ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ยุทธการแย่งเกาะ คู่กัด จีน - เวียดนาม

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 03, 14, 21:02:04 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

"การที่เชิญสื่อมวลชน และนักวิชาการจากนานาประเทศมาร่วมสัมมนาครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้คนไทยและชาวโลก ได้เข้าใจถึงสภาพความเป็นจริง กรณีที่เวียดนามถูกประเทศที่ใหญ่กว่ารังแกเรา"


มร. เจิ่งกงจุก อดีตหัวหน้าคณะกรรมการเขตแดน กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม (Former Head of the Committee on Border of the Central Government) เปิดประเด็นระหว่างที่เวียดนามกำลังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ ในหัวข้อ

"ความจริงทางประวัติศาสตร์ กรณีหมู่เกาะพาราเซล และสแปรตลีย์"

มร.เจิ่งบอกว่า เวลานี้จีนยังคงปฏิบัติการ ใช้ทั้งเรือที่เกี่ยวข้องกับการทหาร เรือประมง และเรือสำรวจสิ่งแวดล้อมในทะเล รวมประมาณ 130 ลำ และเครื่องบินบางส่วน แต่ยังไม่มีการใช้อาวุธ เป็นเพียงการแสดงท่าทีที่จะคุ้มกันแท่นขุดเจาะสำรวจน้ำมันของจีน ในเขตน่านน้ำเศรษฐกิจของเวียดนาม ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งเวียดนามไปราว 119 ไมล์ทะเล และอยู่ห่างจากเกาะไหหลำของจีน ไปประมาณเกือบ 200 ไมล์ทะเล

เขาบอกว่า แม้บริเวณดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับหมู่เกาะพาราเซล และสแปรตลีย์โดยตรง แต่เป็นเขตน่านน้ำเศรษฐกิจของเวียดนาม ซึ่งจีนคาดคะเนเอาเองตามแผนที่เส้นประ 9 เส้นของจีนว่า เป็นอาณาเขตทางทะเลของตน ทั้งที่ตามสนธิสัญญาสหประชาชาติ ค.ศ.1982 จีนไม่อาจอ้างสิทธิเช่นนั้นได้

หากนับจากชายฝั่งทะเลของเวียดนาม ช่วงเมืองดานัง "พาราเซล" หรือ "หมู่เกาะห่งซา" ในภาษาเวียดนาม อยู่ห่างจากชายฝั่งเวียดนามไป

ราว 170 ไมล์ทะเล ส่วน "เจื่อง ซา" หรือ หมู่เกาะสแปรตลีย์ อยู่ห่างจากชายฝั่งเวียดนามไปประมาณ 300–400 ไมล์ทะเล

มร.เจิ่งบอกว่า ประเด็นที่ทำให้เกิดข้อพิพาทลุกลาม ก็คือ จีนพยายามดึงเอาหมู่เกาะพาราเซลมาเป็นของตน เพื่อที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการขีดเส้นรัศมีน่านน้ำทะเลของตน ทั้งที่บริเวณดังกล่าวเป็นของเวียดนาม

"ชาวเวียดนามเรารู้สึกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จีนเป็นฝ่ายที่บุกเข้ามายึดครอง หากเปรียบเทียบกับกรณีความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหาร ระหว่างไทยกับกัมพูชาแล้ว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศคู่กรณีก่อน จึงจะนำข้อพิพาทไปสู่ศาลโลกได้ แต่กรณีนี้เรายังดำเนินการ ไม่ถึงขั้นนั้น"

เขาบอกว่า เวียดนามพยายามจะทำให้ข้อเรียกร้อง ไปสู่การพิจารณาของศาลโลก แต่ทว่าฝ่ายจีนกลับไม่ยอมทำอะไรเลย เหมือนกับว่า จีนพยายามเตะถ่วงหรือบ่ายเบี่ยง ไม่เอาด้วยที่จะนำข้อขัดแย้งไปสู่ศาลโลก

"สิ่งที่จีนทำ ก็คือ พยายามสร้างสถานการณ์ขึ้นมา แล้วก็กล่าวหาเวียดนามว่า ขัดขวางปฏิบัติการขุดเจาะสำรวจน้ำมันในท้องทะเลของตน ยอมรับว่า เวียดนามเอง เราไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากหาพันธมิตร และชี้แจงให้ชาวโลกได้รับรู้ความเป็นจริง"

มร.เจิ่งบอกว่า เวียดนามมีหลักฐานชัดเจนว่า ทั้งหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลีย์ เป็นของเวียดนาม โดยเวียดนามมีอำนาจปกครองไปถึงหมู่เกาะทั้งสองแห่ง มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17

แต่ในสายตาของจีน ก็คือ ปล่อยให้เวียดนามและฟิลิปปินส์เป็นผู้เล่นในสนามฟุตบอลไป โดยมองว่าถึงยังไงสนามฟุตบอลนี้ ก็ยังเป็นของฉัน ทั้งที่ความจริงข้อพิพาทลักษณะนี้ ต้องมีการเจรจากันในระดับสากล

ศาสตราจารย์ Tran Van Doan ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาการเมือง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ซึ่งติดตามกรณีพิพาททางทะเล ระหว่างจีนกับเวียดนามมายาวนาน ให้ความเห็นว่า

