ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

การลงทุนโรงแยกก๊าซโรงที่ เจ็ด ของ ปตท.

เริ่มโดย mrtnews, ก.ย 27, 13, 18:46:26 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ข้อกล่าวหาหนึ่งที่ทางฝ่ายผู้คัดค้านการปรับราคาก๊าซแอลพีจียกขึ้นมากล่าวอ้างก็คือ การดำเนินการสร้างโรงแยกก๊าซล่าช้า โดยเฉพาะโรงแยกก๊าซโรงที่เจ็ดที่อยู่ในแผนการลงทุนของปตท. แต่ได้มีการชะลอโครงการออกไป จนทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ เพราะโรงแยกก๊าซที่มีอยู่หกโรงได้ใช้งานอย่างเต็มกำลังการผลิตแล้ว จึงต้องปล่อยให้นำก๊าซธรรมชาติที่เหลือส่งไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยตรง และะต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก นับเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล


ประเด็นนี้ถ้ามองในแง่ของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแล้ว ก็ฟังดูน่าเชื่อว่าปตท.ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ แต่การลงทุนในระดับหลายหมื่นล้านและเป็นการลงทุนของบริษัทมหาชนซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยนั้น คงต้องมองปัจจัยอื่นๆในระยะยาวประกอบด้วย จึงมีประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาดังต่อไปนี้

1. ปริมาณก๊าซที่เหลือจากการป้อนเข้าโรงแยกก๊าซทั้งหกโรงและส่งตรงเข้าระบบท่อโดยตรง หรือที่เรียกว่า Bypass Gas นั้นลดลงโดยตลอด

ตามตัวเลขของปี 2555 เราผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในปริมาณ 3,600 ล้านลบ.ฟุต/วัน ส่งเข้าโรงแยกก๊าซ 2,540 ล้านลบ.ฟุต/วัน ส่งตรงเข้าระบบท่อ 1,050 ล้านลบ.ฟุต/วัน ปี 2556 ปริมาณก๊าซที่ส่งเข้าโรงแยกก๊าซเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านลบ.ฟุต/วัน ทำให้ปริมาณ Bypass Gas ลดลงเหลือเพียง 600 ล้านลบ.ฟุต/วัน

ถ้าจะนำก๊าซจำนวนนี้ป้อนเข้าระบบท่อ ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ก๊าซที่มีมูลค่าสูงออกมาทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่เกือบ 80%จะเป็นก๊าซมีเทนซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างเดียว คงมีเพียง 20% เท่านั้นที่แยกออกมาเป็นก๊าซอีเทน โพรเพน บิวเทน และแอลพีจี ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้น

ดังนั้นจากปริมาณ Bypass Gas ที่เหลืออยู่ในปัจุบัน 600 ล้านลบ.ฟุต/วัน เราก็จะแยกออกมาเป็นก๊าซมูลค่าสูงได้เพียง 120 ล้านลบ.ฟุต/วันเท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้ก็ไม่ใช่ก๊าซแอลพีจีทั้งหมดอย่างที่เข้าใจกันแต่อย่างใด

2. นอกจากปริมาณก๊าซที่ได้จากโรงแยกก๊าซใหม่จะไม่มากแล้ว ยังมีการคาดการว่าปริมาณก๊าซที่ผลิตได้จากอ่าวไทยจะลดลงไปเรื่อยๆนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 เป็นต้นไป โดยจะลดงจากระดับ 3,600 ล้านลบ.ฟุต/วันในปัจจุบัน จนเหลือระดับ 3,000 ล้านลบ.ฟุต/วันในปีพ.ศ. 2561 (ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่ป้อนเข้าโรงแยกก๊าซอยู่ในปัจจุบัน) และจะลดลงไปเรื่อยๆจนต่ำกว่าระดับ 1,000 ล้านลบ.ฟุต/วัน ในปีพ.ศ. 2567 หรืออีกเพียง 10 ปีนับจากนี้ไป (ดูตารางประกอบ)

