ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

แรงงานประมงทะเล 22 ชายฝั่งไทย ต่างด้าวไร้ทักษะฝีมือ-เสี่ยงค้ามนุษย์

เริ่มโดย mrtnews, มี.ค 27, 14, 19:44:30 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

"งานประมง เป็นงานที่มีความเสี่ยง และมีสภาพการทำงานบนเรือที่มีอันตรายทุกจุด หากพลาด จะหมายถึงชีวิตทันที" เสถียร ทันพรม ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงสภาพการทำงานของแรงงานประมงทะเล ซึ่งไทยกำลังถูกจับตามองจากสหรัฐอเมริกา จนอาจนำไปสู่ปัญหาการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ


ว่ากันว่า กิจการประมงทะเล ใน 22 จังหวัดชายฝั่งของไทย ต่างมีความต้องการแรงงานเพื่อลงไปทำงานในเรือประมง ขณะที่ภาพความเสี่ยงอันตรายในการทำงาน สวนทางกับอัตราค่าจ้าง จึงทำให้แรงงานไทยไม่เลือกที่จะทำงานนี้มานานแล้ว มีเพียงแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังคงเข้ามาทำงานนี้อยู่ ซึ่งอาจจะเพราะไม่มีทางเลือก จึงมีการทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งแรงงานคนไปลงเรือ เช่น การบอกว่าจะได้ทำงานแบบอยู่ดีกินดี ค่าจ้างดี แต่พอเอาเข้าจริงๆ ไม่เป็นแบบนั้น แต่ตัวแรงงานต่างด้าวต้องทนทำงานต่อไป เพราะก่อนมาได้กู้ยืมเงินเป็นค่าใช้จ่ายเป็นค่าหัว ค่านายหน้าต่างๆ หากยกเลิกไม่ทำงานก็ไม่มีเงินใช้หนี้ และจะมีปัญหาต่อไปอีก

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เห็นชอบให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเฉพาะในกิจการประมง ปีละ 2 ครั้ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้จดทะเบียนรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2557 ข้อมูลแรงงานต่างด้าวใน จ.สมุทรสาคร ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 190,470 คน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย 182,024 คน แยกเป็นแบบชั่วคราวทั่วไป 2,330 คน  และแบบชั่วคราว (MOU) พิสูจน์สัญชาติ 179,576 คน แบบส่งเสริมการลงทุน (BOI) 118 คน ส่วนแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายมีทั้งสิ้น 8,446 คน แยกเป็นชนกลุ่มน้อย 3,685 คน ตามมติ ครม. 3 สัญชาติ 4,731 คน และศูนย์ประสานแรงงานประมง 30 คน

เสถียร ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ ในงานประมงทะเลมาหลายปี มองว่าปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการทำงานบนเรือประมง เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะส่งผลโดยตรงกับความปลอดภัยและชีวิตคนงาน ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติไหนก็ตาม จึงอยากให้ทุกหน่วยงานช่วยกันบูรณาการเรื่องนี้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งกับลูกเรือประมง เช่น ถูกไฟฟ้าช็อต ตกจากเรือจมน้ำตาย ศพลอยมาติดชายฝั่งล้วนไม่เกิดผลดีกับภาพรวมของแรงงานประมงทะเล

"สภาพการทำงานบนเรือประมงนั้น มีอันตรายรออยู่ทุกตารางนิ้ว หากพลาดอาจหมายถึงการจบชีวิต ซึ่งคนทั่วไปคงไม่รู้ว่า แรงงานประมงทะเลในไทยนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีทักษะฝีมือแรงงานในด้านนี้ เพราะนายจ้างต้องการแรงงาน ต้องไปกวาดหามาทำงานให้ได้ แล้วให้ไปเรียนรู้ที่หน้างานเอาเอง ต่างจากเรือประมงในต่างประเทศที่มีเครื่องจักรแทนแรงงานคน ลดอัตราการเสี่ยงอันตรายได้เยอะมาก"

ทั้งนี้ เคยมีกรณีที่หยิบยกมาเรียนรู้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันคือ เรือประมงที่มหาชัย ซึ่งออกทะเลไปแล้วอาหารบนเรือหมด ลูกเรือได้กินแต่ปลาอยู่กลางทะเล จนขาดสารอาหาร ป่วย และเสียชีวิตหลายคน จึงนำไปสู่มาตรการให้มีการตรวจสภาพเรือก่อนออกจากฝั่ง ตั้งแต่จำนวนคนบนเรือ อาหาร และความพร้อมต่างๆ แต่เป็นงานนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานก็มีภารกิจหลักล้นมือ จึงอยากฝากให้ภาครัฐช่วยผลักดันต่อไปด้วย


อย่างไรก็ตาม จีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ กระทรวงแรงงานรับผิดชอบในด้านการคุ้มครอง และการป้องกัน โดยมีการจัดระบบแรงงานต่างด้าว ให้เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจะได้รับสิทธิการคุ้มครองด้านต่างๆ ส่วนการคุ้มครองนั้น จะดำเนินการตามกระบวนการตรวจแรงงาน ทั้งตรวจสัญญาจ้าง และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม

ทั้งนี้ การดำเนินงานของศูนย์ประสานแรงงานประมงทั้ง 5 ด้าน คือ การจัดระเบียบแรงงานประมง จัดระเบียบเรือประมง การคุ้มครอง ตรวจสอบปราบปราม จับกุมและดำเนินคดี การเยียวยา ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้เสียหาย และการรับเรื่องราวร้องทุกข์ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การช่วยเหลือแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์และส่งกลับประเทศ มีการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ใน จ.สมุทรสาคร หลายมาตรการเช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การออกตรวจสถานประกอบการ สถานบันเทิง และพื้นที่เสี่ยง การดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยในปี 2556 มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และการค้าประเวณีที่เข้มงวดมากขึ้น

ที่มา -