ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

อิตาลีเริ่มกู้ซากเรือสำราญมรณะ “กอสตา กอนกอร์เดีย” ให้กลับมา “ลอยลำ” อีกครั้ง

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 15, 14, 22:48:37 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เอเจนซีส์– ปฏิบัติการกู้ซากเรือสำราญ กอสตา กอนกอร์เดีย ซึ่งประสบอุบัติเหตุอับปางลงนอกชายฝั่งแคว้นทัสกานีของอิตาลีเมื่อ 2 ปีก่อน เดินหน้าไปอีกขั้นในวันนี้(14 ก.ค. 57) โดยคาดว่าเรือจะกลับมาลอยลำได้อีกครั้งภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า


นิต สโลแอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้เรือจม ยอมรับว่า รู้สึก "กังวลเล็กน้อย" ขณะออกไปยืนควบคุมปฏิบัติการกู้เรือสำราญขนาดใหญ่มหึมาซึ่งจมอยู่ในน้ำทะเลมานานถึง 2 ปีครึ่ง หลังแล่นเกยหินโสโครกที่เกาะจิกลิโอ แคว้นทัสกานี เมื่อต้นปี 2012 จนทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตรวม 32 ศพ

สื่อมวลชนจากหลายประเทศต่างไปปักหลักรอที่ท่าเรือเพื่อชมการทำงานสุดท้าทายของ สโลแอน ซึ่งเป็นชาวแอฟริกาใต้ที่ตระเวนกู้ซากเรือมาแล้วทั่วโลก

ทั้งนี้ คาดว่าเรือสำราญ กอสตา กอนกอร์เดีย ความยาว 290 เมตร จะกลับมาลอยลำได้อีกครั้งภายใน 6-7 วันข้างหน้า จากนั้นจะถูกลากไปยังท่าเรือเมืองเฌนัวทางตอนเหนือของอิตาลีเพื่อทำลายทิ้งในช่วงสิ้นเดือนนี้

เรือสำราญขนาดใหญ่ซึ่งมีระวางขับน้ำ 114,500 ตันจะถูกยกสูงขึ้นประมาณ 2 เมตรจากแท่นจำลองซึ่งมันถูกวางเอาไว้ หลังถูกดึงให้ตั้งตรงตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่กังวลว่าปฏิบัติการกู้เรืออาจต้องล่าช้าออกไปเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย แต่ปรากฏว่าเช้ามืดวันนี้(14 ก.ค. 57) ฝนเริ่มซา เรือลากจูงจึงสามารถนำนักประดาน้ำและวิศวกรออกไปยังซากเรือเพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน

เจ้าหน้าที่จะปั๊มลมใส่ถังพยุงเรือจำนวน 30 ถังที่ผูกติดอยู่กับกราบเรือทั้ง 2 ข้างเพื่อไล่น้ำที่ขังอยู่ภายในตัวเรือออก จากนั้นจึงค่อยๆ ยกเรือขึ้นมา และลากออกไปจากชายฝั่ง โดยมีเหล็กเส้น 36 เส้นและโซ่อีก 56 เส้นผูกถังพยุงเรือให้อยู่กับที่

"ปัญหาก็คือ เรืออาจจะงอในขณะที่เราดึงมันขึ้นมา หรือไม่โซ่ที่ผูกเอาไว้ใต้ลำเรือก็อาจจะขาด" สโลแอน ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

"เราจะส่งพนักงานขึ้นไปบนเรือ 42 คนสำหรับความพยายามครั้งแรก แต่ถ้ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น เราจะอพยพพวกเขาออกมาทันที"

ปฏิบัติการในขั้นตอนนี้คาดว่าจะกินเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง

สำหรับขั้นตอนในการทำให้เรือลอยได้อีกครั้งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม 57 นี้ โดยจะมีการปั๊มลมเข้าไปในถังพยุงเพื่อยกเรือขึ้นมา จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำเศษซากอุปกรณ์ต่างๆ ออกจากเรือ และตรวจสอบว่าเรือได้รับความเสียหายในเชิงโครงสร้างมากน้อยเพียงใด

เมื่อกระบวนการตรวจสอบเสร็จสมบูรณ์ เรือ กอสตา กอนกอร์เดีย จะถูกลากออกไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อการเดินทางเที่ยวสุดท้ายของมัน

น่านน้ำบริเวณนี้ถือเป็นเขตอนุรักษ์ทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป โดยเป็นถิ่นอาศัยของโลมาและวาฬหลายชนิด

