ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ปัญหาสลัดโซมาเลีย กับชะตาลูกเรือไทย

เริ่มโดย mrtnews, มี.ค 18, 15, 14:07:44 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวยังเป็นอมตวาจา

สภาวะไร้รัฐของประเทศโซมาเลีย แม้จะอยู่ไกลถึงทวีปแอฟริกา แต่ส่งแรงสะเทือนถึงประเทศไทยและคนทั่วโลก ต้นธารปัญหานี้เกิดจากความระส่ำระสายของบ้านเมือง ประชาชนต้องพึ่งพาตนเอง โดยรวมกันจัดตั้งกลุ่ม และมีบางกลุ่มสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวโลกด้วยการปล้น


"โจรพาเรามาครึ่งทาง และยูเอ็นเข้าไปรับเราครึ่งทาง"

หนึ่งใน 4 ลูกเรือประมงไทย อธิบายวันโจรสลัดโซมาเลียปล่อยตัวกลับมาตุภูมิ ท่ามกลางสื่อมวลชนในตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา ลูกเรือทั้ง 4 คน นั่งเรียงกันเป็นระเบียบ มีพวงมาลัยสีขาวคล้องคอ เบื้องหลังญาติพี่น้องที่พากันมารับด้วยความปีติใจ

ทั้ง 4 คนนั้นมี 1.นายชาญณรงค์ นะวะระ ชาวอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง 2.นายโกศล ดวงมาเกิด ชาวอำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ 3.นายต้น วิยาสิงห์ ชาวอำเภอเมือง จังหวัดตราด และ 4.นายธนกร แก้วกำกง ชาวอำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์

ไต้ก๋งชาญณรงค์มีชีวิตโชกโชนกว่าคนอื่น เพราะเคยถูกพม่าจับตัวไปคุมขัง เมื่อปล่อยตัวมาก็กลับไปยึดอาชีพเดิม จนประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก คราวนี้ "นานมากครับ ไม่รู้ว่าผมทำผิดอะไร"

แม้นายชาญณรงค์จะกล่าวติดตลก แต่สื่อมวลชนและญาติๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ ตำรวจและทหารที่เฝ้าดูอยู่หาได้ตลกด้วยไม่ อาจเพราะแต่ละคนใจจดใจจ่ออยู่กับเรื่องราวที่จะเล่าออกมา

ทั้ง 4 คนเป็นลูกเรือ เอฟวี.พรานทะเล ถูกจับไปเมื่อ พ.ศ.2553 พร้อมกับลูกเรือชาติอื่นๆอีกรวม 24 คน ต่อมากระแสข่าวเงียบหายไป จนกระทั่งสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นายโอมาร์ ชีค อาลี เจ้าหน้าที่โซมาเลียแถลงว่า โซมาเลียได้ปล่อยตัวลูกเรือประมงไทย แถมระบุด้วยว่า เป็นการปล่อยหลังจากจ่ายเงินค่าไถ่คนละ 150,000 ยูโร หรือราวๆกว่าสี่ล้านบาท

ส่วนลูกเรือคนอื่นๆที่ถูกจับไปพร้อมกัน ได้รับการช่วยเหลือไปก่อนแล้ว 14 คน อีก 6 คนเสียชีวิตระหว่างรอการช่วยเหลือ

"ดีใจมากครับที่ได้กลับมาแผ่นดินไทย คิดว่าเรื่องร้ายๆ คงหมดไปแล้ว ผมดีใจที่ได้กลับมาเห็นหน้าญาติพี่น้องและคนไทย ด้วยกัน" พลางเสริมว่า ชีวิตระหว่างถูกจับกุมช่วงแรกอยู่ในเรือ วันๆไม่ได้ทำอะไร ใช้เวลาว่างตกปลาขึ้นมาทำอาหารกิน "ช่วงอยู่ในเรือนั้นได้กินข้าว เพราะเสบียงในเรือของเรายังเหลืออยู่"

อยู่ในเรือได้ปีกว่า เรือจมก็ต้องขึ้นบก ระหว่างอยู่กับโจรสลัดไม่ได้มีการกักขังอะไร แต่ไปไหนมาไหนไม่ได้ แต่ละวันโจรไม่ได้ให้ทำอะไร แต่ก็ไม่ได้ถูกทรมาน "ถ้าเราต่อสู้ขัดขืนคงโดนทำร้าย อาวุธของเขาดีมาก"

ระหว่างถูกจับตัวไป ไต้ก๋งบอกว่า เจ้าของเรือจ่ายเงินให้ครอบครัวเป็นเดือน แรกๆ ให้เดือนละ 10,000 บาท ค่อยลดลงมาเป็นเดือนละ 5,000 บาท และภายหลังไม่จ่าย "ผมก็เข้าใจ เพราะผมไม่ได้ทำงานให้เขา" ส่วนอนาคต "ผมยังไม่แน่ใจ ผมอาจหันหน้าลงเรือรับจ้างต่อไป ผมไม่มีอาชีพอื่น อยู่ในเรือมาตลอด"

บรรยากาศการพูดคุยเป็นทางการอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ให้สื่อมวลชนถามได้ประมาณ 7 คำถาม จากนั้นก็กันตัวลูกเรือประมงและญาติๆออกไป พร้อมแจ้งให้ทราบว่าต้องการให้ไปพักผ่อนและให้อยู่กับญาติๆ วันต่อไปจะนำไปตรวจโรค ครั้นถามถึงที่พัก ได้คำตอบว่า อยู่ในความดูแลของ "คสช."

