ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ทศพร วิศวเมธีกุล หญิงแกร่งบนแท่นปิโตรเลียมกลางทะเลอ่าวไทย

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 16, 17, 09:51:59 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

โดย...ดวงนภา ประเสริฐพงษ์

วิศวกรสาวร่างเล็กบนแท่นสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมกลางทะเลอ่าวไทย อาจไม่ใช่ภาพจำที่หลายคนคุ้นชินนัก แม้ในปัจจุบันจะเป็นยุคที่ผู้หญิงและผู้ชายต่างลุกขึ้นมาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันก็ตาม เนื่องด้วยสภาวะแวดล้อมการทำงานและการอยู่อาศัยที่ไม่ได้สะดวกสบายนัก ประกอบกับสังคมในการทำงานที่เพื่อนร่วมงานมากกว่า 95% เป็นผู้ชาย จึงต้องมีการปรับตัวเข้าหากันทั้งเรื่องงานและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน


วิศวกรปิโตรเลียม คือวิศวกรผู้ทำงานเกี่ยวกับการเจาะและการผลิตน้ำมันหรือก๊าชธรรมชาติขึ้นมาจากแหล่งกักเก็บใต้ผิวดิน ลักษณะงานมีทั้งภาคออกแบบ ศึกษา วางแผน และภาคสนาม

ในการเจาะและผลิตปิโตรเลียมนั้นจะใช้วิศวกรปิโตรเลียม เมื่อน้ำมันหรือก๊าซถูกขนส่งมาถึงโรงกลั่นแล้ว ช่วงนี้จะเรียกว่า Downstream วิศวกรเคมีจะทำหน้าที่กลั่นปิโตรเลียมออกเป็นองค์ประกอบต่างๆ จากนั้นนักปิโตรเคมีจะนำส่วนประกอบที่ได้จากการกลั่นไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เม็ดพลาสติก และ PVC เป็นต้น

เมืองไทยยังมีความต้องการวิศวกรปิโตรเลียมอยู่อีก เนื่องจากมีการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมขึ้นมาเรื่อยๆ อีกทั้งบริษัทน้ำมันหลายๆ แห่งรับคนไทยทดแทนตำแหน่งชาวต่างชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณงานจะค่อนข้างขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน ถ้าน้ำมันราคาตกก็จะหางานยากกว่าปกติ

ส่วนใหญ่วิศวกรปิโตรเลียมจะไม่ได้ทำงานที่แท่นเจาะหรือแท่นผลิตตลอดเวลา งานส่วนมากจะอยู่ภาคพื้นดินที่บริษัท จะออกไซต์งานบ้างเป็นครั้งคราว มีบางส่วนที่จะต้องออก Offshore เป็นประจำ เวลาเดินทางไปแท่นก็จะไปได้ 2 วิธี คือ นั่งเรือ หรือนั่งเฮลิคอปเตอร์

ผู้หญิงก็สามารถทำงานในฟิลด์นี้ได้เหมือนกัน ไม่มีปัญหา งานบางอย่างผู้หญิงทำได้ดีกว่าผู้ชายเสียอีก อย่างไรก็ตาม จำนวนวิศวกรปิโตรเลียมที่เป็นผู้หญิงมีจำนวนค่อนข้างน้อย

ความยากลำบากที่ว่าก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับ ทศพร วิศวเมธีกุล หรือตูน วิศวกรเครื่องมือวัดและควบคุม ฝ่ายบำรุงรักษาและตรวจสอบ โครงการบงกชใต้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม วัย 28 ปี เพราะเธอบอกว่าการทำงานต้องทำได้ทุกส่วน ยิ่งเรารักในงานนั้น เราต้องทำความรู้จักกับทุกพาร์ตของงานนั้นให้ครบถ้วน

ทศพร เล่าว่า เธอเริ่มทำงานกับ ปตท.สผ. ตั้งแต่ปี 2555 หลังจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มต้นจากการทำงานในตำแหน่งวิศวกรบนบก ทำงานอยู่ที่แหล่งปิโตรเลียมลานกระบือ จ.กำแพงเพชร และย้ายมาทำงานบนแท่นตั้งแต่ปี 2559

