ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

กรมเจ้าท่า...ที่ชักไม่ค่อยจะเข้าท่า

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 13, 13, 23:09:19 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

การที่กรมเจ้าท่าได้ออกระเบียบการออกใบรับรองการใช้เรือโดย นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ อธิบดีกรมเจ้าท่า ซึ่งออกไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2555 เพื่อใช้บังคับแก่ชาวประมง โดยมีข้อห้ามที่สำคัญให้ชาวประมงต้องมาจดทะเบียนเรือที่จะออกทำการประมง และห้ามออกไปหากินนอกพื้นที่จังหวัดของตัวเองและห้ามออกไปนอก 3 ไมล์ทะเล (5.4 กิโลเมตร) มิฉะนั้น จะมีโทษทั้งปรับ และจำคุก ประกาศตามระเบียบดังกล่าว ได้ถูกนำไปบังคับใช้กับชาวประมงพื้นบ้านที่มีเรือ และทำการประมงทั่วไปในประเทศ ได้สร้างความตกใจให้เกิดขึ้นจากการประกาศดังกล่าว ทั้งแก่ชาวประมงที่เกี่ยวข้อง และบรรดานักวิชาการทั้งหลายว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมกรมเจ้าท่าถึงกล้าหาญออกระเบียบดังกล่าวมาบังคับใช้กับพี่น้องประชาชน


ในระเบียบการออกใบรับรองการใช้เรือดังกล่าว มีรายละเอียดกำหนดไว้ว่า เรือกลประมงทะเล ชั้น 3 ข.3.1 มีขนาดไม่เกิน 10 ตันกรอส ข.3.2 ให้เดินห่างฝั่ง หรือเกาะได้ในระยะไม่เกิน 3 ไมล์สำหรับเรือขนาดไม่เกิน 5 ตันกรอส ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่จะใช้เรือในขนาดดังกล่าว ส่วนเรือขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอส บังคับให้ต้องมีดาดฟ้าปิด และเดินห่างฝั่ง หรือเกาะได้ในระยะไม่เกิน 15 ไมล์ ในขณะทำการประมงให้ออกห่างจากฝั่งได้ไม่เกินแนวเขตทำการตามชนิดของเครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดประจำที่ในท้องที่นั้นในเวลาคลื่นลมสงบ และอยู่ภายในเขตจังหวัดนั้นๆ จังหวัดเดียว การกำหนดให้ทำการประมงได้เฉพาะภายในจังหวัด ทำให้ขัดแย้งกับความเป็นจริงของวิถีการทำประมงของพี่น้องประมงชายฝั่ง ที่ทำการประมงตามฤดูกาล และการเคลื่อนตัวไปของสัตว์น้ำแต่ละชนิด เราจะพบชาวประมงจากสงขลาไปทำการประมงถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช และชาวประมงพื้นบ้านจากนครศรีธรรมราชไปทำการประมงถึงบริเวณเกาะสมุย ในเขตของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

การนำประกาศตามระเบียบดังกล่าว ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดสงขลา (เมื่อ 27 ก.พ.56) ได้นัดรวมตัวกันที่อาคารอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่า กรมประมง จังหวัดสงขลา ให้มาชี้แจงรายละเอียดดังกล่าวแก่ชาวประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ คือ อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร ที่มารวมตัวกันประมาณ 200 คน มาทำความเข้าใจเรื่องการให้ชาวประมงเข้ายื่นจดทะเบียนเรือต่อกรมเจ้าท่า และจดอาญาบัตรต่อกรมประมง จนเกิดประเด็นไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และความสงสัยไม่เห็นด้วยของชาวประมง โดยเฉพาะเนื้อหาสำคัญของการจดทะเบียน ที่จำกัดขอบเขตการให้ชาวประมงพื้นบ้านออกทำประมงจากชายฝั่งออกไปไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล หรือ 5.4 กิโลเมตร ซึ่งตามความเป็นจริง ทะเลหน้าบ้านจากชายฝั่งออกไป 3 ไมล์ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่ชาวประมงในหลายๆ พื้นที่ทำกันอยู่