นักสิ่งแวดล้อมเตือนว่า น้ำมันเชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมาระหว่างที่เรือถูกยกขึ้นจากน้ำและลากจูงออกไปจากพื้นที่ อาจสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ

กอสตา กอนกอร์เดีย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเรือไททานิกถึง 2 เท่า เคยเป็นดั่งสวรรค์ลอยน้ำที่มีพร้อมทั้งความบันเทิงและห้องออกกำลังกายไว้บริการผู้โดยสารกระเป๋าหนัก บนเรือยังมีสระว่ายน้ำถึง 4 สระ และสปาบนเรือขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

มันประสบอุบัติเหตุเกยหินโสโครกที่นอกชายฝั่งเกาะจิกลิโอเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 13 มกราคม ปี ค.ศ. 2012 ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 4,229 คนจาก 70 ประเทศต้องอพยพหนีตายกันจ้าละหวั่น บางรายถึงกับต้องกระโดดลงทะเล เนื่องจากรอกสำหรับชักลากเรือชูชีพพัง

ที่มา -




'อิตาลี' เตรียมทำลายเรือสำราญอับปาง

'อิตาลี' เตรียมย้ายซากเรือสำราญ 'คอนคอร์เดีย' ออกจากชายฝั่งไปทำลายทิ้ง


14 ก.ค. 57  อิตาลีจะเริ่มกู้ซากเรือสำราญ คอสต้า คอนคอร์เดีย ที่ประสบเหตุอับปางหลังชนปะการังนอกชายฝั่งเกาะ กิกลิโอ้ ตั้งแต่เกือบสองปีครึ่งที่ผ่านมา โดยภารกิจกู้ภัยทางทะเลครั้งท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์ จะต้องทำให้เรือลอยได้อีกครั้ง ก่อนลากไปรื้อทำลาย

เรือคอสต้า คอนคอร์เดีย น้ำหนัก 114,500 ตัน เอียงตะแคงอยู่นอกชายฝั่งเกาะกิกลิโอ้ มาตั้งแต่ 13 ม.ค. 55 หลังชนปะการังนอกชายฝั่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 คน และในอีก 9 เดือนต่อมา มีการใช้สายเคเบิลดึงเรือขึ้นตั้งตรงด้วยระบบไฮดรอลิก และตั้งอยู่บนแท่นเหล็กที่สร้างขึ้นพิเศษ ล่าสุดทางการอิตาลีมีคำอนุญาตเมื่อวันเสาร์ ให้เริ่มขั้นตอนต่อไปเพื่อปล่อยให้เรือลอยขึ้นจากน้ำแล้วลากไปทำลายทิ้ง

โดยภารกิจที่จะเริ่มขึ้นวันนี้ จะปล่อยน้ำออกจากแท็งก์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมกับด้านข้างตัวเรือสองด้านเพื่อพยุงตัวเรือให้สูงจากน้ำ เพื่อให้เรือสามารถลอยขึ้นจากแท่นเหล็ก จากนั้นจะลากเรือออกไป 30 เมตรห่างจากชายฝั่งเพื่อยกตัวเรือขึ้น ซึ่งคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดนี้อาจต้องใช้เวลา 6-7 วัน หลังจากนั้นจะลากเรือไปยังเมืองเจนัวเพื่อจัดการแยกชิ้นส่วนทำลายทิ้ง คาดว่าจะใช้เวลาราว 4-5 วันก็จะไปถึง แต่ภารกิจครั้งนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบาก และวิตกกันว่า เรือที่ยาว 290 เมตรลำนี้ อาจไม่สามารถลอยได้อีก หรืออาจแตกหักได้ระหว่างยกขึ้นจากแท่น

ขณะที่ญาติของผู้เสียชีวิตรายสุดท้ายที่ยังหาศพไม่พบ ตั้งความหวังว่า เมื่อซากเรือลอยอยู่กลางทะเลได้แล้ว จะสามารถค้นหาผู้เสียชีวิตได้ เหยื่อรายนี้เป็นพนักงานเสิร์ฟชายชาวอินเดียบนเรือคอนคอร์เดีย

