ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

สนพ. เตรียมสรุปผลศึกษาจัดตั้งสะพานเศรษฐกิจพลังงาน

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 10, 13, 07:08:05 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

การศึกษาเพื่อจัดตั้งสะพานเศรษฐกิจพลังงาน (Energy Land Bridge) เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาคใกล้แล้วเสร็จ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)


เตรียมสรุปผลการศึกษาภายหลังจากได้ระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานเกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  โดยการจัดตั้งจะคำนึงถึงประโยชน์ที่ไทยได้รับทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การลงทุน รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และความมั่นคงไปพร้อมๆ กัน
   
นายนที ทับมณี รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.ได้ดำเนินการโครงการศึกษาการจัดตั้งสะพานเศรษฐกิจพลังงาน (Energy Land Bridge) เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาค โดยศึกษาความเป็นไปได้ของพัฒนาการเชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ได้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล

การศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจพลังงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ

- เพื่อกำหนดเส้นทางที่มีความเหมาะสมทำให้สะพานเศรษฐกิจพลังงานที่จะจัดตั้งขึ้นนี้สามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางธุรกิจพลังงานในภูมิภาคอื่นๆ เช่น เส้นทางขนส่งน้ำมันทางเรือ ได้อย่างรวดเร็ว สะดวก และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

- คัดเลือกและประเมินหาพื้นที่ที่เหมาะสมมากที่สุดในการจัดตั้ง โดยพิจารณาความเหมาะสมทั้งด้านเทคนิค ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมและสิ่งแวดล้อม

- กำหนดแนวทางและรูปแบบ แผนผัง รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ อย่างละเอียดในการจัดตั้งสะพานเศรษฐกิจพลังงานตั้งแต่ ท่าเรือ ระบบการนำเข้า การคลัง การกระจาย การขนส่งและโลจิสติกส์ การแปรรูปเชื้อเพลิง การส่งออก รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
   
ปัจจุบันการขนส่งน้ำมันทางเรือจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางมายังภาคตะวันออกของไทย และไปยังประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำเป็นต้องผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะการขนส่งน้ำมันเท่านั้น แต่ยังมีเรือขนส่งสินค้าซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของสินค้าที่ขายทั่วโลกต้องผ่านช่องแคบมะละกานี้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาจะเต็มศักยภาพที่สามารถรองรับได้ในปี 2567 ภาครัฐจึงเล็งเห็นถึงความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ของไทยว่า น่าจะเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันได้อีกช่องทางหนึ่ง นอกเหนือจากผ่านช่องแคบมะละกา
   

ความสำคัญของการจัดตั้งสะพานเศรษฐกิจพลังงานนี้ นอกจากจะช่วยลดปัญหาความหนาแน่นของการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา และลดระยะเวลาการขนส่งน้ำมันได้แล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ และยังทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค (Regional Energy Hub) อีกด้วย
   
ทั้งนี้ การศึกษาในเบื้องต้นมีเส้นทางในการพิจารณารวม 3 เส้นทาง คือ 1) เส้นทางทวาย-กาญจนบุรี-ท่าเรือแหลมฉบัง  2) เส้นทางกระบี่-ขนอม (ทับละมุ-สิชล) และ 3) เส้นทางปากบารา-สงขลา โดยในการพิจารณาเลือกเส้นทางจะคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับทั้งในมิติเชิงเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การลงทุน รวมทั้งผลกระทบในมิติเชิงสิ่งแวดล้อม สังคม และความมั่นคงไปพร้อมๆ กัน
   
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ผลการศึกษาการจัดตั้งสะพานเศรษฐกิจพลังงานอยู่ในระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำความเห็นเหล่านั้นไปปรับปรุงผลการศึกษาให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง คาดว่าผลการศึกษาที่เป็นรายงานฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นจะได้นำเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป

ที่มา -