กรณีลูกเรือประมงไทยคืนสู่มาตุภูมิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่า อยากให้คนไทยทุกคนมีความยินดีกับลูกเรือที่ถูกจับกุมไปที่โซมาเลีย เพราะวันนี้มีความสำเร็จในการนำพากลับมาพบกับครอบครัว "นี่เป็นนโยบายของรัฐบาลกับ คสช."

พลางอธิบายว่า ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำหน้าที่ ก็ได้ให้สำรวจดูคนไทยที่ตกค้างอยู่ในต่างแดน ว่าได้รับความยากลำบากในเรื่องใดบ้าง พบว่ามีหลายจุดด้วยกัน จึงให้นโยบายกระทรวงการต่างประเทศ ให้ใช้ทุกมาตรการในการนำกลับมายังประเทศไทย

"กรณีนี้ถือว่าเป็นกรณีที่น่ายินดี เพราะไปอยู่ห่างไกลมาก ลำบาก และระยะเวลายาวนาน เราได้ใช้วิธีการดำเนินการกับฝ่ายความมั่นคงของเรา ฝ่ายต่างประเทศ สหประชาชาติทุกวิถีทาง เพื่อจะดำเนินการนำกลับมาให้ได้ ต้องใช้เวลา 7 เดือนเต็มๆ โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ"

เมื่อถามถึงเรื่องการไถ่ตัว ทั้งนี้เพราะข่าวเอเอฟพีรายงานว่า การปล่อยตัวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการจ่ายเงินค่าไถ่ตัวด้วย นายกฯปฏิเสธเรื่องเงินค่าไถ่ตัว แต่ตอบว่า "เราใช้ทุกวิธีการ เรื่องบางอย่างไม่ควรเปิดเผย มันเป็นไปตามกระบวนการ แต่เราก็ทำตามกฎกติกาทุกอย่าง ใช้ความอดทน ใช้การเจรจาพูดคุยกัน แล้วใช้ขีดความสามารถทางการทูต จนกระทั่งสำเร็จ"

หลังจากนี้ไปก็จะให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตามไปดูแล


นายกฯยังฝากถึงเจ้าของกิจการเรือประมงด้วยว่า ให้คิดถึงเรื่องความปลอดภัยของลูกเรือด้วย ทั้งต้องดูแลความปลอดภัยให้ลูกเรือ ทำให้ถูกต้อง ในส่วนของรัฐบาลพยายามให้เรือจดทะเบียนทุกลำและขึ้นทะเบียนลูกเรือทุกคน พร้อมทั้งให้ติดเครื่องมือตรวจสอบพิกัดด้วย "ที่สำคัญ ต้องแก้ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์อีก ถ้าเราไม่ช่วยกัน ไม่ร่วมมือกัน มันก็จะเกิดเรื่องแบบนี้ จะถูกจับกุมคุมขังไปอยู่โน่น"

และไม่ลืมกระตุกสติเจ้าของกิจการประมงว่า "ท่านจะมีความสุขได้อย่างไร ถ้าลูกเรือของท่านไปลำบากยากแค้นอยู่ต่างประเทศแล้วตัวเองร่ำรวย ผมว่าไม่ได้ ผมฝากไว้ด้วยก็แล้วกัน"

สาเหตุที่โจรสลัดโซมาเลียอาละวาด มีข้อมูลจากกรมส่งเสริมการส่งออกระบุว่า โซมาเลียเป็นประเทศยากจนในทวีปแอฟริกา หลังจากเกิดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2543 ชนเผ่าต่างๆสู้รบกันเอง จนทำให้ประเทศไม่มีรัฐบาลกลางที่มีเอกภาพ ทุกเผ่าต่างแสวงหาอำนาจ ตั้งตัวเป็นใหญ่

ภัยจากการแบ่งพวกรบกันเองยังไม่จบ ก็มีมรสุมร้ายของประเทศกรายเข้ามา นั่นคือปี พ.ศ.2547 โซมาเลียประสบภัยสึนามิอย่างหนัก ครั้นได้รับเงินช่วยเหลือก้อนใหญ่จากต่างประเทศมา กลับมีข้อครหากันว่าเงินเหล่านั้น มีบางกลุ่มนำไปซื้ออาวุธเพื่อปล้นเรือต่างๆที่ผ่านน่านน้ำ โดยอ้างว่าจักรวรรดินิยมมาปล้นทรัพยากรของประเทศ

หลังมีรายได้จากการปล้นเรือ และจับเรือเรียกค่าไถ่ จึงจัดหาอาวุธที่ทรงอานุภาพกว่าเดิมมาใช้ มีเรือขนาดใหญ่และเร็วกว่าเดิม ทำให้กองโจรมีความเข้มแข็งขึ้น ขนาดพัฒนาระยะปฏิบัติการปล้นไกลถึง 1,100 ไมล์จากฝั่ง

แน่นอนเหลือเกินว่า โจรสลัดยิ่งพัฒนาศักยภาพได้มากเพียงใด ชาวโลกก็ยิ่งได้รับผลสะเทือนมากขึ้นเพียงนั้น.

ที่มา -