ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ขาดแคลนแรงงาน ฉุดรั้งการเติบโตของภาคโลจิสติกส์

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 01, 13, 18:08:52 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองภาวะแรงงานไม่เพียงพอ ปัจจัยเสี่ยงฉุดรั้งการเติบโตของภาคโลจิสติกส์ไทย

ภาคโลจิสติกส์มีแนวโน้มขยายตัวเนื่องมาจากกิจกรรมขนส่งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ


ภาคโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยถูกขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมการขนส่งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนตามรายละเอียด ดังนี้

กิจกรรมการขนส่งภายในประเทศ

จากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะภูมิภาคต่างๆ มีการเติบโตของความเป็นเมืองเพิ่มมากขึ้น (Urbanization) ส่งผลให้โครงสร้างรายได้ของประชากรในต่างจังหวัดสูงขึ้น จึงทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามมา ส่งผลต่อความต้องการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ดังจะเห็นได้ว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภาคขนส่งและโลจิสติกส์มีการขยายตัวสอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศใกล้เคียงกันอย่างต่อเนื่องทุกปี

กิจกรรมการขนส่งระหว่างประเทศ

- การพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันประเทศไทยได้พัฒนาเส้นทางระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ 1) เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) หรือ R9 เวียดนาม–ลาว–ไทย–พม่า และ 2) เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North South Economic Corridor: NSEC) เชื่อมโยงไทย-พม่า/ลาว-จีน ทั้งนี้ เส้นทาง EWEC (R9) และ NSEC มีจุดเชื่อมต่อกันที่ จ.พิษณุโลก มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ จีน สปป.ลาว ไทย เวียดนาม และพม่า โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดประสิทธิภาพการเคลื่อนย้ายคนและสินค้า และมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือและโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวของประเทศที่เส้นทางดังกล่าวเชื่อมผ่าน ที่ผ่านมาเส้นทางดังกล่าวมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดประโยชน์ในการขนส่งสินค้า พิจารณาจากการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง NSEC (R9) เมื่อเดือนมกราคม ปี 2550 ทำให้มูลค่าการค้าชายแดน จ.มุกดาหารในปี 2550 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 104 เมื่อเทียบกับปี 2549 คิดเป็นมูลค่า 19,000 ล้านบาทและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2555 มีมูลค่าสูงถึง 97,685 ล้านบาท จากการแล้วเสร็จของสะพานดังกล่าวที่ทำให้ไม่ต้องลำเลียงสินค้าทางเรือข้ามแม่น้ำโขงอีกต่อไป จึงคาดว่าเมื่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (ห้วยทราย-เชียงของ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง NSEC (R3E/R3A) แล้วเสร็จและเปิดใช้ในปี 2556 จะทำให้มูลค่าการค้าชายแดนที่ด่านเชียงของ จ.เชียงราย เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

- การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 จะส่งผลให้มีการเปิดเสรีทางด้านการค้า การลงทุนและธุรกิจบริการ เกิดความต้องการแลกเปลี่ยนสินค้าและทรัพยากรระหว่างประเทศสมาชิกมากยิ่งขึ้น จึงก่อให้เกิดกิจกรรมการขนส่งเพิ่มขึ้นตามมา ทั้งนี้ สถิติการค้าชายแดนของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และมาเลเซีย มีการเติบโตขึ้นเป็นลำดับ จึงคาดว่าภายหลังการเปิด AEC แล้วกิจกรรมการค้าชายแดนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการคมนาคมขนส่งข้ามพรมแดนภายใต้กรอบ AEC ก็จะยิ่งเอื้อให้เกิดการคมนาคมขนส่งเพิ่มมากขึ้น

