึ่งกองทุนต้องมาฟื้นฟูความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ค้ากำไรจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีกำไรปีละหลายแสนล้านบาท ที่เอาก๊าซคนไทยของประเทศชาติไปขาย เมื่อเกิดเหตุแล้ว และเกิดเหตุกับธรรมชาติของจังหวัดระยอง

บริษัทฯ ต้องดูแล และดูแลอย่างเต็มที่ด้วย อย่าทำให้จบแค่นี้ ซึ่ง ปตท.ต้องมีความชัดเจน โปร่งใส และให้หน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ออกมาเรียกร้อง ซึ่งในเรื่องนี้ทางอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้พูดอย่างชัดเจน ว่า บริษัทเอกชนต้องรับผิดชอบทั้งหมด และหน่วยงานทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบต้องออกมาดำเนินคดีบริษัทเอกชน โดยเฉพาะงานปกครองส่วนท้องถิ่นถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องประมาท หรือไม่ประมาทก็ตาม

นายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงเรือเล็กระยอง กล่าวว่า กลุ่มประมงเรือเล็กได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแน่นอน พื้นที่ทางทะเลทรัพยากรทางทะเลนั้นถูกทำลาย อาหารที่หล่อเลี้ยงกำลังถูกทำลาย การรั่วไหลของน้ำมันทางอุตสาหกรรมเข้าไปถึงอย่างรวดเร็ว การควบคุมการแพร่กระจายของน้ำมันมีการควบคุมได้ดีแค่ไหน ซึ่งการรั่วไหลของน้ำมันไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ต่างประเทศก็มีการรั่วไหลเช่นกัน แต่การควบคุมไม่สามารถควบคุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็มีผลกระทบต่อประมงต่างๆ เขาก็มีการชดเชย แต่ประเทศไทยยังไม่เห็นมีการชดเชย

เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เกิดครั้งแรกของจังหวัดระยอง และยังไม่มีการแก้ไขใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม ผลกระทบเหล่านี้จังหวัดระยองยังไม่แก้ไข ดูแล วันนี้บริษัทเอกชนนำสารเคมีทำให้น้ำมันจมลง คาดว่าจะเป็นการทำลายธรรมชาติโดยระยะยาว แต่แนวทางแก้ไขยังไม่มีมาตรการออกมาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องมีการแก้ไขด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างชัดเจน

ด้าน พล.ร.ท.รุ่งศักดิ์ เสรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 และผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 1 กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า มีคราบน้ำมันบนผิวน้ำทะเลที่ไหลตามกระแสคลื่น และลมเข้าไปบริเวณชายทะเลอ่าวระยองโดยรวม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวตลอดแนว

จึงได้สั่งการให้ พล.ร.ต.ทิวา ดาราเมือง เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1 และหัวหน้าฝ่ายอำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 1 และ น.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้อำนวยการ กองยุทธการ ทัพเรือภาคที่ 1 จัดส่งเครื่องบินดอร์เนีย ทางด้านธุรการของ หน่วยบินเฉพาะกิจ ทัพเรือภาคที่ 1 ออกลาดตระเวนเพื่อตรวจสอบการแพร่กระจายของคราบน้ำมันดิบ ทั้งด้านนอก และด้านในชายฝั่ง เพื่อรายงานสถานการณ์ให้ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองทัพเรือทราบ อีกทั้งนำข้อมูลประสานการปฏิบัติให้เกิดความรวดเร็ว คล่องตัว ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว

ด้านว่าที่ร้อยตรี สุพีร์พัฒน์ จองพานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัด ระยอง ในฐานะผู้รับผิดชอบกรณีเหตุน้ำมันดิบรั่วครั้งนี้ กล่าวว่า เครื่องบินขจัดคราบน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์ปฏิบัติฉีดพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมัน รอบเกาะเสม็ด ขณะนี้ได้รับรายงานว่า สามารถทำลายคราบน้ำมันได้เกือบหมดแล้ว คาดว่าก่อนมืดค่ำวันนี้คงจะหมดก่อนที่จะเข้าบริเวณชายหาดเกาะเสม็ด ต.เพ อ.เมืองระยอง


ส่วนคราบน้ำมันที่ถูกน้ำยาสารเคมียังไม่ได้ย่อยสลายในทันทีอาจจะมีผลกระทบบริเวณชายฝั่งระยอง ขณะเดียวกันท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งการนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการระยอง ให้กำชับกับ บริษัท ปตท. บ.ไออาร์พีซี ที่มีบูม หรือทุ่นกวาดคราบน้ำมันเร่งระดมไปปิดกั้นไม่ให้คราบน้ำมันที่ทำลายแล้วถูกคลื่นซัดเข้าฝั่ง ซึ่งกว่าจะย่อยสลายได้ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์

ขณะนี้ทราบว่า ปตท.และไออาร์พีซี กำลังเร่งดำเนินการพร้อมจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าที่ ศาลากลางจังหวัดระยอง และ ปตท.มีการระดมผู้เชี่ยวชาญในการขจัดคราบน้ำมันที่โรงกลั่นน้ำมัน ปตท.และที่ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ต.เพ ซึ่งเป็นสำนักงานที่อยู่ใกล้คราบน้ำมันที่กำลังจะเคลื่อนเข้าสู่เกาะเสม็ด คาดว่าสถานการณ์น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีไม่เกินค่ำคืนนี้

ที่มา -