นั่นหมายความว่าถ้ามีการลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซโรงที่เจ็ด กว่าโรงแยกก๊าซใหม่จะสร้างเสร็จ (ซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ป๊ รวมทำ EIA) ในปี พ.ศ. 2561 ก็จะมีก๊าซไม่เพียงพอที่จะป้อนเข้าโรงแยกก๊าซที่สร้างขึ้นมาใหม่ และหลังจากนั้นปริมาณก๊าซในอ่าวไทยก็จะลดลงไปเรื่อยๆ

3. สัมปทานการขุดเจาะ สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยของผู้รับสัมปทานกำลังจะหมดอายุลงภายในอีกแปดปีข้างหน้า และไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีก ต้องมีการเปิดประมูลใหม่เท่านั้น ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงทั้งในเรื่องปริมาณสำรองก๊าซที่ลดน้อยลง และเงื่อนไขของการขอรับสัมปทานใหม่และการจ่ายค่าตอบแทน ตลอดจนการกดดันจากภาคประชาสังคมในเรื่องของการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และการเรียกร้องให้มีการทบทวนการแบ่งปันผลตอบแทนการให้สัมปทานปิโตรเลียมให้สูงขึ้น ทำให้การลงทุนใหม่ๆในธุรกิจพลังงานต้นน้ำเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก

4. การที่รัฐบาลยังคงกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีหน้าโรงแยกก๊าซไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน (ทั้งๆที่ได้มีการค่อยๆปรับราคาขายปลีกแอลพีจีภาคครัวเรือนขึ้นมาแล้วก็ตาม) ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาต้นทุนของโรงแยกก๊าซซึ่งอยู่ที่ 550 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้ผู้ประกอบการไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุนในโครงการโรงแยกก๊าซโรงที่เจ็ด เพราะเห็นตัวเลขชัดเจนว่าขาดทุนแน่นอน

ประกอบกับขณะนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ปากหลุม (Well Head) ซึ่งถูกผูกสูตรราคาซึ้อขายเอาไว้ โดยอิงกับราคาน้ำมันเตาย้อนหลังหกเดือนและอัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มสูงขึ้นมาก แม้กระทั่งราคาใน Pool 1 ซึ่งเป็นราคาที่ถูกที่สุด ยังมีราคาแพงกว่าก๊าซ LNG ที่นำเข้าเสียอีก จึงยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะมีการลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซใหม่ขึ้นมาในขณะนี้

จากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซโรงที่เจ็ดซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงระหว่าง 10,000-20,000 ล้านบาท (ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงแยกก๊าซ) นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการมีก๊าซมากแล้วไม่ได้นำมาใช้ให้คุ้มค่าอย่างที่พูดๆกันในสื่อสังคมหรือ Social Media เท่านั้น

แต่ยังเกี่ยวพันกับนโยบายปิโตรเลียมในภาพรวมทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องของการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมทึ่มีอยู่แล้วและการเปิดสัมปทานในแหล่งใหม่ ว่าจะดำเนินการอย่างไร มีเงื่อนไขอย่างไร กำหนดวิธีการอย่างไรให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสีย (Stake Holders) เข้ามามีส่วนร่วม และดำเนินการอย่างไม่ชักช้า เพราะระยะเวลาก่อนหมดอายุสัมปทานเหลืออยู่ไม่นานแล้ว

สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ต้องให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด ไม่ให้เกิดการสะดุดหรือขาดตอนของการจัดหาหรือจัดส่งปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติจากผู้รับสัมปทานรายเดิมไปยังผู้รับสัมปทานรายใหม่ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่มีความยุ่งยากและท้าทายมากที่สุด

ซึ่งเท่าที่ทราบ ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆในเรื่องนี้จากกระทรวงพลังงาน และยังไม่มีข้อเสนอแนะหรือการริเริ่มใดๆจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเริ่มกันได้แล้วนะครับ

เพราะระยะเวลาที่เหลืออยู่แปดปีไม่มากเลยนะครับ สำหรับเรื่องใหญ่ๆที่มีคนคอยจ้องจับดูตาไม่กระพริบแบบนี้ !!!

มนูญ ศิริวรรณ

ที่มา -