ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

พลังงานหมุนเวียนจะมีบทบาทในพลังงานโลกสูงขึ้นในอนาคต

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 23, 13, 19:25:15 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เมื่อเดือนมิถุนายน 56 ที่ผ่านมา ทบวงพลังงานสากลหรือ International Energy Agency (IEA) ได้ออกรายงานฉบับที่สองของปีนี้ เกี่ยวกับภาพรวมของตลาดพลังงานหมุนเวียนในระยะปานกลาง (5 ปี) ที่เรียกว่า Medium-Term Renewable Energy Market Report (MTRMR) โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับบทบาทของพลังงานหมุนเวียนในอนาคต ผมเห็นว่าน่าสนใจ จึงขอนำมาเรียบเรียงเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้ครับ


ในรายงานฉบับนี้ IEA ทำนายว่า ในปี ค.ศ. 2016 (อีกสามปีจากนี้ไป) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก (ไม่ว่าจะด้วยน้ำ ลม แสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ) จะมีสัดส่วนสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าโดยก๊าซ และจะสูงเป็นสองเท่าของการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์

IEA ยังบอกอีกด้วยว่า ถึงแม้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะมีอุปสรรคทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ก็จะยังคงขยายตัวในระดับสูงถึง 40% ใน 5 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันเป็นภาคการผลิตไฟฟ้าที่ขยายตัวเร็วที่สุด และจะมีสัดส่วนเกือบ 25% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2018 (มากกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในปี 2011 ว่าจะอยู่ที่ 20%)

ที่น่าสนใจคือสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ใช่พลังงานจากน้ำ (non-hydro) อาทิ ลม แสงอาทิตย์ bioenergy และ geothermal ก็จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 2% และ4% ในปี 2006 และ 2011 ตามลำดับ เป็น 8% ในปี 2018 อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เนื่องมาจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะถูกลง และสามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าใหม่ๆที่ใช้พลังงานจากฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับวงการพลังงานโลก ที่กำลังต้องการเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้นและหลากหลายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในรายงานฉบับนี้ก็ได้กล่าวเตือนถึงอุปสรรคและความท้าทายของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนว่ายังมีอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของนโยบาย

โดย IEA ได้ยกตัวอย่างหลายประเทศในยุโรปที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน และความต้องการพลังงานลดลง ทำให้มีการถกเถียงถึงความเหมาะสมของนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานหมุนเวียน

ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผู้อำนวยการบริหารของ IEA (Executive Director) ออกมาระบุว่า "ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย คือศัตรูสาธารณะอันดับหนึ่งของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน"

เธอบอกว่า "พลังงานหมุนเวียนหลายชนิดไม่ได้ต้องการแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์มากมายอีกต่อไป แต่ต้องการนโยบายระยะยาว ที่สามารถสร้างตลาดที่มีความน่าเชื่อถือและคาดทำนายได้ (predictable and reliable market) รวมทั้งมีกรอบของกฏกติกาในการควบคุมดูแล (regulatory framework) ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของสังคม

เธอยังบอกอีกว่า "ทุกวันนี้ ทั่วโลกมีการอุดหนุนเชึ้อเพลิงจากฟอสซิลมากกว่าพลังงานหมุนเวียนถึงหกเท่าเลยทีเดียว"

ในรายงานยังได้กล่าวถึงความสำเร็จที่น่าประทับใจของการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนในปี 2012 โดยระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของโลกในปีที่แล้วเติบโตถึง 8% หรือเท่ากับ 4,860 TWh มากกว่าความต้องการไฟฟ้าของประเทศจีนทั้งประเทศ

ปัจจัยหลักที่ IEA เห็นว่าเป็นพลังขับดันที่สำคัญที่นำไปสู่ภาพที่สดใสของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคตก็คือ

1. การเร่งตัวของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging markets) โดยเฉพาะความต้องการด้านไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพลังงานหมุนเวียนคือคำตอบสำหรับการแสวงหาแหล่งพลังงานที่หลากหลาย (energy diversification) การลดมลภาวะและการช่วยลดภาวะโลกร้อน

โดย IEA คาดว่าประเทศที่จะเป็นผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนับจาก นี้จนถึงปึ 2018 คือ จีน และประเทศนอกกลุ่ม OECD ซึ่งคาดว่าจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมกันสูงถึงสองในสามของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ซึ่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นของประเทศเหล่านี้จะมากเกินพอที่จะทดแทนการเติบโตที่ลดลงและความผันผวนที่จะเกิดขึ้นจากประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

2. นอกจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ geothermal และ bioenergy ซึ่งสามารถแข่งขันกับพลังงานฟอสซิลได้เป็นอย่างดีแล้ว พลังงานหมุนเวียนขนิดอื่นก็มีแนวโน้มที่จะแข่งขันในเชิงต้นทุนได้ดีขึ้น ในสถานการณ์ต่างๆ ที่กว้างขวางมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น พลังงานลมสามารถแข่งขันได้ดีกับโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลใน   หลายๆตลาด อย่างใน บราซิล ตุรกี และนิวซีแลนด์

พลังงานแสงอาทิตย์ก็น่าลงทุนในตลาดที่ค่าไฟฟ้ามีราคาสูงมาก อย่างเช่น การผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน เป็นต้น หรือการกระจายการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เซลแสงอาทิตย์แบบsolar photovoltaic ก็มีต้นทุนที่ต่ำกว่าราคาขายปลีกของค่าไฟฟ้าในหลายๆ ประเทศเป็นต้น

จะเห็นได้ว่าอนาคตของพลังงานหมุนเวียนในสายตาของ EIA นั้น นับวันมีแต่จะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะเป็นจุดแข็งของประเทศในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่จะลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลให้น้อยลง


แต่อย่างที่ผู้บริหารสูงสุดของ IEA ได้ระบุไว้ ศัตรูอันดับหนึ่งของพลังงานหมุนเวียนคือนโยบายที่ไม่ต่อเนื่องของรัฐบาล และทั่วโลกยังมีการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลมากกว่าพลังงานหมุนเวียนถึงหกเท่า

ดังนั้นถ้าเราต้องการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนและอยากเห็นพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นในบ้านเราอย่างเป็นรูปธรรม ก็คงต้องเร่งกำจัดอุปสรรคเหล่านั้นให้หมดไปโดยเร็วเสียก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของการอุดหนุนราคาพลังงาน

พูดมาถึงตรงนี้ ผมยังไม่มั่นใจเลยว่าเดือนหน้าจะขึ้นราคาแอลพีจีได้หรือเปล่า !!!

มนูญ ศิริวรรณ

ที่มา -