ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ท่าเรือน้ำลึกปากบารา สร้างภาพลวงเศรษฐกิจ แท้จริงไม่สามารถแข่งขันกับท่าเรือปีนัง

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 28, 13, 19:21:07 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

การวิเคราะห์ท่าเรืออันดามันในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงหลังปี 2540 ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤติ เศรษฐกิจและพบว่า ท่าเรือแหลมฉบังที่ตั้งใจให้เป็นท่าเรือน้ำลึกแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์นั้น แสดงสัญญาณว่า อยู่ในทำเลที่ตั้งนอกเส้นทางเดินเรือโลก Ocean liner จนมีการวิเคราะห์ความได้เปรียบของประเทศไทยที่เป็น ประเทศสองทะเล และสรุปว่าควรจะสร้างท่าเรือด้านฝั่งทะเลอันดามัน เชื่อมด้วย landbridge สู่ทะเลอ่าวไทย


แนวความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก จนสามารถกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่สามของการวางแผนท่าเรือไทย (ยุคแรกท่าเรือกรุงเทพ, ยุคที่สองท่าเรือแหลมฉบัง และยุคที่สามท่าเรืออันดามัน) ใน ปี 2549 ผู้เขียนได้เป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ผังเมืองโลจิสติกส์ให้หน่วยงานกระทรวงคมนาคม สรุปว่า ท่าเรืออันดามันควรเป็นท่าเรือระนองและท่าเรือปากบารา แต่ให้ความสำคัญด้านท่าเรือระนองมากกว่า ต่อมาเมื่อมีแหล่งเงินทุนตะวันออกกลางเข้ามาให้งบประมาณและออกแบบสร้างท่าเรือปากบารานั้น และภาครัฐก็รับเป็นโครงการของรัฐทันที รูปแบบและแผนงานยิ่งทำให้ท่าเรือปากบาราห่างไกลจากการวางผังท่าเรือพาณิชย์และกระบวนการโลจิสติกส์ กลายเป็นท่าเรือน้ำมันโดยสมบูรณ์ที่จะสร้างผลกระทบมหาศาลกับสภาพแวดล้อมของภาคใต้ตอนล่าง จนเกิดปัญหาอย่างที่นำเสนอนี้ และปัญหาอาจจะขยายตัวจนอาจเป็นวิกฤตการณ์

โครงการท่าเรือปากบาราอาจจะไม่ได้ทำการก่อสร้าง หรือไม่ก็เผชิญกับวิกฤตการณ์อันรุนแรงต่อไป สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการออกแบบท่าเรือพาณิชย์ตั้งแต่การออกแบบท่าเรือกรุงเทพแบบทันสมัย Modern Commercial Port จนถึง ประสบการณ์ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังแล้ว ย่อมเข้าใจถึงโครงการ Mega Project ที่อาจจะจำเป็นต้องสร้างเพื่อการพัฒนาประเทศโดยองค์รวม และพยายามแก้ปัญหาในพื้นที่ท้องถิ่นที่อาจเกิดผลกระทบ แต่ สำหรับโครงการท่าเรือปากบารานี้ต้องขอยอมรับว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และไม่สามารถแก้ปัญหาผลกระทบทางวิถีชีวิตชุมชน และสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ได้เลย ขอแสดงเหตุผลประกอบดังนี้

1.โครงการท่าเรือปากบารา ไม่สามารถแข่งขันได้กับท่าเรือปีนัง ท่าเรือคลังของประเทศมาเลเซีย และ ท่าเรือสิงคโปร์ ทั้งโดยขนาด ประสิทธิภาพ และทำเลที่ตั้ง ความไม่ถูกต้องตามกระบวนการท่าเรือและโลจิสติกส์ Land bridge ที่จะเกิดการลดต้นทุนและสร้างกำไร ความได้เปรียบทางการขนส่งต่อเนื่อง

