ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

จีนกับการขยายอิทธิทางทะเลผ่านท่าเรือปากีสถาน

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 15, 13, 07:23:46 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

อเยนซี- เมื่อเดือนที่ผ่านมาจีนได้กุมอิทธิพลเหนือจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเอเชียใต้เป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่มีการลงนามโอนกรรมสิทธิ์การดำเนินงานท่าเรือกวาดาร์ (Gwadar port) ในจังหวัดบาลูชิสถาน ในปากีสถาน ซึ่งเป็นการโอนสิทธิจากบริษัท PSA International Pte Ltd. ของสิงคโปร์ให้กับบริษัท China Overseas Port Holdings Limited  ซึ่งรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ซึ่งการขยายอิทธิพลของจีนผ่านท่าเรือยุทธศาสตร์สำคัญของปากีสถานเช่นนี้ เป็นความพยายามเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ขยายเส้นทางเดินเรือและเพิ่มศักยภาพทางทหารในอ่าวอาหรับ ซึ่งสร้างความวิตกให้กับอินเดียและสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก


แต่เดิมนั้นรัฐบาลจีนได้ให้ความช่วยเหลือสร้างท่าเรือกวาดาร์เป็นเงิน 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 75% ของงบประมาณทั้งหมด แต่เนื่องจากพลเอก มูชาราฟ อดีตประธานาธิบดีปากีสถานไม่อยากผิดใจกับกรุงวอชิงตัน ปี 2007 รัฐบาลปากีสถานจึงทำสัญญาให้บริษัท PSA International Pte Ltd. ของสิงคโปร์เช่าดำเนินการเป็นเวลา 40 ปี ทว่า นับแต่เปิดให้ดำเนินการ จำนวนสินค้าที่ขนส่งผ่านท่าเรือกวาดาร์ไม่เป็นไปตามคาด จึงขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ยังเหตุให้วันที่ 30 ม.ค. 56 คณะรัฐมนตรีปากีสถานให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอของบริษัท China Overseas Port Holdings Limited ซึ่งรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ในการเข้าถือสิทธิ์การดำเนินงานท่าเรือกวาดาร์ ในจังหวัดบาลูชิสถาน แทนบริษัท PSA International Pte Ltd. ของสิงคโปร์ กระทั่งได้มีการลงนามโอนกรรมสิทธิ์อย่างเป็นทางการโดย อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ประธานาธิบดีปากีสถานคนปัจจุบัน เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 56 และกำหนดให้ส่งมอบสิทธิ์การดำเนินงานให้แล้วสิ้นภายในเวลาเพียงหนึ่งอาทิตย์ ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลจีนต้องจ่ายเงินชดเชยจำนวน 35 ล้านดอลลาร์ให้แก่ PSA และผู้ถือหุ้นอีก 3 ราย ซึ่งรวมทั้ง National Logistics Cell ของกองทัพปากีสถาน

บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่า ท่าเรือกวาดาร์จะเป็น 'สร้อยไข่มุก' ซึ่งเชื่อมภาคตะวันตกของจีนไปสู่แหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติของแอฟริกาและตะวันออกกลางผ่านทะเลอาหรับและช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz) ฉะนั้น การที่รัฐบาลจีนได้รับกรรมสิทธิ์ให้ดำเนินการในครั้งนี้ ไม่เพียงมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางด้านพลังงานเป็นอย่างมาก ทั้งยังเอื้อให้จีนสร้างฐานทัพเรือเพื่อแผ่ขยายอำนาจครอบคลุมทะเลอาหรับ

นอกจากนี้ รัฐบาลเป่ยจิง (ปักกิ่ง) ยังได้ตกลงให้เงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ปากีสถานก่อสร้างถนนระยะทาง 900 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างท่าเรือกวาดาร์กับคาราโครัม ไฮเวย์ (Karakoram Highway) ซึ่งเป็นทางหลวงเชื่อมภาคเหนือกับภาคใต้ของปากีสถาน ถนนสายนี้ไม่เพียงจะช่วยให้การขนส่งทางบกจากกวาดาร์ไปจีนง่ายดายขึ้นหากยังเป็นโซ่คล้องภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลางเข้าด้วยกัน

ด้วยจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเช่นนี้ สร้างความกังวลให้กับอินเดียและสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลจีนวางหมากในพื้นที่สำคัญอื่นๆ อีกทั่วโลก เช่น การจีนลงทุนสร้างท่าเรือบก (dry port) ในประเทศเนปาลมูลค่า 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริเวณพื้นที่ Larchaใกล้ชายแดนทิเบต เพื่อยกระดับเส้นทางเชื่อมเข้าสู่ 'ตลาดอินเดีย' การสนับสนุนด้านทุนและการดำเนินการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก Hambantota ในประเทศศรีลังกา และการร่วมทุนโครงการท่าเรือและท่อส่งเชื้อเพลิงต่างๆ ในพม่า เป็นต้น

ทั้งนี้ Fazul-ul-Rehman อดีตผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันยุทธศาสตร์ศึกษา Islamabad กลับปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จีนจะนำสงครามมาสู่มหาสมุทรอินเดีย และเห็นว่าเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของอินเดียเอง ในขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน Hua Chunying เคยกล่าวในประเด็นท่าเรือกวาดาร์ว่า "รัฐบาลเป่ยจิง (ปักกิ่ง) สนับสนุนสัญญาความร่วมมือที่เปี่ยมด้วยมิตรภาพระหว่างจีนและปากีสถาน เพื่อการพัฒนาและความเจริญของปากีสถานเป็นสำคัญ "


อย่างไรก็ดี การลงทุนขนาดใหญ่ของจีนในปากีสถานอาจเจอปัญหาจากพวกนิยมศาสนานิกายต่างๆ เช่น ตาลีบัน และพวกแบ่งแยกดินแดนในลูจิสถาน จังหวัดด้านตะวันตกเฉียงใต้ใกล้กวาดาร์ ซึ่งในปี 2004 วิศวกรชาวจีน 3 รายในกวาดาร์ถูกสังหารโดยคาร์บอม และมีวิศวกรชาวจีน 2 คน ที่ทำงานโครงการเขื่อนพลังงานน้ำใน Waziristan ถูกลักพาตัว ต่อมาหนึ่งในนั้นเสียชีวิต ดังจะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์การขยายอิทธิทางทะเลผ่านท่าเรือปากีสถานของจีนนั้นยังต้องฝ่าฝันอุปสรรคอีกไม่น้อย

ที่มา -