ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

วี-22 “เหยี่ยวอหังการ” อากาศยานสุดล้ำ จอมแย่งซีนครอบราโกลด์ 13

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 10, 13, 21:33:39 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 4 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

การฝึกร่วมครอบราโกลด์ 2013 สิ้นสุดลงตามกำหนดการในวันพฤหัสบดี 21 ก.พ. 56 ที่ผ่านมา และหากมองย้อนหลังไปในช่วงกว่า 10 วันมานี้ก็จะพบว่า การฝึกครั้งที่ 32 ภายใต้รหัสชื่อนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมียานบินล้ำยุค V-22 Osprey "เหยี่ยวถลาลม" มาร่วมด้วยเป็นครั้งแรก และได้กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์อันสำคัญในการกลับคืนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกองทัพสหรัฐฯ


ถ้าหากเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ล้ำยุค บี-2 "อ้ายปีศาจ" (Spirit ) กับ "ป้อมบิน" บี-52 (Stratofortress) ที่กลับคืนไปประจำการบนเกาะกวมในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นสัญลักษณ์การกลับคืนของกองทัพอากาศ และเรือโจมตีชายฝั่ง LCS-1 และ LCS-2 ที่จะไปประจำการในสิงคโปร์เร็วๆ นี้ เป็นสัญลักษณ์ของกองทัพเรือ การเข้าสู่ไทย และอ่าวไทยของออสปรีย์ก็อาจจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ

ระหว่างวันที่ 11-21 ที่ผ่านมา ทหารกับเจ้าหน้าที่ราว 13,000 นาย จาก 7 มิตรประเทศคือ สหรัฐฯ ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันฝึกในหลายด้าน หลายเนื้อหา ครอบคลุมพื้นที่ภาคต่างๆ ของไทย ซึ่งรวมทั้งการฝึกยิงด้วยอาวุธ และกระสุนจริง การฝึกที่ใช้คอมพิวเตอร์กำหนดสภาพสนาม การฝึกตามโครงการช่วยเหลือด้านพลเรือน และด้านมนุษยธรรม รวมทั้งการอพยพเร่่งด่วนโดยเฮลิคอปเตอร์ระหวางทหารสหรัฐฯ กับทหารญี่ปุ่น มีเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเข้ร่วมราว 20 คน

และปีนี้เป็นปีแรกที่มีผู้แทนจากกองทัพพม่าเข้าร่วมสังเกตการณ์ตามคำเชิญ

ภาพนาวิกโยธินสหรัฐฯ กลืนแมงป่อง ตัวโตลงคอแบบสดๆ อีกหลายคนรวมทั้งนาวิกโยธินหญิงอ้าปากรองเลือดสดๆ ที่กรีดจากคองูเห่าโดยตรง ระหว่างเรียนการเอาชีวิตรอดในป่าเขตร้อนจากนาวิกโยธินไทย -- ทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวกลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก

และแม้ว่าสหรัฐฯ จะส่งอากาศยานหลายชนิด ซึ่งรวมทั้ง F-18E "ซูเปอร์ฮอร์เน็ต" เข้าร่วมฝึกด้วยก็ตาม แต่ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า วงการทหารในภูมิภาคแถบนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ จีน ได้จับตาไปยังไฮไลต์แท้จริงของงาน นั่นคือ การปรากฏตัวในครอบราโกลด์เป็นครั้งแรกของเหยี่ยวออสปรีย์

ก่อนครอบราโกลด์ 2013 จะสิ้นสุดลงเพียงไม่กี่วัน เหยี่ยวอหังการได้ ลงจอดบนดาดฟ้าเรือโบนโฮมริชาร์ด (USS Bonhomme Richard -LHD 6) ในอ่าวไทย ซึ่งแม้ว่าจะมิใช่ครั้งแรกที่ V-22 ลงจอดบนเรือจู่โจมยกพลขึ้นบกลำนี้ แต่เป็นครั้งแรก "ในขณะออกปฏิบัติการในระยะไกล" กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ รายงานในเว็บไซต์


สหรัฐฯ เลือกประเทศไทย กับอ่าวไทยเป็นสถานที่สำหรับกระทำการอันเป็นสัญลักษณ์นี้ สื่อกลาโหมในภูมิภาคหลายสำนักตั้งเป็นข้องสังเกต

