ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ขนส่งทางน้ำกับงบ 20,000 ล้านบาท

เริ่มโดย mrtnews, ก.ย 28, 13, 21:30:18 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

แม้ส่วนใหญ่ของร่างพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจะใช้ลงทุนกับการคมนาคมระบบรางแต่ก็ส่วนหนึ่งหรือราว ๆ 20,000 ล้านบาทจะถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำ "ทีมข่าวการเมืองเดลินิวส์" ได้สัมภาษณ์ พ้อง ชีวานันท์ รมช.คมนาคมในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลด้านการคมนาคมทางน้ำ


โครงการ 2 ล้านล้านบาทในส่วนทางน้ำมีอะไรบ้าง

โครงการ 2 ล้านล้านบาทเป็นโครงการที่ต้องการปรับปรุงโครงสร้างการขนส่งของประเทศ พอผมมาเป็นรมช.คมนาคมก็ได้รับผิดชอบในส่วนของทางน้ำ แล้วพอดี 2 ล้านล้านบาทมีส่วนของทางน้ำอยู่ส่วนหนึ่ง ผมก็เลยมาจับตรงนี้เป็นหลัก ในส่วนที่ผมดูแลรับผิดชอบมีอะไรปรากฏว่า 2 ล้านล้านบาทเฉพาะในส่วนของทางน้ำมีงบประมาณราว 20,000 ล้านบาท แต่ถ้าถามว่าใน 20,000 ล้านบาทสามารถที่จะปรับการขนส่งมาเป็นทางน้ำแล้วประเทศได้อะไร ผมว่าได้มหาศาล เพราะว่าสิ่งที่เรามองข้ามไปหรือไม่ได้ไปมองตรงที่ศักยภาพของลำน้ำในประเทศ เราได้มองข้ามไปไม่ได้หันมาสนใจตรงนี้แม้ว่าจะสนใจแต่ก็มองไปก็เป็นปัญหา แต่เที่ยวนี้สิ่งที่จะเห็นชัดเจนก็คือ 20,000 ล้านบาทจะมาทำทั้งลำน้ำภาคกลางลุ่มน้ำป่าสัก ปรับปรุงทางเหนือท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย ทางใต้ไม่ว่าจะเป็นปากบารา จ.สตูล จ.ชุมพร จ.สงขลา แล้วก็มาทางแหลมฉบัง ตรงนี้มองแล้วแต่ละจุดสามารถเกี่ยวโยงเข้ากับแหลมฉบังได้เพราะแหลมฉบังขณะนี้ถือว่าเป็นท่าเรือระดับสากล เป็นที่ยอมรับว่ามีศักยภาพเป็นท่าสำหรับขนสินค้าเข้าออกแต่เรายังจะต้องทำให้เป็นท่าซึ่งสามารถมีการขนถ่ายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป ฉะนั้นการเพิ่มศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบังในลำน้ำภายในประเทศ เพิ่มศักยภาพของท่าชายฝั่งจะช่วยเชื่อมโยงทำให้เอกชนหรือผู้ประกอบการหันมาให้น้ำหนักการขนส่งทางน้ำมากขึ้นเพราะมูลค่าในการขนส่งทางน้ำ ต้นทุนถูกกว่าทางบก

แสดงว่ามีแผนการพัฒนาตรงส่วนนี้ไว้หมดแล้ว

มีแล้ว ท่าเรือแหลมฉบังก็มีแล้วแม้ไม่มี 2 ล้านล้านบาทก็มีแผนอยู่

เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทจะมาช่วยเพิ่มศักยภาพทางน้ำได้อย่างไร

ผมยกตัวอย่างเอาง่าย ๆ ให้เห็นชัดเจนคือ ลำน้ำป่าสัก ขณะนี้ในบรรดาผู้ประกอบการไม่ว่าข้าว ถ่านหิน ข้าวโพด ซีเมนต์ ขณะนี้มีการทำอยู่แล้ว จากลำน้ำป่าสักแถว จ.พระนครศรีอยุธยา ก็จะขนจากท่าบริเวณ อ.นครหลวง ใช้ลำน้ำป่าสักขนออกมาแล้วก็มาแหลมฉบังหรือขนออกมาแล้วลงใต้ไป จ.สงขลา แต่ความลึกของร่องน้ำในลำน้ำป่าสักเป็นข้อจำกัดในปริมาณการขนสินค้าในแต่ละเที่ยวแต่ละลำ ขณะเดียวกันศักยภาพของลำน้ำป่าสักสามารถทำให้มีร่องน้ำลึกเพื่อรับสินค้าในเพิ่มมากขึ้นได้ ขณะที่ยังไม่มีการพัฒนาปรับปรุง จากเดิมในลำน้ำป่าสักมีการขนส่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว 10 กว่าล้านตันต่อปี ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 20 กว่าล้านตันต่อปีเพราะภาคเอกชนเขามองเห็นศักยภาพของตรงนี้ว่าถ้าเขาใช้บริเวณนี้เป็นศูนย์ในการขนสินค้าจะสามารถลดค่าขนส่งลงไปได้เยอะ ปัญหาก็คือว่าขณะนี้เมื่อร่องน้ำไม่มี เราจะไปขุดร่องน้ำเพิ่มทำได้ แต่ขณะเดียวกันปัญหาตามมาคือถ้าขุดดินก็จะไหลเกิดปัญหาตลิ่งพัง โครงการ 2 ล้านล้านบาทก็คือจะทำเขื่อน 2 ข้างตลิ่งเป็นเขื่อนตลอดเพื่อรองรับให้สามารถขุดร่องน้ำเพิ่มขึ้นได้และไม่ให้เกิดปัญหาดินสไลด์