ภายใต้การเปิด AEC ในปี 2558 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเป็น "Logistics Hub" ของภูมิภาค เนื่องจากมีจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งที่อยู่ศูนย์กลางของภูมิภาคและมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งของอาเซียนนั้นสามารถบรรลุเป้าหมายได้โดยการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะอำนวยความสะดวกกิจกรรมการขนส่งของไทยและต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการให้สามารถลดต้นทุนได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ภาครัฐได้มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่าน พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ จำนวน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นแนวทางในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ อนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จเพื่อมุ่งไปสู่การเป็น "Logistics Hub" นอกจากการพัฒนาด้านกายภาพแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ การพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอเพื่อรองรับแผนพัฒนาด้วย เพราะหากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ขาดองค์ความรู้และขาดแรงงานที่มีความรู้ความสามารถก็จะทำไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

ตลาดยังต้องการแรงงานด้านโลจิสติกส์ ทั้งกลุ่มบริหารจัดการ และกลุ่มปฏิบัติการ

ในขณะที่มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในภาคขนส่งและโลจิสติกส์ขยายตัวขึ้น กลับพบว่าจำนวนแรงงานด้านโลจิสติกส์ลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนแรงงาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ประเทศไทยยังคงเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานด้านโลจิสติกส์ ทั้งแรงงานกลุ่มบริหารจัดการและกลุ่มปฏิบัติการ โดยขาดแคลนแรงงานกลุ่มบริหารจัดการ  46,795 คน และ 31,071 คน ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ และขาดแคลนแรงงานกลุ่มปฏิบัติการ 86,378 คน และ 71,877 คน ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาขีดความสามารถของสถาบันการศึกษา พบว่า ระดับอาชีวศึกษา มีสถาบันที่เปิดหลักสูตรโลจิสติกส์และสาขาที่เกี่ยวข้อง 38 สถาบัน โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละสถาบันผลิตแรงงานได้ปีละ 80 คน จึงมีแรงงานเข้าสู่ตลาดปีละ 3,040 คน และจากการประมวลข้อมูล ระดับอุดมศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พบว่า ปี 2555 มีสถาบันที่เปิดหลักสูตรโลจิสติกส์และสาขาที่เกี่ยวข้อง  48 สถาบัน มีหลักสูตร 90 หลักสูตร รวมจำนวนนักเรียน 16,957 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีจำนวนสถาบันการศึกษา 43 สถาบัน มีหลักสูตร 75 หลักสูตร รวมจำนวนนักเรียน 11,830 คน

จากข้อมูลทั้งในระดับอาชีวศึกษาและในระดับอุดมศึกษาดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่าในปี 2555 และ 2556 นี้ จะมีแรงงานใหม่ที่จบการศึกษาในสาขาโลจิสติกส์และสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าสู่ตลาดเพื่อเป็นแรงงานด้านโลจิสติกส์กลุ่มบริหารจัดการประมาณ 7,868 คนต่อปี  แบ่งเป็นระดับอาชีวศึกษา 3,040 คนต่อปี และระดับอุดมศึกษา 4,828 คนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีจำนวนประมาณ 6,553 คน

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านโลจิสติกส์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านโลจิสติกส์นั้น ต้องให้ความสำคัญกับแรงงานทั้งกลุ่มบริหารจัดการและแรงงานกลุ่มปฏิบัติการควบคู่กันไป จึงจะส่งผลให้ประเทศไทยมีแรงงานอย่างเพียงพอ และสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของอาเซียนตามที่ตั้งไว้ สำหรับแรงงานกลุ่มบริหารจัดการนั้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะเป็นไปในระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจาก สถาบันการศึกษาได้เร่งผลิตแรงงานออกสู่ตลาดในรูปแบบการรับสมัครนักศึกษาเพิ่มขึ้นและเปิดหลักสูตรสาขาโลจิสติกส์และสาขาที่เกี่ยวข้องใหม่ๆเพิ่มเติม รวมถึงแรงงานที่ขาดแคลนยังสามารถทดแทนได้ด้วยแรงงานที่จบการศึกษาในสาขาอื่น และแรงงานที่ย้ายจากสาขางานด้านอื่นเข้าสู่สาขางานด้านโลจิสติกส์ได้ ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาความต้องการแรงงานด้านโลจิสติกส์ในระยะยาวเพื่อป้องกันภาวะแรงงานล้นตลาด โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานกลุ่มบริหารจัดการ มีดังนี้