โดยการทำงานบนแท่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น ต้องใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอนบนแท่นกลางทะเลตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลารวม 21 วัน จากนั้นจึงจะได้หยุดพักผ่อนและกลับขึ้นฝั่งอีก 21 วัน และหลังจากนั้นก็กลับไปที่แท่นอีกครั้ง จะหมุนวนเช่นนี้ไปตลอด โดยในจำนวนนี้มีผู้หญิงปฏิบัติงานเพียง 5 คนเท่านั้น จากพนักงานทั้งหมด 200 กว่าคน

"การใช้ชีวิตบนแท่นและการปรับตัวในสังคมการทำงานที่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชายไม่ใช่อุปสรรค เพราะที่คณะตอนเรียนเพื่อนผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาในการทำงาน แต่ที่ต่างออกไปคือต้องใช้ชีวิตอยู่บนแท่นซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังเดียวกันกับเพื่อนร่วมงานตลอด 24 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ได้มีอะไรที่น่ากังวล เพราะระบบการดูแลเรื่องความปลอดภัยถือว่าดี มีห้องสำหรับผู้หญิงแบ่งชัดเจน เพื่อนร่วมงานก็ให้เกียรติกันมาก จริงๆ ชอบที่จะมาเรียนรู้หน้างานนะ" ทศพรเล่า

ทศพร บอกว่า สำหรับการทำงานนั้น เธอชอบทำงานที่ได้เห็นของจริง ได้แก้ปัญหาจริงๆ แต่การทำงานในออฟฟิศยังไม่ตอบสนองการเรียนรู้ของเธอ เพราะต้องขอข้อมูลจากคนที่อยู่หน้างาน ดังนั้นสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานนั้น การได้มาเห็นหน้างานและได้มาแก้ปัญหาจริงๆ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

"สถานการณ์ที่ตื่นเต้นที่สุดตั้งแต่เคยเจอระหว่างทำงานบนแท่น คือโปรดักชั่นแพลตฟอร์มที่ต้องทำงานตลอดเวลา เพราะต้องผลิตก๊าซตลอดเวลา เกิดมีปัญหาขึ้นมาทำให้ผลิตก๊าซไม่ได้ ขณะที่เราต้องผลิตก๊าซซัพพลายเพื่อขายและผลิตไฟฟ้าตลอดเวลา เวลาแพลนต์ชัตดาวน์ก็จะกดดันมาก เพราะปกติเวลาอยู่ในออฟฟิศเราจะไม่เจอสถานการณ์แบบนี้ แต่อยู่บนแท่นต้องแก้ไขสถานการณ์ให้กลับมาให้ได้ เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ทันที ส่วนเวลาเกิดปัญหาจะต้องมีทีมที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขทันที แม้เกิดปัญหาตอนกลางคืนก็ต้องพร้อม"

การทำงานเป็นทีมเวิร์ก เมื่อเกิดปัญหาเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ ทศพร ผ่านช่วงเวลาที่หนักหนาในการทำงานมาได้ เธอบอกว่าไม่เคยรู้สึกกดดันจากการทำงานจนทำให้ท้อใจ แต่จะเป็นความตื่นเต้นมากกว่า เมื่อเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินในแต่ละครั้ง เพราะต้องช่วยกันกู้สถานการณ์กลับมาให้เร็วที่สุด

"แม้ว่าจะเต็มที่กับการทำงานขนาดไหนก็ต้องมีการแบ่งเวลาพักผ่อนด้วย สำหรับกิจกรรมส่วนใหญ่ที่พนักงานบนแท่นทำเหมือนๆ กัน คือ การออกกำลังกาย เล่นดนตรี บางครั้งพวกผู้ชายเล่นโต๊ะบอลกัน เราก็ไปเล่นกับเขา ตอนเย็นๆ เลิกงานก็มีเล่นดนตรีด้วยกันบ้าง โดยเรารับหน้าที่เป็นนักร้องนำ เราอยากร้องเลยขอเขา ซึ่งพี่ๆ ก็ให้เราร้องด้วย กิจกรรมส่วนใหญ่ก็เป็นประมาณนี้ ช่วงหลังๆ มานี้เราก็มีการติวข้อสอบโทอิกกันด้วย ล่าสุดพิ่งสอบปิดคอร์สกันไป ก็ทำกันเองช่วยๆ กันติว พยายามหากิจกรรมมาทำร่วมกันตลอด ดังนั้นจึงไม่เบื่อเลยเวลาอยู่ที่นี่"