วี-22 จำนวน 4 ลำ บินจากฐานทัพสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น บนเกาะโอกินาวา ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังประเทศไทย เป็นระยะทางกว่า 3,000 กม. ถึงกองบิน 1 จ.นครราชสีมา ในวันที่ 8 ก.พ. เพื่อเตรียมการฝึกร่วมครั้งใหญ่ บินสบายๆ ด้วยความเร็ว 300 ไมล์/ชั่วโมง (กว่า 480 กม./ชม.) ในระดับความสูง 25,000 ฟุต (7,620 เมตร) โดยมี KC-130J ช่วยเติมน้ำมันกลางอากาศ มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์กองทัพเรือสหรัฐฯ

ออสปรีย์ทั้ง 4 ลำ ไม่ได้มีภารกิจมากมายในการฝึกครอบราโกลด์ปีนี้ แต่หากเป็นการอวดศักยภาพของอากาศยานล้ำยุคกึ่งเฮคิคอปเตอร์กึ่งเครื่องบิน เป็นการย้ำให้เห็นว่าในยามเกิดภัยพิบัติรุนแรง ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ หรือไกลเพียงใด "เหยี่ยวอหังการ" สามารถเข้าถึง เพื่อภารกิจค้นหา และกู้ภัยได้ท่วงทันเวลา เช่นเดียวกันกับภารกิจสนับสนุนการรุกรบของฝ่ายทหาร

ภารกิจสำคัญในอันดับต้นๆ อีกประการหนึ่งของออสปรีย์ทั้ง 4 ลำก็คือ การ "ทำเส้นทางการบิน" ซึ่งแม้ว่าทุกตารางนิ้วของประเทศไทยจะไม่ได้มีอะไรเหลือเป็นความลับสำหรับมหามิตรยุทธศาสตร์ ซึ่งปีนี้กำลังฉลองครบรอบปีที่ 180 ความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างกันก็ตาม แต่สำหรับออสปรีย์นั้นสภาพภูมิประเทศของไทยเป็นเรื่องใหม่

"เราเข้าไทยเพื่อจัดทำเส้นทางต่างๆ สำหรับเอ็มวี-22 เพราะว่าพวกเรายังใหม่ในย่านแปซิฟิก เราจำเป็นต้องมีการจัดวางเส้นทางเหล่านี้" และการฝึกบินระยะต่ำ 500 ฟุต (130 เมตร) หรือกว่านั้นในสภาพพื้นที่เบื้องล่างที่แตกต่างกันไป เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักบินวี-22 รวมทั้งในพื้นที่ที่มีการคุกคามจากข้าศึก เจ้าหน้าที่ประจำเครื่องผู้หนึ่งให้สัมภาษณ์ในวันที่ 8 ก.พ. ก่อนไปถึงไทย มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์กองทัพเรือสหรัฐฯ

นายทหารเรือสหรัฐฯ ผู้หนึ่งกล่าวว่า การลงจอดบนเรือโบนโฮมริชาร์ด ใน 13 วันถัดมา เป็น "เป็นอีกก้าวหนึ่ง" ของ V-22 กับเรือดังกล่าวเนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายในการนำอากาศยานแบบใหม่ที่มีน้ำหนักมากลงจอดในขณะเรือกำลังแล่นปฏิบัติการตามปรกติ และมวลอากาศที่พ่่นออกปะทะกับลานจอดขณะลงในแนวดิ่งก็มีความดันมากกว่า ฮ.ทั่วไป

กองทัพสหรัฐฯ ได้ทยอยนำออสปรีย์เข้าประจำการแทนที่เฮลิคอปเตอร์แบบ CH-46E "ซีไนท์" (Sea Knight) แบบเดียวกับที่ประสบอุบัติเหตุตกในเขตภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก ระหว่างการฝึกสัปดาห์นี้ "อัศวินแห่งท้องทะเล" ใช้งานมาตั้งแต่ช่วงปลายยุคสงครามเย็น

ออสปรีย์ออกแบบมาเป็นอากาศยานลำเลียงขนส่งขนาดกลาง และสนับสนุนการจู่โจมภาคพื้นดิน เช่นเดียวกับ CH-46 แต่ออสปรีย์บินได้ทั้งแบบ ฮ. และเป็นเครื่องบินไปในตัว บินได้ในระดับความสูงเท่าๆ กับเครื่องบินติดเครื่องยนต์เทอร์โบพร็อพทั่วไป