2.โครงการนี้ เน้นท่าเรืออุตสาหกรรม (และท่าเรือน้ำมัน) จึงเกิดกระบวนการอุตสาหกรรมหนักต่อเนื่อง ตลอดชายฝั่งทั้งสองทะเล ทั้งๆ ที่ภาครัฐได้ชี้แจงว่าเป็นท่าเรือพาณิชย์ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่น้อยกว่ามาก แต่ระดับประชาชนธรรมดาเมื่ออ่านรายละเอียดท่าเรือแล้วก็ทราบได้ทันทีว่า บริเวณนี้จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหนักและท่อส่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

3.การสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมหนัก (โดยใช้ชื่อว่าท่าเรือพาณิชย์ ซึ่งได้เขียนเหตุผลใน Logistics Times ฉบับก่อนหน้านี้แล้ว) ประกอบกับการที่มีท่าเรือมาบตาพุดเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ทำให้ประชาชนในเขตจังหวัดสตูล จังหวัดสงขลา มั่นใจว่า ภาครัฐไม่สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมที่สมบูรณ์ของพวกเขาได้ และ ผลกระทบจะรุนแรงกว่าท่าเรือมาบตาพุดหลายเท่า เมื่อมีการปฏิบัติการท่าเรืออุตสาหกรรมน้ำมันเต็มรูปแบบแล้ว
"ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทำอะไรกันอยู่" ประชาชนคงตั้งข้อสังเกตว่าโครงการขนาดใหญ่ระดับเอเชียหรือระดับโลกนี้ ไม่มีใครรู้ถึงผลกระทบสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นเลยหรือ จริงๆ แล้วเชื่อว่าหลายคนทราบดีแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือนดังการวิเคราะห์ด้านการขนส่งทางอากาศของประเทศหนึ่ง ที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญสรุปผลการวิเคราะห์ให้หน่วยงานรัฐบาลว่าประเทศนั้นควรจะมีท่าอากาศยานหลักสองแห่ง Dual Airports แต่ผลลัพธ์ฝ่ายการเมืองสรุปแผนท่าอากาศยานหลักแห่งเดียว Single Airport เป็นต้น ในวงการการออกแบบท่าเรือพาณิชย์นั้น เรามีหน่วยงานและบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญหลายคนที่แสดงความคิดเห็นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แต่ระบบการเมืองของประเทศอาจจะต้องมีการปรับปรุง เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ต่อตนเองก็อาจเป็นได้ ในฐานะที่ศึกษาด้านการวางแผนผังท่าเรือมาโดยตลอด


จึงขอเสริมความรู้เรื่องการวางแผนท่าเรือ PORT PLANNING ที่พบว่าไม่ปรากฏในการศึกษาวิเคราะห์ของบรรษัทที่ปรึกษาตะวันออกกลางที่ศึกษาท่าเรือปากบารา ในรายละเอียดดังนี้ การพัฒนาท่าเรือ (Port development) หมายถึง การสร้างท่าเรือแห่งใหม่ หรือการขยายท่าเรือเดิม ซึ่งโดยทั่วไปมุ่งหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับหรือปรับปรุงการปฏิบัติงานท่าเรือให้ทันสมัย ประเด็นของการพัฒนาท่าเรือพิจารณาในระดับที่แตกต่างกัน 3 ระดับ คือ ระดับชาติ (National) ระดับ ท่าเรือท้องถิ่น (Local) และระดับท่าเทียบเรือ (Port terminal) ในการศึกษาเพื่อการพัฒนาท่าเรือที่สมบูรณ์นั้น จะมีกระบวนการที่ซับซ้อนและดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา การวิเคราะห์ที่ได้แสดงไว้ในเอกสารนี้ พิสูจน์โดยวิศวกรโยธาที่เชี่ยวชาญในการวางแผนท่าเรือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในสหสาขา เพื่อการวางแผนพัฒนาท่าเรือในองค์รวม.

ดร.ระหัตร  โรจนประดิษฐ์ - คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา -