ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

คลังก๊าซLPGสยามแก๊สสะดุด ใกล้เส้นตาย 2 ปีให้ผ่อนผันเรือลอยน้ำ

เริ่มโดย mrtnews, มี.ค 04, 18, 10:55:31 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กรมธุรกิจพลังงาน หวั่นแผนสร้างคลังก๊าซ LPG ของบริษัทสยามแก๊สฯ ล่าช้า หลังต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่อไป ส่งผลกระทบสร้างคลังไม่ทันก่อนหมดเวลาผ่อนผันให้ใช้เรือก๊าซลอยน้ำได้อีก 3 ปีเท่านั้น ขณะที่กรมยืนยันไม่มีขยายเวลาให้แน่ เกรงผู้ค้าก๊าซรายอื่นร้องไม่เป็นธรรม ด้านดับบลิวพีฯยังไม่พร้อมนำเข้าก๊าซเอง ขอศึกษาความเหมาะสมก่อน


นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้เปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดโดยมีผู้นำเข้าก๊าซหลาย ๆ รายจากเดิมที่มีเพียง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียวนั้น โดยกรมธุรกิจพลังงานได้ "ผ่อนปรน" ข้อจำกัดให้กับผู้ค้าก๊าซ LPG กรณีให้บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP ให้สามารถนำเข้าก๊าซ LPG ด้วยการใช้เรือก๊าซลอยน้ำ (floating storage) ลอยลำตรงบริเวณเหนืออ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี ได้ไม่เกิน 3 ปีเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซ LPG และเพื่อให้ผู้ค้าก๊าซมีเวลาเตรียมความพร้อมในการสร้างท่าเรือและคลังก๊าซของตัวเอง เบื้องต้นกรมธุรกิจพลังงานได้รับรายงานว่า ที่ดินที่บริษัทสยามแก๊สฯ เตรียมไว้สำหรับก่อสร้างคลังก๊าซ LPG ยังอยู่ระหว่างการทำความเข้าใจกับประชาชนและอาจจะไม่สามารถสร้างคลังได้ทันตามกรอบเวลาที่ผ่อนผันให้ไว้

ล่าสุด กรมธุรกิจพลังงาน ยังคงยืนยันที่จะ "ไม่ขยายเวลา" ผ่อนปรนการนำเข้าก๊าซ LPG ด้วยเรือลอยน้ำให้กับบริษัทสยามแก๊สฯ นั้นหมายถึง เรือ floating storage ลำดังกล่าวจะดำเนินการได้จนถึงปี 2563 เท่านั้น สำหรับเหตุผลที่ไม่สามารถขยายเวลาได้นั้นเป็นเพราะกรมอาจจะถูกร้องเรียนจากผู้ค้าก๊าซ LPG รายอื่น ๆ ว่า "ไม่เป็นธรรม" ในการสร้างความได้เปรียบในการนำเข้าก๊าซ LPG ให้กับรายใดรายหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะมีการประกาศเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG อย่างเป็นทางการได้มีผู้ค้าก๊าซบางรายยืนยันจะดำเนินการนำเข้าก๊าซ LPG เองบ้าง รวมถึงจะมีการร่วมมือในกลุ่มธุรกิจก๊าซ LPG ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อร่วมกันนำเข้าก๊าซด้วย อาทิ ในกรณีของบริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP, บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึง บริษัท ยูนิคแก๊ส แอนด์ปิโตรเคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังคงมีผู้นำเข้าก๊าซ LPG หลักเพียง 2 รายคือ บริษัท ปตท. กับบริษัทสยามแก๊สฯ เท่านั้น

"เมื่อมีผู้เล่นในตลาดนี้มากขึ้น ทำให้เรามีตัวเปรียบเทียบว่า ราคาก๊าซ LPG ที่ใช้ในปัจจุบันนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งประชาชนก็จะได้รับประโยชน์เต็ม ๆ จากการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ครั้งนี้ ดังนั้นสิ่งที่กรมธุรกิจพลังงานอยากเห็นก็คือ การมีผู้ค้าก๊าซรายอื่น ๆ เข้ามาแข่งขัน มีการนำเข้าก๊าซเพิ่มขึ้นจากที่มีเฉพาะ ปตท.กับสยามแก๊สฯ ที่นำเข้าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา" นายวิฑูรย์กล่าว

