ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

หมีขาวคืนถิ่น.. รัสเซียส่งกองเรือแปซิฟิกเยือนฐานทัพเก่าเวียดนาม

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 15, 13, 06:48:22 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กองเรือรบของรัสเซียแล่นเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียในสัปดาห์นี้ มุ่งหน้าสู่เวียดนามเพื่อไปเยี่ยมเยือนฐานทัพเก่าที่อ่าวกามแรง (Cam Ranh, คัมราน) สื่อในรัสเซียรายงานเรื่อง ขณะที่ยังไม่มีข่าวสารใดๆ จากฝ่ายเวียดนาม และหากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ ก็จะเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปีที่เรือรบของรัสเซียได้กลับไปเยือนฐานทัพเก่ายุคสหภาพโซเวียต ซึ่งตั้งอยู่ในจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้


"กองเรือแปซิฟิกที่นำโดยเรือพิฆาตแอดมิรัลแพนเตเลเยฟซึ่งเป็นเรือปราบเรือดำน้ำขนาดใหญ่ ที่กำลังทำการฝึกในทะเล จะแวะเยือนอ่าวกามแรงของเวียดนาม" สำนักข่าวอิตาทาส ของทางการรัสเซียรายงาน อ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีกเกี่ยวกับจำนวนเรือรบที่ร่วมขบวน

เรือแพนเตเลเยฟไม่ได้แปลกหน้าสำหรับเวียดนาม เพราะว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เคยแวะเยือนประเทศนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง รวมทั้งเมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งได้แวะจอดท่าเรือนครโฮจิมินห์ ขณะมุ่งหน้าไปปฏิบัติภารกิจต่อต้านโจรสลัดที่ชายฝั่งประเทศโซมาเลีย แต่กำลังจะเป็นครั้งแรกที่ไปแวะเยือนฐานทัพเก่าอ่าวกามแรง

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์กวนโด่ยเยินซเวิน (Quan Doi Nhan Dan) หรือ "กองทัพประชาชน" เวียดนามได้เปิดท่าเรือเพียง 2 แห่งสำหรับรองรับการแวะเยือนสันถวไมตรีของเรือรบจากประเทศเพื่อนมิตรคือ ท่าเตียนซา (Tien Sa) นครด่าหนัง กับท่าไซ่ง่อนในโฮจิมินห์

ถ้าหากเป็นไปตามที่สื่อรัสเซียรายงาน ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกเช่นกันที่เวียดนามเปิดอ่าวกามแรงรับเรือรบของต่างชาติ

หลายปีมานี้ เวียดนามได้เปิดส่วนที่เป็นท่าเรือพาณิชย์ในกามแรงให้เรือสนับสนุนของกองทัพเรือที่ 7 สหรัฐฯ จำนวนหนึ่ง แวะเข้าไปใช้บริการซ่อมบำรุงได้ แต่ยังไม่เคยมีเรือรบของสหรัฐฯ ไปแวะที่นั่น และราวกับว่าจะให้เป็นสัญลักษณ์สำหรับการกลับคืนสู่ทะเลจีนใต้ของ "ฝ่ายที่สาม" เรือรบลำแรกที่จะเข้าไปยังฐานทัพเรือแห่งนี้ เป็นเรือแอดมิรัลแพนเตเลเยฟ

กามแรงได้ชื่อเป็นอ่าว และท่าเรือน้ำลึกที่ดีที่สุดในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นทั้งฐานทัพเรือ และฐานทัพอากาศที่สหรัฐฯ ฟื้นฟูบูรณะขึ้นมาใช้งานในช่วงสงครามเวียดนาม

เมื่อสหรัฐฯ ต้องถอนตัวออกไปในปี 2518 ฐานทัพแห่งนี้ได้ถูกเวียดนามเหนือเข้ายึดครอง หลังจากนั้น ได้ให้สหภาพโซเวียตเข้าใช้เป็นฐานทัพในรูปแบบการเช่าระยะยาว 25 ปี แต่จักรวรรดิใหญ่คอมมิวนิสต์ล่มสลายลงในปี 2532 ก่อนสัญญาเช่าจะสิ้นสุดอายุในปี 2545

ฐานทัพอ่าวกามแรงเป็นฐานทัพใหญ่นอกประเทศเพียงแห่งเดียวของสหภาพโซเวียตในย่านนี้ และเป็นเพียงแห่งที่ 2 ในเอเชียแปซิฟิก ถัดจากวลาดิวอสต็อก ในภาคตะวันออกไกล เคยเป็นที่จอดของเรือรบหลากหลายประเภท รวมทั้งเรือดำน้ำ และเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ของโซเวียตด้วย

พัฒนาการในเรื่องนี้ยังมีขึ้นเพียงไม่นานหลังการเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของ พล.อ.เซอร์เก ชอยกู (Sergei Shoigu) รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ซึ่งได้ไปเยี่ยมเยือนอ่าวกามแรงด้วย

พล.อ.ชอยกู ให้สัมภาษณ์ในกรุงมอสโกเวลาต่อมาว่า เวียดนามอนุญาตให้เรือรบของรัสเซียเข้าไปใช้อ่าวกามแรงได้ แต่ไม่ได้อธิบายในรายละเอียด


อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า รัสเซียกำลังก่อสร้างฐานจอดเรือดำน้ำให้แก่เวียดนามในอ่าวกามแรงแห่งนี้ ซึ่งรวมอยู่ในแพกเกจจัดซื้อเรือดำน้ำ ชั้นคิโล (Kilo-class) จำนวน 6 ลำ และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการ เวียดนามจะได้รับ 2 ลำแรกในปีนี้

ทางการเวียดนามได้ประกาศมาหลายครั้งว่า ได้มอบหมายให้รัสเซียก่อสร้างท่าเรือขึ้นอีกแห่งหนึ่งในอ่าวกามแรง ซึ่งเวียดนามจะอนุญาตให้เรือทุกชนิด รวมทั้งรบของประเทศเพื่อนมิตรแวะเข้าไปใช้ได้

รัสเซียประกาศปลายปีที่แล้วจะฟื้นฟูส่งกองเรือกลับสู่มหาสมุทรแปซิฟิกอีกครั้ง พร้อมกับเรือรบรุ่นใหม่ๆ จำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ด้วย

ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ กองเรือแปซิฟิกของรัสเซียจะประกอบด้วย เรือดำน้ำยุทธศาสตร์พลังงานนิวเคลียร์ และติดอาวุธนิวเคลียร์ จำนวน 5 ลำ เรือดำน้ำอเนกประสงค์ขนาดต่างๆ อีก 10 ลำ เรือรบชนิดต่างๆ อีก 10 ลำ สำหรับปฏิบัติการในทะเลลึก กับอีก 32 ลำ ปฏิบัติการในย่านใกล้ฝั่ง

กองกำลังแปซิฟิกยังประกอบด้วย เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ Tu-22M3, Tu-142 "แบร์" เครื่องบินขับไล่โจมตี MiG-31 ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องความเร็ว นอกจากนั้น ยังมีเฮลิคอปเตอร์ กับเครื่องบินปราบเรือดำน้ำอีกจำนวนหนึ่ง

กองกำลังแปซิฟิกของรัสเซียยังมีระบบป้องกันชายฝั่งแบบ S-300 อีกด้วย.

ที่มา -