ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

เชฟรอนเตรียมผลิตก๊าซฯ แหล่งใหม่กลางอ่าวไทย

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 28, 14, 20:09:22 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

อิงค์เจท 24 พ.ค.- นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนยังคงลงทุนผลิตและสำรวจปิโตรเลียมต่อเนื่องในประเทศไทย โดยบริษัทที่มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกและพัฒนาธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยมากว่า 50 ปี เป็นผู้รับสัมปทานรายแรกที่ค้นพบและสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์ได้จากอ่าวไทยเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ซึ่งแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย บริษัทก็ยังลงทุนตามแผนงาน ซึ่งโครงการในอนาคตที่จะลงทุน คือ  โครงการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งอุบลในอ่าวไทยที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตน้ำมัน 35,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 115 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะสามารถช่วยตอบสนองความต้องการพลังงานในประเทศที่เพิ่มขึ้นได้


ทั้งนี้  รายงานจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุว่า ปัจจุบันเชฟรอนนักลงทุนสัญชาติอเมริกันผลิตก๊าซธรรมชาติ 1,800 ล้านลูกบาศ์ฟุตต่อวัน และน้ำมัน 66,000 บาร์เรล และเป็นที่คาดว่าเชฟรอนจะตัดสินใจปลายปี  2558  ว่าจะเริ่มลงทุนผลิตแหล่งอุบลเมื่อใด

นายไพโรจน์ กล่าวในระหว่างพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมแหล่งผลิตปลาทองในอ่าวไทย ระบุว่าการที่เชฟรอนเป็นบริษัทระดับโลก ทำให้มีข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยีเพราะเชฟรอนคอร์ปอเรชั่นมีบริษัทเทคโนโลยีในเครือถึง 3 บริษัท ได้แก่ Chevron Energy Technology Company (ETC), Chevron Information Technology Company, และ Chevron Technology Ventures ทำให้สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีจากเชฟรอนประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกมาปรับใช้ในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม และเทคโนโลยีนี้เองที่เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงแหล่งพลังงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ช่วยให้ทำงานได้ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยในการบริหารจัดการต้นทุน ทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้มีราคาที่เหมาะสม  เพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศจริง ๆ อย่างที่ทราบกันดีว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยนั้นมีราคาถูกเมื่อเทียบกันในภูมิภาคนี้และก๊าซส่วนใหญ่ก็นำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อคนทั้งประเทศ

"เป็นความภูมิใจของบริษัทฯ และพนักงานที่บริษัทได้อยู่เบื้องหลังในการจัดหาพลังงาน และช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับกิจการไฟฟ้าของประเทศอย่างต่อเนื่อง" นายไพโรจน์  กล่าว

ทั้งนี้ โครงการผลิตก๊าซธรรมชาติปลาทองมี 2 ระยะ โดยในส่วนของระยะที่  2  ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างในการลงทุนระยะยาวของเชฟรอนลงทุน 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนอกจากนั้นเชฟรอนยังมีโครงการลงทุนสำคัญอื่น ๆ อาทิ เรือกักเก็บปิโตรเลียมเอราวัณ 2 ที่ได้นำมาปฏิบัติงานแทนเรือเอราวัณ FSO เดิม เมื่อปี 2555 การนำแท่นขุดเจาะใหม่ 6 แท่นมาใช้ดำเนินงาน เพื่อปลดระวางแท่นขุดเจาะเก่าในช่วงปี 2556-2557.

ที่มา -




"เชฟรอน" ไม่หวั่นยันลงทุนต่อ ขอความชัดเจนสัมปทานขุดเจาะรัฐบาลใหม่

"เชฟรอน" ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ในไทยประกาศพร้อมขยายลงทุนต่อเนื่อง แต่ขอให้รัฐบาลชัดเจนนโยบายสัมปทานโดยเฉพาะแหล่งของเชฟรอนที่จะหมดสัญญาปี 2565 และการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ เผย 50 ปีทุ่มไปแล้ว 9.9 แสนล้านบาท


นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ซึ่งเป็นผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมทางทะเลรายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่เชฟรอนยังคงมีแผนจะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวเพียงแต่ขอให้รัฐบาลมีความชัดเจนและดำเนินการอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 ปีทั้งการต่ออายุสัมปทานของเชฟรอนที่จะหมดลงในปี 2565 ของแหล่งก๊าซธรรมชาติสตูล เอราวัณ ปลาทอง บรรพต ฟูนาน จักรวาล และโกมินทร์ และการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ (ครั้งที่ 21)

"เชฟรอนพร้อมที่จะลงทุนในแปลงสัมปทานเดิมที่จะหมดอายุลง และสนใจสัมปทานรอบใหม่โดยเฉพาะแหล่งที่ใกล้ของเดิมที่คิดว่าพอมีศักยภาพซึ่งบริษัทไม่ได้มีปัญหาอะไรหากรัฐบาลจะมีการปรับระบบจัดเก็บรายได้จากการขุดเจาะปิโตรเลียมเป็นแบบใดก็ตาม เพราะเชฟรอนก็ต้องมาดูความคุ้มค่ากับการลงทุนเพราะแต่ละแหล่งต้องใช้เวลาสำรวจรวมถึงผลิต 5-10 ปี และแต่ละแหล่งต้องเตรียมตัว 2-3 ปีในการรักษาระดับการผลิตหากช้าจะกระทบต่ออัตราการผลิตปิโตรเลียมได้"

สำหรับกรณีที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) มีแนวคิดที่จะแปลงทรัพย์สินจากแหล่งสัมปทาน ที่หมดอายุเพื่อร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เรื่องนี้เชฟรอนคงต้องหารือเพราะขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานด้านข้อกฎหมายใดมารองรับเรื่องดังกล่าว ส่วนแนวคิดปรับปรุงระบบสัมปทาน Thailand III ที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้วเมื่อเทียบกับศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียม และภาครัฐก็ได้รับผลตอบแทนสูง 60-70% ขณะที่เอกชนก็ได้รับผลตอบแทนที่พอรับได้ และจูงใจให้พัฒนาเทคโนโลยีในการขุดเจาะต่อ หากจะปรับเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ (PSC) ก็ควรระมัด ระวังเพราะเป็นระบบที่เปิดให้มีการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ได้ ซึ่งจะทำให้โอกาสมีการคอร์รัปชันสูงกว่า เพราะไม่มีกฎระเบียบชัดเจน

ขณะเดียวกัน ในเรื่องของโครงการในอนาคตที่เชฟรอนจะลงทุน คือโครงการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งอุบล ในอ่าวไทย ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตน้ำมัน 35,000 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 115 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะสามารถช่วยตอบสนองความต้องการพลังงานในประเทศที่เพิ่มขึ้นได้ซึ่งที่ผ่านมามีการสำรวจแล้วพบปริมาณปิโตรเลียมที่สามารถจะพัฒนาการลงทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เชฟรอนเป็นบริษัทสัญชาติสหรัฐอเมริกาเดิมชื่อยูโนแคล มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกและพัฒนาธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยมากว่า 50 ปี เป็นผู้รับสัมปทานรายแรกที่ค้นพบและสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์ได้จากอ่าวไทยเมื่อกว่า 30 ปีก่อนจนถึงปัจจุบันเชฟรอนลงทุนในประเทศไทยจนถึงปี 2556 รวมประมาณ 990,000 ล้านบาท และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 200,000 ล้านบาท หรือ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

ที่มา -