กรณีปัญหาการใช้ที่ดินเพื่อสร้างคลังก๊าซของสยามแก๊สฯปรากฏ บริษัทสยามแก๊สฯ ได้เข้าหารือกับบริษัท ปตท. เพื่อขอใช้คลังก๊าซเขาบ่อยาเป็นแนวทางสำรองไว้แล้ว ซึ่งในกรณีนี้เชื่อว่า ปตท.อาจจะพิจารณาปรับลดราคาอัตราค่าบริการต่าง ๆ ของคลังเขาบ่อยาลงบ้างเพื่อทำให้ต้นทุนการนำเข้าก๊าซโดยใช้คลังเขาบ่อยามีต้นทุนที่ "ถูกกว่า" การใช้แนวทางอื่น ซึ่งในอนาคตอาจจะทำให้มีผู้ค้าก๊าซรายอื่น ๆ นอกเหนือไปจากบริษัทสยามแก๊สฯ เข้ามาเจรจาเพื่อขอใช้คลังเขาบ่อยาเพิ่มขึ้น ยิ่งในกรณีที่ผู้ใช้มากกว่า 1 รายมีความเป็นไปได้มากกว่า ปตท.อาจจะปรับลดอัตราค่าบริการอื่น ๆ ให้ลดลงได้อีก ฉะนั้นราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศน่าจะมีโอกาสลดลงได้เช่นกัน

นอกจากนี้ นายวิฑูรย์กล่าวเพิ่มเติมถึงการใช้ก๊าซ LPG ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 17 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.4 โดยมีการใช้เพิ่มขึ้นในทั้งทุกภาค "ยกเว้น" ในภาคขนส่งที่มีการใช้อยู่ที่ 3.6 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือปรับลดลงร้อยละ 10 ส่วนการใช้ก๊าซ LPG ในภาคอื่น ๆ มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคปิโตรเคมีการใช้เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 5.7 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.8 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 และภาคครัวเรือนอยู่ที่ 5.9 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือการใช้เพิ่มขึ้น 2.1

"จะเห็นได้ว่า ความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่งยังลดลงต่อเนื่อง หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ จนตอนนี้ปั๊มก๊าซ LPG หลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนหัวจ่ายมาเป็นน้ำมันโดยเฉพาะในปั๊มที่มีพื้นที่มาก จะมีหัวจ่ายทั้งน้ำมันและก๊าซ LPG เพื่อให้บริการลูกค้า ซึ่งหากมองในทางกลับกันในอนาคตถ้าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นก็สามารถเปลี่ยนมาขายก๊าซ LPG ได้อีก" นายวิฑูรย์กล่าว

ด้านนายนพวงศ์ โอมาธิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทดับบลิวพีฯยังคงอยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสมและเปรียบเทียบต้นทุนการนำเข้าก๊าซ LPG แต่ละแนวทางว่าเป็นอย่างไร "ตอนนี้เรายังซื้อก๊าซ LPG จากทั้ง ปตท.และโรงกลั่นอื่น ๆ ในประเทศอยู่" นายนพวงศ์กล่าว



ที่มา Data & Images -




WP มองกำไรปี 61 โตตามวอลุ่มขายเพิ่มราว 3%,เล็งนำเข้า LPG รองรับส่งออก-เปิดตัวธุรกิจใหม่ปีนี้

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 2 มีนาคม 2561 - นายนพวงศ์ โอมาธิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) ผู้จำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายใต้แบรนด์"เวิลด์แก๊ส" เปิดเผยว่า บริษัทคาดหวังว่ากำไรสุทธิปีนี้จะเติบโตกว่าระดับกำไรสุทธิ 131.96 ล้านบาทในปี 59 หลังตั้งเป้าหมายปริมาณขาย LPG เติบโตราว 3% มาอยู่ที่กว่า 9 แสนตัน จากปีก่อนที่ทำได้ 8.8 แสนตัน ขณะที่ราคาขายในปีนี้คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 15-16 บาท/กิโลกรัม จากเฉลี่ย 16 บาท/กิโลกรัมในปีที่ผ่านมา