"ความขัดแย้งระหว่างจีนกับเวียดนามเวลานี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกรณีน่านน้ำในทะเล แต่ยังเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ที่ยาวนานนับร้อยปีในประวัติศาสตร์ด้วย แต่ที่สถานการณ์เพิ่งมาตึงเครียดหนักขึ้นอีกครั้ง ก็เพราะเริ่มมีการค้นพบน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแย่งชิงการครอบครองเส้นทางเดินเรือ อันเป็นปัญหาที่เพิ่งหนักข้อขึ้น เมื่อ ค.ศ.1980 นี่เอง"

เขาบอกว่า จีนมีแผนแยบคาย ที่จะเปิดกว้างชายแดนของตน มุ่งลงสู่ตอนใต้มานานแล้ว

"เมื่อ 40 ปีก่อน เล หย่วน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เคยคุยกับเหมา เจ๋อ ตุง เกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคอินโดจีน ตอนนั้นประธานฯเหมา ถาม เล หย่วน ว่า ลาวมีประชากรอยู่เท่าไร เล หย่วน ตอบไปว่า ประมาณ 2 ล้านคน ประธานฯเหมา บอกว่า เดี๋ยวเขาจะส่งคนจีนไปสัก 2 ล้านคน ช่วยเพิ่มประชากรให้ลาว ชี้ให้เห็นว่า จีนทำได้ทุกอย่าง แม้แต่คิดจะครองโลก ด้วยการส่งคนของตนไปกลืนชาติพันธุ์ของประเทศอื่น"

ศาสตราจารย์ Tran Van Doan บอกว่า ถ้าประเทศต่างๆที่มีปัญหากับจีน ไม่มียุทธศาสตร์ที่ดีพอ ในที่สุดก็จะถูกจีนยึดครองไปหมด

ที่สำคัญ การจะรอดพ้นจากเงื้อมมือของจีนได้ มีทางเดียวเท่านั้น

คือ ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต้องสามัคคีกัน รวมทั้งจับมือกับอินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จึงจะสกัดกั้นการรุกรานของจีนได้

"แต่สิ่งที่ยาก ก็คือ ประเทศในอาเซียนเวลานี้ ยังไม่ค่อยสามัคคีกันนัก โดยเฉพาะผู้นำบางประเทศในอาเซียน โดนจีนใช้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ซื้อตัวไปเป็นมิตรประเทศ นี่ต่างหากคือปัญหา"

ขณะที่ เจิ่ง วัน หลิง นายกสมาคมผู้ประกอบการประมงเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ให้ความเห็นเป็นรายต่อมาว่า มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ชัดว่า ในเขตน่านน้ำทั้งหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลีย์

เคยขึ้นอยู่ใต้อำนาจการปกครองของกษัตริย์เวียดนาม ซึ่งเคยปกครองเวียดนามมาเมื่อร้อยกว่าปีแล้ว

"บริเวณดังกล่าวมีปลาชุกชุม เป็นเส้นทางที่ปลาทูน่าแหวกว่ายผ่าน และเป็นเขตปะการัง ปลาจึงไปอาศัยอยู่เยอะ ชาวประมงเวียดนาม จึงชอบไปจับปลากันที่นั่น"

มร.เจิ่งบอกว่า ไม่เพียงแต่ชาวประมงเวียดนาม แม้แต่ชาวประมงญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน จากเกาะไหหลำ ก็นิยมไปจับปลาที่นั่นด้วย


เขาว่า ตามความรู้สึกของชาวเวียดนาม แม้ว่าแผ่นดินเดิมเป็นของคนเวียดนาม แต่ว่าปลาถือเป็นทรัพยากรร่วมกันของชาวโลก ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะมันสามารถแหวกว่ายไปได้ทุกที่

"ยุคที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองอินโดจีน บริเวณหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลีย์ ถือว่าเป็นของฝรั่งเศส แต่พอฝรั่งเศสถอนตัวไป เขาได้คืนให้แก่เวียดนามใต้ เมื่อ ค.ศ.1954 ตามสนธิสัญญาเจนีวา

แต่พอมาปี 1974 จีนยกกำลังขึ้นไปยึดครองเกาะพาราเซล เพราะเห็นว่าช่วงนั้นสหรัฐอเมริกาที่หนุนหลังเวียดนามใต้ เริ่มอ่อนแอ จีนจึงใช้จังหวะช่วงที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ กำลังจะรวมชาติพอดี เวียดนามจึงไม่มีกำลังที่จะไปต้านจีน"

มร.เจิ่งบอกว่า จีนใช้วิธีคิดแบบพูดเอง เออเอง ซึ่งเป็นอะไรที่ไร้เหตุผล หรือกุเรื่องขึ้นมาชัดๆ จีนจึงทำตัวเหมือนอันธพาล เข้าไปยึดครองหมู่เกาะพาราเซลในช่วงปี 1974 และยึดครองหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในปี 1978

"เหมือนกับว่า เวลานี้จีนกำลังโยนหินถามทาง ต้องการจะทดสอบความรักชาติ และความอดทนของชาวเวียดนาม รวมทั้งทดสอบความสัมพันธ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติว่า เหนียวแน่นมั่นคงเพียงใด"มร.เจิ่งทิ้งท้ายไว้ว่า

"จีนเผยธาตุแท้ของตัวเองออกมาเร็วเกินไป อาการฮึดฮัดของจีนกำลังก่อศัตรูไปทั่วภูมิภาค ซึ่งจะกลายเป็นผลเสียของจีนเอง เพราะผมเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว ฟ้าย่อมไม่เข้าข้างคนโกง".

ที่มา -



..-