ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

โค้งสุดท้ายแหล่งปลาทอง "เชฟรอน" ลุ้นต่อสัมปทานก่อนหมดสัญญาปี 2565

เริ่มโดย mrtnews, ก.พ 05, 15, 19:50:11 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 มาตั้งแต่เดือนตุลาคมของปี 2557 ที่ผ่านมา และจะปิดรับการยื่นขอในวันที่ 18 ก.พ. 58 ความจำเป็นที่จะต้องมีการเปิดสัมปทานครั้งนี้ เพราะปริมาณสำรองปิโตรเลียมจะมีรองรับการใช้ได้เพียง 7 - 8 ปี


หากไม่มีการสำรวจและผลิตเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีแหล่งผลิตพลังงานสำคัญที่จะทยอยหมดอายุสัมปทานปิโตรเลียมในช่วงปี 2565 เป็นต้นไป โดยเฉพาะแหล่งปลาทอง ในอ่าวไทย ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่อาจยังมีศัยกภาพพอจะพัฒนาได้ต่อ

ปลาทองหมดสัญญาสัมปทาน

แหล่งปลาทองได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 จนปัจจุบันพบว่ามีอัตราการผลิตปิโตรเลียมลดลงร้อยละ 20-30 ในทุกปี และต้องขุดเจาะหลุมผลิตเพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อรักษาปริมาณปิโตรเลียมให้ครบตามสัญญาคือ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันส่งต่อไปยังลูกค้ารายใหญ่ คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าร้อยละ 60 โรงงานปิโตรเคมีร้อยละ 20 เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอื่น ๆร้อยละ 14 และเชฟรอนฯใช้เองในพื้นที่ร้อยละ 6

แหล่งดังกล่าวค่อนข้างมีความซับซ้อนทางธรณีวิทยา ทำให้เชฟรอนฯต้องใช้เทคโนโลยีการขุดเจาะและผลิตที่ค่อนข้างทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ปัจจุบันแหล่งปลาทองมีแท่นพักอาศัย และแท่นผลิตรวมทั้งสิ้น 6 แท่น มีการขุดเจาะหลุมรวมทั้งสิ้น 1,000 หลุม ในขณะที่ทั่วบริเวณอ่าวไทยมีการขุดเจาะหลุมสำรวจและผลิตไปแล้วรวมทั้งสิ้น 5,000 หลุม โดยแหล่งปลาทองจะครบสัญญาสัมปทานในปี 2565 ซึ่งสัมปทานดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไข Thailand 1 ที่ดำเนินการต่อสัญญาสัมปทานมาแล้ว 1 ครั้งรวม 10 ปี (อายุสัมปทาน20+10) และขณะนี้กรมเชื้อเพลิงฯอยู่ในระหว่างพิจารณารายละเอียดในกรณีที่ "อาจจะ" ต้องต่ออายุสัญญา รวมถึงเงื่อนไขและผลประโยชน์ที่จะเข้าภาครัฐและผู้รับสัมปทานจะเป็นอย่างไร

เชฟรอนฯ จ่อยื่นสัมปทานรอบ21

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนฯ กล่าวถึงแผนขุดเจาะหลุมเพิ่มเติมในพื้นที่สัมปทานทั้งหมดในปี 2558 ว่า จะมีการขุดเจาะหลุมเพิ่มเติมรวม 400 หลุม (ต้นทุนขุดเจาะอยู่ที่ 100 ล้านบาท/หลุม) เป้าหมายสำคัญคือต้องการรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ระดับ 1,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และน้ำมันดิบที่ระดับ 60,912 บาร์เรล/วัน ในช่วงที่ผ่านมาเชฟรอนฯมีการลงทุนระยะยาวในไทย โดยเงินลงทุนและค่าดำเนินกิจการจนถึงปี 2557 รวมทั้งสิ้น 998,000 ล้านบาท ดำเนินการจ่ายเป็นค่าภาคหลวงรวมทั้งสิ้น 339,000 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในขณะนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนเพื่อขุดเจาะหลุมผลิตในปีนี้ที่ได้วางแผนไว้แล้วโดยเชฟรอนฯจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดในช่วงครึ่งปีหลังนี้หากราคาน้ำมันยังลดลงต่อเนื่อง อาจมีความเป็นไปได้ที่จะต้องพิจารณาแผนลงทุนของปี 2559 ใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ นายไพโรจน์ได้กล่าวถึงการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ของกรมเชื้อเพลิงฯว่า บริษัทแม่ของเชฟรอนฯยังคงมีนโยบายที่จะลงทุนในไทย และคาดว่าจะยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมในรอบนี้แน่นอน โดยเฉพาะแปลงที่อยู่ในทะเล เนื่องจากเชฟรอนฯมีความเชี่ยวชาญการขุดเจาะสำรวจและผลิตในทะเล

"ต้องยอมรับว่าศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมในไทยลดลง ที่สำคัญคือมีความเสี่ยง เนื่องจากแปลงสัมปทานที่เปิดให้เอกชนยื่นในรอบที่ 21 นี้ เป็นแปลงสัมปทานที่เคยเปิดให้ยื่นมาก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีเอกชนรายใดยื่นขอ รวมถึงบางแหล่งมีการสำรวจแล้วแต่ไม่พบปิโตรเลียม ส่วนเงื่อนไขของสัมปทานภายใต้ Thailand 3 plus ยังคงมีความน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุน"


ก๊าซอ่าวไทยราคาถูกสุด

ด้านนางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯได้ประเมินว่า ภาพรวมความต้องการใช้ก๊าซอยู่ที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเริ่มมีการนำเข้าก๊าซ LNG แล้วที่ระดับ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในขณะที่ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศจะเหลือใช้ได้ไม่เกิน 7 ปี โดยในช่วงปี 2561 นั้น ปริมาณก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มารองรับความต้องการใช้ที่ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม แหล่งปิโตรเลียมในประเทศจะมีรองรับการใช้ได้เพียงไม่เกิน 7-8 ปีเท่านั้น

ปริมาณการผลิตก๊าซที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าถึงร้อยละ 70 เหตุผลที่ต้องใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก คือสามารถพึ่งพาพลังงานในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก และที่สำคัญไม่ต้องการให้กระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าของประชาชน เมื่อเปรียบเทียบราคาก๊าซในปัจจุบัน จากอ่าวไทยจะมีราคาอยู่ที่ 243 บาท/ล้านบีทียู ก๊าซจากแหล่งผลิต ในสหภาพเมียนมาร์ (เยดานา-เยตากุน) ราคา 381 บาท/ล้านบีทียู และก๊าซ LNG นำเข้าราคา 542 บาท/ล้านบีทียู จะเห็นว่าราคาก๊าซจากอ่าวไทยมีราคาถูกที่สุด ทำให้สามารถรักษาระดับราคาค่าไฟเฉลี่ย (ก.ย.-ธ.ค.) อยู่ที่ 3.06 บาท/หน่วย

ความมั่นคงทางพลังงานที่ต้องมาพร้อมกับราคาที่เหมาะสม เป็นโจทย์สำคัญที่กรมเชื้อเพลิงฯจะต้องพิจารณาประกอบการพิจารณาสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 รวมถึงเงื่อนไขสำหรับการต่ออายุสัมปทานที่จะหมดลงในอนาคต

ที่มา -