นอกจากนี้ ในปีนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษเหมือนในปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายจ้างที่ปรึกษาในการนำหุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณ 60 ล้านบาท รวมถึงค่าเช่าคลัง LPG ที่จะลดลงเหลือราว 20 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีค่าเช่าคลังประมาณ 30 ล้านบาท หลังจากที่การขยายคลัง LPG 2 แห่งแล้วเสร็จเมื่อปีที่ผ่านมา

"ปีนี้เราประเมินวอลุ่มยอดขาย LPG โตแค่ 3% เพราะตลาดในประเทศมี sector ที่ลง และ sector ที่ grown up แต่ grown up น้อย เราจึงมามองส่งออกมากเป็นพิเศษ ตอนนี้เราเป็นตัวกลางก็จริง แต่ในอนาคตเรามองการนำเข้ามาเพื่อส่งออกเอง ในใจอยากให้เห็นในปีนี้อยากเห็นเกิดขึ้นจริง ๆ ในปีนี้ แต่ตอนนี้เราเห็นตัวเลขการเป็นตัวกลางการส่งออกมีอยู่แล้ว เราคาดว่าหวังว่าปีนี้น่าจะทำได้กว่า 1 หมื่นตัน...เราอยากนำเข้ามาใช้เองด้วย และส่งออกด้วย เพียงแต่ว่าที่ง่ายและอยากจะ pilot ก่อน คืออยากจะนำเข้ามาเพื่อส่งออกก่อน เพราะการนำเข้าเพื่อส่งออก เป็นการนำเข้ามาผ่านที่ใดที่หนึ่งแล้วเอาเข้าคลังทัณฑ์บน เป็น process เหมือนกันหมดที่ทำให้เราเรียนรู้ได้ 2 ทางว่าถ้าเราจะนำเข้ามาเพื่อมาใช้ในประเทศ วันที่ราคาคุ้มค่าก็สามารถทำได้เลย"นายนพวงศ์ กล่าว

นายนพวงศ์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายปริมาณขาย LPG ในช่วง 3 ปี (ปี 61-63) จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 3% และมีส่วนแบ่งตลาดระดับ 21-22% ซึ่งเป็นส่วนแบ่งตลาดเฉพาะแบรนด์เป็นอันดับ 2 ของตลาด รองจากบมจ.ปตท. (PTT) ขณะเดียวกันก็จะเน้นการส่งออกมากขึ้น โดยปีนี้มีเป้าหมายการส่งออก 12,000 ตัน จากทั้งปี 60 ที่ส่งออกเพียง 200 ตันเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันการส่งออกเป็นรูปแบบของการเป็นตัวกลางในการส่งออก ซึ่งเป็นลักษณะขายส่งไปยังลาว ,เมียนมา และจะขยายไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ที่ตลาดมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก โดยคาดว่าสัดส่วนการส่งออกจะเพิ่มเป็น 5% ของปริมาณขายรวมในปี 63 จากราว 1% ในปีนี้

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลเปิดเสรีธุรกิจ LPG โดยให้มีการนำเข้าเพื่อส่งออกและขายในประเทศได้นั้น บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งการจะนำเข้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับต้นทุนนำเข้า LPG คุ้มค่าหรือไม่เมื่อเทียบกับการจัดหาจากในประเทศ ที่ปัจจุบันซื้อ LPG จากโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้การนำเข้ามายังต้องมีจุดรับ LPG ซึ่งอาจเป็นจุดลอยเรือ หรือการเช่าใช้คลัง LPG ของกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งต้องพิจารณาความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ และสามารถแข่งขันได้หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นก็อยากจะทดลองนำเข้าเพื่อส่งออกในระดับหลักพันตัน โดยคาดหวังจะเกิดขึ้นได้ในปีนี้

สำหรับความต้องการใช้ LPG ในประเทศภาพรวมคาดว่าจะขยายตัวไม่มาก โดยในตลาดยานยนต์ มองว่าการใช้ LPG จะยังหดตัวอีกเล็กน้อย จากปีก่อนที่หดตัวลงไปมากกว่า 2 digit หลังผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น แต่บริษัทก็จะยังให้ความสำคัญกับกลุ่มยานยนต์อยู่เพื่อรักษาฐาน และรักษาคุณภาพการให้บริการ จากปัจจุบันที่เป็นผู้ขายส่งให้กับสถานีบริการ LPG ต่างๆ ขณะที่บริษัทมีสถานีบริการ LPG ของตัวเองเพียง 2 แห่งที่จะยังคงมีอยู่เพื่อรักษาแบรนด์

