ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

พิสูจน์สารพิษน้ำมันรั่ว...ตกค้างถึงอนาคต : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 12, 13, 21:24:58 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

"124 ครั้ง" ใน 13 ปี คือตัวเลขสถิติอุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหลที่เกินขึ้นในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ.2540-2553 ส่วนใหญ่เป็นการรั่วไหลระดับกลาง ปริมาณไม่เกิน 9 หมื่นลิตร สำหรับน้ำมันดิบที่รั่วไหลล่าสุดกลางทะเลระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีประมาณ 5-7 หมื่นลิตร ถือเป็นระดับกลางเช่นกัน ตามข้อมูลที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ยืนยันต่อสื่อมวลชน


"แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องมาจากน้ำมันแห่งชาติ" จัดระดับการรั่วไหลของน้ำมันเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 ปริมาณรั่วไหลไม่เกิน 2 หมื่นลิตร ระดับที่ 2 ปริมาณรั่วไหล 2 หมื่น-1 ล้านลิตร และระดับที่ 3 มากกว่า 1 ล้านลิตรขึ้นไป แม้จะเป็นเพียงระดับกลาง แต่คราบน้ำมันเคลื่อนเข้าถึงชายฝั่งทะเลเกาะเสม็ดอย่างรวดเร็ว ทำให้สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเป็นวงกว้าง กลุ่มนักวิชาการและเครือข่ายสิ่งแวดล้อมกลัวว่าผลกระทบไม่ได้มีแค่ต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งเท่านั้น แต่จะกระทบถึงชุมชนหรือผู้อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

หากมองด้วยตาเปล่า ดูเหมือนว่า "อ่าวพร้าว" เกาะเสม็ดจะกลับคืนสู่สภาพสวยงามดังเดิมแล้วก็ตาม แต่ไม่มีใครยืนยันชัดเจนว่า จะไม่มีผลกระทบด้านต่างๆ ติดตามมาอีก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ทีมนักวิชาการจากจุฬาฯ แถลงเรื่อง "สังคมไทย พร้อมหรือไม่ต่อการรับมือปัญหาน้ำมันรั่วไหลในทะเล" ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาเข้าร่วม ได้แก่ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ, สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม, สถาบันวิจัยสังคม, ศูนย์ความเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ, ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ฯลฯ

สุดท้ายได้นำเสนอ 5 ข้อ สำหรับรับมืออุบัติเหตุน้ำมันรั่วในอนาคต 1.ประเทศไทยต้องมีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในกรณีน้ำมันรั่วที่ชัดเจนและสมบูรณ์ครอบคลุมการแก้ปัญหาในทุกระดับ 2.จัดตั้ง "ศูนย์ข้อมูลกลาง" ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง 3.ให้ทุนวิจัยเร่งด่วนสำหรับนักวิชาการลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่จำเป็นสำหรับประเมินผลกระทบรอบด้าน 4.ทำวิจัยผลกระทบระยะกลางและระยะยาวทุกมิติเป็นเวลา 1 ปี โดยวิจัยแบบบูรณาการ 5.จัดทำ "แผนป้องกันและแก้ไขปัญหาระยะยาว"

ร.ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ยอมรับว่า ตอนนี้สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลใจมี 2 เรื่อง คือ 1.ปริมาณสารเคมีที่ใช้กำจัดคราบน้ำมัน และ 2.น้ำมันที่เกาะเป็นก้อนแข็งแทรกอยู่ตามซอกหินและทรายหรือดินตะกอนในท้องทะเลและชายฝั่ง

"สารกระจายคราบน้ำมัน (Dispersant) หรือสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดน้ำมันดิบรั่วครั้งนี้ ชื่อ ซิลิกอน (Slickgone NS)  ใช้โปรยลงไปจำนวน 3.2 หมื่นลิตร เพื่อกำจัดน้ำมัน 5 หมื่นลิตร ตามหลักการควรใช้แค่สัดส่วน 5-10 เปอร์เซ็นต์ ก็พอ แต่ครั้งนี้ใช้ไปมากกว่า 6 เท่า มันทำให้อนุภาคน้ำมันแตกตัวเล็กลงกว่าเดิม ก่อนตกตะกอนลงใต้ทะเล สารเคมีตัวนี้จะล้อมรอบเม็ดน้ำมันไปตลอด คงต้องมีตกค้างอยู่ในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน แต่เรื่องที่จะไปผสมในน้ำทะเลแล้วทำอันตรายแก่สัตว์ทะเลหรือพืชคงต้องพิสูจน์อีกครั้ง ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือ น้ำมันที่ยังตกค้างอยู่ตามพื้นทะเล ทรายหาด ตะกอนดินใต้ชายฝั่ง เพราะน้ำมันพวกนี้จะมีโลหะหนักและสารก่อมะเร็ง พีเอเอช หรือ โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน เป็นองค์ประกอบ"