จะทำเขื่อนเริ่มตั้งแต่ช่วงไหน

ตั้งแต่เขื่อนพระราม 6 ตรง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา กิโลเมตรในลำน้ำป่าสักกิโลเมตรที่ 50 กว่า ๆ ไล่ลงมาจนถึงตรงที่บรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดพนัญเชิง ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จะทำตลอดทั้งสองฝั่ง ตรงนี้ผมถึงบอกว่าช่วงนี้ใช้เงินประมาณหมื่นล้านบาท แต่สิ่งที่ได้มา ณ ขณะนี้จากปีหนึ่ง 20 กว่าล้านตันจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 30 กว่าล้านตันได้ เพราะอะไร เพราะว่าเรือที่จะเข้าไปจากเดิมที่ลำหนึ่งรับได้สูงสุด 1,500 ตันก็สามารถจะใช้บรรทุกสินค้าได้เพิ่มขึ้นอาจจะถึง 2,500 ตัน  เมื่อขนได้เยอะทุกอย่างก็จะลดลงทำให้ค่าใช้จ่ายตรงนี้ถูกลง

ใช้งบประมาณขนาดนี้ถือเป็นการปฏิวัติการคมนาคมทางน้ำครั้งใหญ่

เป็นการผลักดันโครงสร้างการขนส่งทางน้ำเพื่อให้เอกชนหรือผู้ประกอบการขนส่งทั้งหลายได้มีความมั่นใจว่ารัฐบาลสนับสนุนแล้วก็ได้ลงทุนตรงนี้เพื่อให้เอกชนผู้ประกอบการ ที่ผ่านมาไม่ได้ทำจริง ๆ จัง ๆ ขนาดนี้ นี่ขนาดไม่ได้ทำจริง ๆ จัง ๆ ตัวเลขที่ผู้ประกอบการหันมาใช้เพิ่มในอัตราที่สูง แต่ก็มีขีดจำกัดถ้าไม่ทำโครงสร้างพื้นฐานทางด้านลำน้ำให้เขา เขาก็จะไปต่อไม่ได้ ลำน้ำนี้ขณะนี้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้มองเห็นตรงนี้แล้ว รู้ว่าศักยภาพตรงนี้เป็นลำน้ำที่เขาสามารถใช้ประโยชน์ได้ ขอเพียงให้เราเพิ่มโครงสร้างตรงนี้เข้ามา ขณะนี้เอกชนยักษ์ใหญ่บางเจ้าลงทุนเฉพาะท่าเรือไปประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะที่เราลงไปเขามั่นใจและเขาบอกว่าเขาตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกตรงนี้

จะมีปัญหาเรื่องระบบนิเวศเรื่องสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ทุกฝ่าย อย่างในท้องถิ่นฝ่ายปกครองหรือผู้ประกอบการใช้วิธีสร้างความเข้าใจและพยายามที่จะแก้ไขปัญหา จะว่าไม่มีปัญหาเลยก็ไม่ได้ต้องมีเพราะผลกระทบการเดินเรือน้ำที่จะตีกระทบฝั่งตลิ่งพังมีอยู่ฉะนั้นโครงการนี้ถึงบอกว่าช่วยทั้งผู้ประกอบการ ช่วยทั้งประชาชนที่อยู่ริมน้ำป่าสักให้มีผลกระทบน้อยลง ถ้ามองในรูปการลงทุนผมคิดว่าคนที่จะใช้ลำน้ำนี้เขาดีใจ อยากให้โครงการนี้เกิด เรามองการคุ้มค่าทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศแล้วดี

ผมไปดูที่ท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย ความรู้สึกของเราแม่น้ำต้องมีศักยภาพรับเรือขนาดใหญ่ กลับกันตรงนั้นเราควบคุมระดับน้ำไม่ได้ ตรงนั้นทำให้ศักยภาพที่เราจะใช้สู้ลำน้ำป่าสักไม่ได้ ลองไปดูซิเดี๋ยวนี้เมื่อ 4-5 ปีก่อนกับปัจจุบัน


การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะมีการสร้างพนังกั้นน้ำตั้งแต่ อ.ท่าเรือไปเลย

ทำตั้งแต่ตรงนั้นเลย วันนี้แต่ตลอดลำน้ำขณะนี้ก็มีของเอกชนอยู่แล้ว 30-40 ท่า ถ้าเราทำตรงนี้จะช่วยทำให้การเดินเรือลึกเข้าไปอีก นอกจากนี้ยังมีโครงการทำจากเขื่อนพระราม 6 ขึ้นไปจนถึง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี

ชาวบ้านที่อาศัยตลอดลำน้ำรับรู้และเข้าใจโครงการนี้หรือไม่

ทุกวันนี้ชาวบ้านเขาอยากได้เขื่อนทั้งนั้นเพราะจะช่วยแก้ปัญหาตลิ่งพัง สิ่งที่ชาวบ้านเขาร้องขอขณะนี้โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะมีโครงการขนาดนี้ เขาต้องการเขื่อนตลอดแนว แต่เมื่อทำตรงนี้ขึ้นมาเป็นผลพลอยได้ที่เขาได้ด้วย เราจะทำจนมาถึงใกล้ ๆ ลำน้ำเจ้าพระยาก็กว้างแล้ว มาชนกันตรงวัดพนัญเชิง.

ที่มา -