ส่วนกลุ่มครัวเรือน คาดว่าความต้องการใช้จะขยับขึ้นเล็กน้อย ซึ่งบริษัทนับว่ามีจุดแข็งที่มีคลังอยู่กระจายในหลายพื้นที่ โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ขณะที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณขายไม่ถึง 10% ของปริมาณขายรวมใน 2 ภาคดังกล่าว ซึ่งการขยายคลัง LPG ในจ.ขอนแก่นที่เพิ่งแล้วเสร็จในปีที่แล้ว ก็คาดว่าจะเพิ่มโอกาสการขยายตลาดได้อีกมาก ส่วนในภาคเหนือจะเน้นการหาพันธมิตรใหม่ในการใช้คลังหรือโรงบรรจุก๊าซ LPG ร่วมกันเพื่อสร้างเครือข่ายและเพิ่มปริมาณการขายมากขึ้น

ด้านภาคอุตสาหกรรมก็ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทจะรุกตลาดมากขึ้นตั้งแต่การช่วยออกแบบโรงงาน เพื่อรองรับการใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิง รวมถึงการขยายสัญญาซื้อขายระยะยาวให้มากขึ้น

ปัจจุบัน WP มีคลังก๊าซ LPG 5 แห่งใน 4 จังหวัด ขนาดรวม 8,989 ตัน ได้แก่ จ.ลำปาง ,จ.ขอนแก่น ,อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เฟส 1 และเฟส 2 และจ.สมุทรสงคราม ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการก่อสร้างคลังแห่งใหม่ ในอ.บางปะกง เป็นเฟสที่ 3 ขนาด 9,500 ตัน โดยใช้เงินลงทุนราว 550 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 62 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความสามารถบรรจุก๊าซเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 18,000 ตัน

สำหรับการก่อสร้างคลัง LPG เพิ่มขึ้นนั้นเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ต้องเก็บสำรอง LPG ตามกฎหมายเพิ่มเป็น 2% ของปริมาณการค้าประจำปีในปี 64 จากปัจจุบันที่เก็บสำรอง 1% ของปริมาณการค้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีคลังสำรองไม่เพียงพอรองรับการจัดเก็บสำรองตามกฎหมาย ทำให้ต้องเช่าคลังอื่นในการเก็บสำรองโดยมีต้นทุนค่าเช่าราว 20-30 ล้านบาท/ปี แต่คาดว่าค่าเช่าคลังดังกล่าวจะลดลงเป็นราว 20 ล้านบาท/ปีในปีนี้ หลังการก่อสร้างคลัง LPG จำนวน 2 แห่งแล้วเสร็จเมื่อปีก่อน และเมื่อการก่อสร้างคลังบางปะกง เฟส 3 แล้วเสร็จ ก็ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเช่าใช้คลังอื่นสำรอง LPG ตามกฎหมายต่อไป

นายนพวงศ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาแผนธุรกิจใหม่เพื่อต่อยอดธุรกิจสู่บริษัทพลังงานครบวงจร ได้แก่ กองเรือเพื่อรองรับธุรกิจการนำเข้า-ส่งออก LPG ซึ่งจะเป็นเรือขนาดเล็ก ,ธุรกิจการให้บริการที่เกี่ยวกับ LPG ตรวจสอบและซ่อมบำรุงถังก๊าซ ,ธุรกิจอื่น ๆ ด้านพลังงาน โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมองโอกาสการร่วมลงทุนกับผู้ที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดกว่า 800 ล้านบาท และมีฐานะการเงินที่แข็งแรงขึ้นก็เชื่อว่าจะสามารถรองรับการลงทุนในอนาคตได้

"ปี 61 เราอยากจะเห็นอะไรบางอย่างจากแผนธุรกิจใหม่ ซึ่งต้องมีลำดับขั้น มีการศึกษา ซึ่งคงต้องรอขออนุมัติจากบอร์ดแล้วจะสามารถเปิดเผยให้ public ได้"นายนพวงศ์ กล่าว



ที่มา Data & Images -





..