ส่วนประเด็นเรื่องของสวัสดิการและค่าตอบแทนของคนทำงานบนแท่นนั้น ทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้รับเท่าเทียมกัน เพราะการเดินทางมาปฏิบัติงานกลางอ่าวไทยที่ห่างไกลจากฝั่งกว่า 200 กิโลเมตร ต้องนั่งเฮลิคอปเตอร์มาที่แท่น และอยู่อาศัยในห้องพักใกล้แท่นขุดเจาะที่โอเปอเรตตลอดเวลา ถือว่าเป็นความเสี่ยงในการปฏิบัติงานอย่างหนึ่ง ดังนั้นค่าตอบแทนจึงมากกว่าพนักงานบนฝั่ง

ทศพร กล่าวว่า สำหรับคนที่อยากเป็นวิศวกรทำงานที่แท่นสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมแบบเธอนั้น สิ่งสำคัญคือครอบครัวต้องเข้าใจและสนับสนุนเต็มที่ เพราะเป็นธรรมดาที่ครอบครัวต้องเป็นห่วงมากเป็นพิเศษสำหรับผู้หญิงที่ต้องทำงานกลางทะเล และมีแต่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

"ส่วนตัวนั้นโชคดีที่ครอบครัวเข้าใจ และเมื่อมาทำงานก็ต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง ถึงแม้จะเป็นผู้หญิงรักสวยรักงาม แต่ก็ต้องพร้อมเลอะได้ทุกสถานการณ์ ส่วนการทำงานให้มีความสุขนั้นเธอยึดหลักการง่ายๆ คือ ต้องเปิดใจ อยู่ง่าย กินง่าย พร้อมปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง"

สำหรับการวางแผนชีวิตระยะยาวนั้น ทศพร บอกว่า เมื่ออายุมากขึ้นคงต้องกลับมาทำงานบนฝั่ง เพราะโดยปกติแล้วตำแหน่งที่เธอรับผิดชอบอยู่จะต้องมีการสลับสับเปลี่ยนคนทำงานเป็นประจำอยู่แล้ว โดยพนักงานจะปฏิบัติงานบนแท่นเฉลี่ย 3-5 ปี

ดังนั้น จึงไม่มีความกังวลว่าเมื่อแก่ตัวลงจะทำงานไม่ได้ ขณะเดียวกันเธอมองว่าการได้ลงไปปฏิบัติงานโดยเห็นสถานการณ์หน้างานทั้งยามปกติและยามฉุกเฉินเสมือนเป็นกำไรในชีวิตการทำงาน มากกว่าจะมองว่าเป็นความยากลำบาก เพราะทำให้เธอได้เห็นสถานการณ์จริงและได้ประสบการณ์จากหน้างาน เพื่อมีสติและหาวิธีแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม พร้อมกับได้เรียนรู้วิธีการต่างๆ จากเพื่อนร่วมงานอีกด้วย

"การใช้ชีวิตบนแท่นและการปรับตัวในสังคมการทำงานที่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชายไม่ใช่อุปสรรค เพราะที่คณะตอนเรียนเพื่อนผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาในการทำงาน"

"ถึงแม้จะเป็นผู้หญิงรักสวยรักงาม แต่ก็ต้องพร้อมเลอะได้ทุกสถานการณ์ ส่วนการทำงานให้มีความสุขนั้นเธอยึดหลักการง่ายๆ คือ ต้องเปิดใจ อยู่ง่าย กินง่าย พร้อมปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง"



ที่มา Data & Images -





..