มีความพยายามที่จะชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าว่า ข้อห้ามในขณะทำการประมงให้ออกห่างจากฝั่งได้ไม่เกินแนวเขตทำการตามชนิดของเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ชนิดประจำที่ในท้องที่นั้นในเวลาคลื่นลมสงบ และอยู่ภายในเขตจังหวัดนั้นๆ จังหวัดเดียว ว่า "การห้ามดังกล่าวอาจเป็นการขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากกฎปี 2528 และระเบียบปี 2555 ดังกล่าว ที่ออกตามความในมาตรา 163 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจในการออกกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกใบสำคัญเท่านั้น แต่ไม่อาจจำกัดสิทธิในการใช้ทรัพย์สินได้ เว้นแต่อาจกำหนดลักษณะเรือในแต่ละประเภทได้ เช่น ถ้าเปรียบเทียบกับกรณีของรถยนต์ สามารถวิ่งได้ทั่วประเทศไม่ว่าจะจดทะเบียนที่ไหน แต่หากจะนำรถไปใช้ในการขนส่งก็จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ด้วย เช่น ความมั่นคงแข็งแรง น้ำหนักบรรทุก การขนและยึดสินค้าให้ปลอดภัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รถยนต์มีกฎหมายให้อำนาจสำหรับกำหนดลักษณะการใช้รถไว้ แต่สำหรับเรือไม่มีบทบัญญัติได้กำหนดห้ามเกี่ยวกับการทำประมงไว้"


นายเจริญ ทองมา ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ บอกว่า "ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้ชาวประมงออกทำประมงภายในเขตชายฝั่งออกไป 3 ไมล์ ต้องการให้ตัดข้อนี้ออกไป เพราะปกติพี่น้องออกทำประมงเกิน 3 ไมล์อยู่แล้ว และสงสัยว่าทำไมมาจดทะเบียนเรือเอาตอนนี้ ที่อ้างถึงกฎข้อบังคับการตรวจเรือ ฉบับที่ 15 พ.ศ.2528 และที่สำคัญ การจดทะเบียนเรือชาวประมงที่ได้ดำเนินการไปแล้ว บางพื้นที่จ่ายจดทะเบียน 1,000 บาท บางพื้นที่ 800 บาท บ้างก็ 500 บาทบ้าง ที่ทำให้ทุกคนสงสัยคือ การไม่ออกใบเสร็จให้แก่ชาวประมงหมายความว่าอย่างไร เงินพวกนี้เข้ารัฐ หรือไปอยู่ในมือใคร?" กรมเจ้าท่าคงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำเป็นเอาหูทวนลมอีกต่อไป

ชาวประมงพื้นบ้านนับเป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล และหน่วยงานราชการต่างๆ น้อยที่สุด ทั้งๆ ที่เป็นเกษตรกรที่มีความสำคัญในการทำการประมงจับกุ้ง หอย ปู ปลาสดๆ มาตอบสนองผู้บริโภคในพื้นที่ 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งของประเทศที่มีอยู่กว่า 3 แสนครอบครัว มีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้ให้สัมปทานแก่บริษัทขุดเจาะก๊าซ และน้ำมันของบริษัทต่างชาติ ให้สามารถเข้ามาทำการขุดเจาะในบริเวณชายฝั่งมากขึ้น (บริษัทนิวคอสตอลได้รับการอนุญาตให้สามารถเข้ามาขุดเจาะน้ำมันชายฝั่งสงขลา โดยห่างจากฝั่งแค่ 12 กิโลเมตร ทำให้บริษัทต้องชดใช้การสูญเสียพื้นที่ทำการประมงให้แก่ชาวประมงปีละหลายสิบล้านบาท) การออกระเบียบดังกล่าวของกรมเจ้าท่าว่า ก็จะทำให้บริษัทขุดเจาะก๊าซ และน้ำมันครั้งต่อๆ ไป จะไม่ต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่กระทบต่อชาวประมง เป็นไปได้หรือไม่ที่ทางกรมเจ้าท่ากำลังทำหน้าที่ปกป้องแหล่งขุดเจาะก๊าซ และน้ำมันในทะเลให้แก่บริษัทต่างชาติเหล่านั้น แทนที่จะปกป้องอาชีพของพี่น้องชาวประมงซึ่งเป็นพี่น้องร่วมชาติของตัวเอง

ที่มา -