ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

โอบามา'ยาหอม'ชื่นชมนายกลี ที่ให้สหรัฐส่งเรือรบเข้าประจำการในสิงคโปร์

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 15, 13, 10:51:03 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์กล่าวเตือนสหรัฐฯในวันอังคาร( 2 เม.ย. 56 )ว่า การคำนวณสถานการณ์ในเอเชียผิดพลาดอาจทำให้ภูมิภาคที่เติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วแห่งนี้ต้องมีอันสะดุดลงเป็นหลายๆ ปี พร้อมกับชักชวนวอชิงตันผลักดันวาระความร่วมมือด้านการค้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจังยิ่งขึ้น เพื่อรับมือการเพิ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ก็ยกย่องความร่วมมือทางการทหารอย่างแน่นแฟ้นกับสิงคโปร์ แถมหยอดด้วยว่า นายกฯลีเป็นผู้นำไม่กี่คนในโลกที่ตนเองรู้สึกชื่นชม


นายกรัฐมนตรีลี ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเยือนกรุงวอชิงตัน บอกว่า สหรัฐฯ มี "ผลประโยชน์พื้นฐาน" ในเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือและเสถียรภาพในเอเชีย อันเป็นอาณาบริเวณซึ่งจีนกำลังมีประเด็นพิพาทรุนแรงกับพวกเพื่อนบ้าน

"เราควรพยายามหาทางป้องกันการคำนวณผิดพลาดหรืออุบัติเหตุซึ่งจะทำให้ภูมิภาคนี้สะดุดหยุดนิ่งไปอีกหลายปี" ลีกล่าวปราศรัยเช่นนี้ในงานเลี้ยงอาหารค่ำของพวกผู้นำทางธุรกิจ ภายหลังที่เขาหารือกับประธานาธิบดีโอบามาในทำเนียบขาวแล้ว

สิงคโปร์นั้นแม้เป็นพันธมิตรกับอเมริกามายาวนาน แต่ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับจีน และลีก็แสดงความเชื่อมั่นว่า มี "พื้นที่ร่วมซึ่งกว้างขวางใหญ่โตเพียงพอ" สำหรับให้มหาอำนาจแห่งแปซิฟิกทั้งสองรายนี้ส่งเสริมเอื้อประโยชน์ของกันและกัน

เวลานี้ ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นอยู่ในสภาพเสื่อมถอยลงอย่างมาก จากการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก ขณะเดียวกันเวียดนามและฟิลิปปินส์ก็แสดงบทบาทนำหน้าหลายชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการวิจารณ์ท่าทีแข็งกร้าวยืนกรานของปักกิ่งในการจัดการกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

ความตึงเครียดในเอเชียยังทวีขึ้นอีกในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้จากวิกฤตเกาหลีเหนือ

ทั้งนี้สิงคโปร์ได้อนุญาตให้สหรัฐฯส่งเรือโจมตีชายฝั่ง (littoral combat ship ใช้อักษรย่อว่า LCS) จำนวน 4 ลำเข้าประจำการในน่านน้ำของตน "เป็นการชั่วคราว" โดยลำแรกคือ ยูเอสเอส ฟรีดอม กำลังอยู่ระหว่างเดินทางข้ามแปซิฟิกมายังแดนลอดช่อง เรือประเภทนี้วอชิงตันมุ่งหวังใช้เพื่อแผ่แสนยานุภาพทางนาวีของตนในน่านน้ำชายฝั่งที่เป็นเขตน้ำตื้น

ความสัมพันธ์เช่นนี้เอง ทำให้โอบามากล่าวขณะพบกับลีในห้องทำงานรูปไข่ว่า "เรามีความร่วมมือทางการทหารแน่นแฟ้นมาก" พร้อมกับพูดยกย่องประเทศทุนนิยมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายนี้ว่าเป็น "หนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก"

สิงคโปร์แต่ไหนแต่ไรมาก็มีฐานะเป็นแหล่งที่มาอันสำคัญแหล่งหนึ่งในการให้คำแนะนำและการตีความเหตุการณ์ต่างๆ ในเอเชียแก่คณะรัฐบาลของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับจีน และโอบามากล่าวย้ำว่า ลีได้ให้ความช่วยเหลือแก่ตนมากเป็นพิเศษ


"โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่ามีผู้นำโลกน้อยคนนักที่ผมรู้สึกชื่นชมซาบซึ้งยิ่งกว่านายกฯลี ในแง่ของการให้คำแนะนำ คำปรึกษา และการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน"

ในการพบปะของผู้นำทั้งสองคราวนี้ มีรายงานว่าได้มุ่งเน้นประเด็นความท้าทายด้านความมั่นคงในภูมิภาค และเรื่องการค้า โดยที่สิงคโปร์และอเมริกาต่างเป็นผู้เล่นสำคัญใน ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำขึ้นมา

ระหว่างปราศรัยต่อสภาหอการค้าอเมริกันและสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนในวันอังคาร ลียังเรียกร้องให้สหรัฐฯ เพิ่มความจริงจังในการหาทางทำความตกลงด้านการค้ากับชาติอาเซียน เพื่อรับมือการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเวลานี้ได้กลายเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของเกือบทุกประเทศสมาชิกอาเซียนไปแล้ว แม้กระทั่งพันธมิตรสนิทสนมของอเมริกาอย่างฟิลิปปินส์และไทย

ปัจจุบัน อเมริกามีส่วนร่วมในการเจรจาการค้ากับ 4 ชาติอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน ภายใต้กรอบของการเจรจาทีพีพี

อย่างไรก็ดี การเจรจาทีพีพีนั้นยังคงจำกัดเฉพาะพวกชาติสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งหลายชาติสมาชิกอาเซียนอย่างเช่นพม่า กัมพูชา และลาว ไม่ได้เข้าร่วม

ในเวลาเดียวกัน ชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 กำลังเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ในกรอบความตกลงที่เรียกกันว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน (อาร์ซีอีพี) ถึงแม้พวกผู้เชี่ยวชาญทางการค้ามองว่า อาร์ซีอีพีนั้นจะไม่ครอบคลุมรอบด้านและสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ได้เท่ากับทีพีพีก็ตามที

กระนั้น ทั้งทีพีพีและอาร์ซีอีพี ต่างถูกจับตาว่า จะเป็นก้าวย่างอันสำคัญสำหรับเป้าหมายระยะยาวที่จะไปสู่การทำข้อตกลงการค้าเสรีภายในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมอย่างกว้างขวางรอบด้าน

ที่มา -