แต่นักสิ่งแวดล้อมแสดงความวิตกว่า การดึงซากเรือขึ้นอาจทำให้เกิดมลพิษทางทะเลได้ โดยอาจมีเศษอาหารเน่าเสีย สารเคมี และเศษชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ลอยเกลื่อนในทะเล แม้ว่าก่อนหน้านี้น้ำมันเชื้อเพลิงกว่า 2,000 ตัน ถูกสูบออกจากถังน้ำมันบนเรือหมดแล้วภายในไม่กี่สัปดาห์หลังอุบัติเหตุ

ส่วนค่าใช้จ่ายในการกู้ซากเรือ ลากไปยังเมืองเจนัว และการแยกทำลายชิ้นส่วนเรือ อาจสูงถึง 1,500 ล้านยูโร ขณะที่กัปตันเรือ ฟรานเซสโก้ เชตติโน่ กำลังถูกดำเนินคดีในศาล ข้อหาทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ทำให้เรืออับปาง และสละเรือ แต่เขาปฏิเสธทุกข้อหา

ที่มา -





อิตาลีกู้ซากเรือสำราญยักษ์ 'คอสต้า คอนคอร์เดีย' ล่มกว่า 2 ปี

อิตาลี ลงมือปฏิบัติการกู้ซากเรือสำราญขนาดยักษ์ 'คอสต้า คอนคอร์เดีย' ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ หลังประสบเหตุล่ม เพราะชนหินโสโครก ใกล้เกาะจิกลิโอ มานาน 2 ปีีครึ่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 ศพ


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 14 ก.ค. 57 ว่า ทางการอิตาลีลงมือปฏิบัติการครั้งใหญ่ กู้ซากเรือสำราญขนาดยักษ์ 'คอสต้า คอนคอร์เดีย'ขึ้นจากทะเล  หลังประสบเหตุล่ม นอกชายฝั่ง เนื่องจากชนเข้ากับหินโสโครก ใกล้เกาะจิกลิโอ ในน่านน้ำของประเทศอิตาลี เมื่อเดือนม.ค.ปี 2555 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 32 ศพ

สำหรับปฏิบัติการกู้ซากเรือสำราญสุดหรู  คอสต้า คอนคอร์เดีย ในครั้งนี้ ถือเป็นปฏิบัติการกู้ซากเรือครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นการกู้ซากเรือสำราญขนาดใหญ่โตมาก ซึ่งตามลำดับขั้นตอนนั้น บรรดาคนงานจะค่อยๆ ยกเรือ ขึ้นด้วยการปั๊มอากาศเข้าไปในถังที่ผูกติดกับเรืออย่างช้าๆ เพื่อให้เรือลอยขึ้นมา และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 หรือ 7 วัน โดยจากนั้น เมื่อกู้เรือสำเร็จแล้ว จะนำเรือสำราญ กลับไปยัง 'อู่เรือ' ในเมืองเจนัว ต่อไป

ด้านนายฟรังโก กาเบรียล หัวหน้าสำนักงานควบคุมพลเรือนของอิตาลี กล่าวก้บผู้สื่อข่าวว่า ปฏิบัติการกู้ซากเรือสำราญคอสต้า คอนคอร์เดรีย จะมีความสลับซับซ้อนมาก โดย ขั้นตอนแรก จะเป็นช่วงอันตรายมากที่สุด เพราะชั้นต่างๆ ของเรืออาจถูกแยกออกจากกันได้  ขณะที่ เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ทางการอิตาลีได้มีปฏิบัติการกู้ซากเรือสำราญลำนี้  แต่ปรากฏว่า มีเพียงบางส่วนของเรือเท่านั้น ที่โผล่ขึ้นมา และยังมีชั้นต่างๆของเรือถึง 6 ชั้นยังจมอยู่ใต้ทะเล


ทั้งนี้ เรือสำราญขนาดยักษ์ คอสต้า คอนคอร์เดีย ประสบเหตุอับปาง เนื่องจากชนกับหินโสโครก ใกล้เกาะจิกลิโอ ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้โดยสารที่มีมากถึง 4,000 คน อีกทั้งสื่อมวลชนยังได้นำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เรือไททานิก ล่ม ซึ่งจะมีอายุครบ 100 ปีในเดือนเมษายน ปีเดียวกันพอดี ส่วนนายฟรานเชสโก เชตติโน กัปตันเรือคอสต้า คอนคอร์เดีย ได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฆาตกรรมและละทิ้งเรือขณะประสบเหตุ ซึ่งหากศาลตัดสินว่าเขามีความผิดจริง อาจโดนจำคุกนานถึง 20 ปี ขณะที่นายเชตติโนได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา.

ที่มา -



..-