- เปิดหลักสูตรการศึกษาสาขาโลจิสติกส์และสาขาที่เกี่ยวข้องในระยะสั้น: สถาบันการศึกษาควรเปิดหลักสูตรการศึกษาสาขาโลจิสติกส์และสาขาที่เกี่ยวข้องในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนแรงงานกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาในสาขาอื่น และแรงงานที่ย้ายจากสาขางานด้านอื่นเข้าสู่สาขางานด้านโลจิสติกส์ ให้มีความรู้เกี่ยวกับสาขาโลจิสติกส์ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปปฏิบัติงานได้ทันที

- ผลิตแรงงานเพื่อรองรับ AEC: แรงงานกลุ่มบริหารจัดการต้องมีความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ในระดับอาเซียนได้ สถาบันการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการสอดแทรกเนื้อหาความรู้ด้านโลจิสติกส์ในบริบทอาเซียนไว้ในหลักสูตรการศึกษา ในขณะเดียวกัน อาจมีการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติเพิ่มเติม เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักศึกษาในประเทศและนักศึกษาต่างชาติที่มีความสนใจ

- ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์ที่สามารถนำไปปฏิบัติงานได้ในเชิงธุรกิจ: สถาบันการศึกษาควรสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาหลักสูตรสาขาโลจิสติกส์และสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรที่มีระบบโลจิกติกส์หรือห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจระบบโลจิสติกส์ในมิติของการปฏิบัติงานเชิงธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น


สำหรับแรงงานกลุ่มปฏิบัติการนั้น เป็นกลุ่มที่ยังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเป็นแรงงานกลุ่มที่ใช้ความสามารถเฉพาะด้าน จึงไม่สามารถทดแทนได้ด้วยแรงงานจากสาขางานด้านอื่นๆ อีกทั้งการขยายเส้นทางการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นทางการขนส่งทางบก ทั้งภายในประเทศและอาเซียน เป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งความต้องการแรงงานด้านโลจิสติกส์กลุ่มปฏิบัติการมากขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านโลจิสติกส์กลุ่มปฏิบัติการจึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานกลุ่มปฏิบัติการ มีดังนี้

- ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ: แรงงานด้านโลจิสติกส์กลุ่มปฏิบัติการควรได้รับการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในรูปแบบของการอบรมเชิงปฏิบัติการที่มีเนื้อหาครอบคลุมถึงเส้นทางการขนส่งและกฏจราจรของประเทศต่างๆในอาเซียน วิธีการขับรถทั้งพวงมาลัยด้านซ้ายและด้านขวาที่ถูกต้องและปลอดภัย รวมถึงทักษะภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสาร

- สร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ: แรงงานด้านโลจิสติกส์กลุ่มปฏิบัติการควรได้รับการยกระดับสภาพแวดล้อมการทำงานและคุณภาพชีวิต ทั้งในส่วนของค่าจ้างและสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ รวมถึงชี้ให้เห็นเส้นทางอาชีพที่มีความก้าวหน้า เพื่อจูงใจให้แรงงานเข้ามาทำงานและลดปัญหาขาดแคลนแรงงานกลุ่มดังกล่าว

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจควรมีการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านคลังสินค้า เช่น ซอฟต์แวร์ที่ช่วยบริหารจัดการคลังสินค้าด้านการรับสินค้า การระบุตำแหน่งการเก็บสินค้า และการกระจายสินค้า เทคโนโลยีด้านการขนส่งสินค้า เช่น ระบบ Global Positioning System (GPS) ที่ช่วยวางแผนเส้นทางการขนส่ง ติดตามตำแหน่งพาหนะ และรายงานผลการขนส่งได้ รวมถึงเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ เช่น ซอฟต์แวร์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถคำนวณรูปแบบและขนาดบรรจุภัณฑ์ให้มีพื้นที่ว่างน้อยที่สุดสำหรับการขนส่งแต่ละครั้ง ซึ่งการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์มาใช้ จะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานสำหรับภาคธุรกิจ ตลอดจนเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่งได้

ที่มา -