นักวิชาการข้างต้น กล่าวเตือนว่า หากชาวบ้านคนไหนเก็บทาร์บอล หรือก้อนเม็ดน้ำมันสีดำเหนียวๆ ได้ตามชายหาด ไม่ควรสัมผัสโดยตรง แต่ให้รวบรวมไว้แล้วเก็บใส่ถุงให้มิดชิด ติดต่อ ปตท.ให้เอาไปจัดการอย่างถูกวิธี ส่วนในภาพรวมนั้น ตอนนี้เป็นเวลาของ "การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน" (Remediation) ชาวบ้านใช้สายตามองอาจเห็นหาดทรายดีขึ้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว เชื่อว่าต้องมีหลงเหลืออีกอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ มันหลบซ่อนอยู่ ดังนั้นขั้นตอนนี้จึงมี 2 ส่วนคือ

"การจัดการกับพื้นที่บริเวณชายฝั่ง" จัดเก็บทรายที่ปนเปื้อนน้ำมันออกจากพื้นที่ และการทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบ และจัดการกับซากพืชซากสัตว์ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นตามมา และ "จัดการกับตะกอนน้ำมันที่พื้นทะเล" ซึ่งทำได้ยาก ต้องมีการตรวจสอบเป็นระบบ โดยเริ่มจากคำถามถึง ปตท.ว่า น้ำมันดิบที่รั่วไหลนั้นมีองค์ประกอบของสารเคมีอะไรบ้าง ตอนนี้ยังไม่ได้คำตอบ คงต้องรอต่อไปก่อนจะหาวิธีเหมาะสมในการจัดการตะกอนเหล่านั้น และต้องหาต่อไปว่า ยังมีปริมาณน้ำมันอีกเท่าไหร่ที่แขวนลอยอยู่ในทะเล?

แม้กรมเจ้าท่าจะแถลงผลตรวจสอบคุณภาพน้ำเบื้องต้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา ว่าปลอดภัยแน่นอน เพราะมีน้ำมันปนเปื้อนอยู่แค่ 9.6 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมาตรฐานกำหนดไว้ที่ 15 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนอาหารทะเลไม่พบสารปนเปื้อนผิดปกติ แต่ดูเหมือนชาวบ้านยังไม่ค่อยสบายใจนัก นักท่องเที่ยวยังคงมีคำถามว่า "ปลาจากระยองหรือเปล่า?"

รศ.ดร.ไทยถาวร เลิศวิทยาประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า การใช้สารเคมีเข้มข้นจำนวนมากโปรยใส่ทะเลนั้น จะทำให้เกิดพิษเฉียบพลันขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสัตว์ตัวเล็กที่หนีไม่ทัน หรือสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่ไม่เคลื่อนตัวง่าย เช่น หอย ปะการัง แต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนกเกินไป ควรรอตัวเลขผลตรวจให้ชัดเจนเสียก่อน พร้อมกล่าวถึงโครงการพิเศษทิ้งท้ายไว้ว่า

"ตอนนี้พวกเรามีไอเดียว่าจะไปจับเอากุ้ง ปลา หอย และปะการัง แถวอ่าวพร้าวและบริเวณที่น้ำมันรั่วไหล มาเลี้ยงในห้องทดลอง แล้วลองใส่สารเคมีซิลิกอน ตัวเดียวกับที่ ปตท.ใช้กำจัดน้ำมันรั่วครั้งนี้ เพื่อพิสูจน์ว่าพวกมันมีปฏิกิริยากับสารเคมีตัวนี้อย่างไรบ้าง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เลี้ยงแล้วเก็บเนื้อเยื่อมาตรวจเช็กเป็นระยะ เพื่อทดสอบความเป็นพิษเบื้องต้น และดูว่าพิษสะสมไว้ในสิ่งมีชีวิตพวกนี้ได้นานแค่ไหน ตอนนี้เป็นแค่ไอเดียเบื้องต้น ไม่รู้ว่าจะได้ทำจริงหรือเปล่า" รศ.ดร.ไทยถาวร กล่าว


ทีมปฐมพยาบาลปลา

ทีมงาน "สัตวแพทย์จุฬาฯ ติดปีก" เดินทางไปสำรวจความเสียหายที่เกิดกับสัตว์ในบริเวณเกาะเสม็ด เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา เบื้องต้นไม่พบว่าสัตว์น้ำรอบเกาะเสม็ดตายหรือบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบสารปนเปื้อนต้องรอดูอย่างน้อย 3 เดือน จึงยืนยันได้ชัดเจน เพราะธรรมชาติของสัตว์ที่กินหรือหายใจดูดซึมสารพิษเข้าไป จะไม่ทำให้เสียชีวิตทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเต่าทะเลสามารถสะสมสารพิษเหล่านี้ได้ค่อนข้างนาน

ส่วนผลกระทบชัดสุด คือ ความเสียหายของปลาที่เลี้ยงในกระชัง เพราะว่ายน้ำหนีไม่ได้ ชาวบ้านรายงานว่า มีปลาเก๋าและปลากะพงตายไปหลายกระชัง รวมทั้งหอยนางรมที่อยู่บริเวณชายฝั่งแถบตะวันตกด้วย ทีมงานจึงช่วยรักษาเบื้องต้น โดยเลือกตัวที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ เช่น ฉีดยาปฏิชีวนะ ให้วิตามินแร่ธาตุเพื่อบำรุงตับ ไต ให้สามารถขับสารพิษได้ดี และให้ยาเคลือบทางเดินอาหารเพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ รวมทั้งให้สมุนไพรลดพิษไว้ผสมอาหารให้กิน ฯลฯ

ที่มา -