ออสปรีย์ติดเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ 2 เครื่อง บินได้เร็วกว่า CH-46 สองเท่าตัว บินได้ไกลกว่า 6 เท่า บรรทุกได้มากกว่าถึง 3 เท่า กองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวว่า เป็นอากาศยานลำเลียงขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายต่อหน่วย/คน ต่ำที่สุดในบรรดาอากาศยานที่มีใช้ในขณะนี้

พัฒนามายาวนานกว่า 20 ปี ผ่านอุบัติเหตุร้ายแรงระหว่างทดสอบมาหลายครั้ง ฟันฝ่าเสียงคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศยาน และฝ่ายการเมืองมาก็หลายหน แต่ในที่สุด V-22 ก็มีวันนี้ ซึ่งบริษัทร่วมทุนระหว่างโบอิ้งกับเบล (Bell-Boeing) ผลิตออกมาเป็นบล็อกที่ 3 คือ Block C ปรับปรุงเพื่อเน้นหนักภารกิจของกองทัพเรือกับนาวิกโยธินโดยเฉพาะ


ตามข้อมูลของโบอิ้งคอมปานี จนถึงปัจจุบันมี V-22 รุ่นต่างๆ จำนวน 165 ลำ ใช้การอยู่ในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐฯ จำนวน 10 หน่วย กับในหน่วยบัญชาการปฏิบัติการพิเศษกองทัพอากาศอีก 2 หน่วย นาวิกโยธินต้องการทั้งสิ้น 360 ลำ กองทัพอากาศอีก 50 ลำ ส่งมอบครั้งสุดท้ายปีที่แล้ว 39 ลำ และ 34 ลำในปี 2554

อากาศยานแบบโรเตอร์ปรับเอียงได้ (Tilted Rotor) ยาวตลอดลำ 17.48 ม. สูง 6.73 ม. ระยะเหวี่ยงของโรเตอร์ทั้งสองข้าง 25.78 ม. พับเก็บโรเตอร์ได้ทำให้เก็บในโรงเก็บใต้ท้องเรือบรรทุกเครื่องบินได้เช่นเฮลิตอปเตอร์ทั่วไป

ออสปรีย์บรรทุกน้ำหนักได้ 24 ตัน สำหรับการขึ้นลงแนวดิ่ง และ 26 ตัน หากใช้วิธีแล่นขึ้นลงระยะสั้น มีนักบินกับนักบินผู้ช่วยผู้ช่วย และลูกเรือประจำอีก 1 คน บรรทุกทหารติดอาวุธครบมือได้อีก 24 คน ระยะปฏิบัติการกว่า 1,100 กม. บินด้วยความเร็วปกติ หรือ "ครูยส์" 510 กม./ชม.

จนถึงขณะนี้ ออสปรีย์ที่อยู่ทั่วโลกมีชั่วโมงบินปฏิบัติการรวมกันแล้วกว่า 135,000 ชั่วโมง ผ่านการฝึกมาทุกรูปแบบ ทั้งการค้นหากู้ภัยระยะไกล กู้ภัยเรือดำน้ำกลางทะเลหลวง ผ่านปฏิบัติการในสนามรบจริงทั้งสงครามอ่าว สงครามอิรัก และสงครามในอัฟกานิสถาน

สหรัฐฯ กำลังจะนำ V-22 เข้าประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 10 ลำ และบนเรือสนับสนุนกับเรือโจมตีทุกลำ ซึงรวมทั้งในกองทัพเรือที่ 7 ที่รับผิดชอบเขตทะเลจีนใต้กับย่านแปซิฟิกตะวันตกทั้งหมดด้วย

ออสปรีย์เพิ่งเข้าประจำการที่ฐานทัพโอกินาวาปลายปีที่แล้ว และในเดือน ม.ค.ปีนี้ ได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมกับกองทัพฟิลิปปินส์ที่เกาะปาลาวัน (Palawan) ที่มีอาณาบริเวณติดกันกับเขตหมู่เกาะพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ออสปรีย์ปรากฏตัวในกลุ่มอาเซียน

การปรากฏตัวในอ่าวไทยสัปดาห์นี้ทำให้เหยี่ยวออสปรีย์ไม่เป็นอากาศยานแปลกปลอมในภูมิภาคนี้อีกต่อไป.

ที่มา -