ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

กนอ. โชว์ศักยภาพท่าเรืออุตฯมาบตาพุดเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกใน AEC

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 15, 13, 16:09:21 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

วิฑูรย์  สิมะโชคดี ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  เผยนโยบายการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นท่าเรือหลักของประเทศไทย ในการเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม


ที่มีแนวโน้มการเติบโตกว่า 10% ต่อเนื่องทุกปี และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่ AEC ในอนาคต โดยมีศูนย์ประสานงานและอำนวยความสะดวกในการเดินเรือ เพื่อการปฏิบัติในการดูแลรักษาพื้นที่เขตท่าเรือทั้งในทางน้ำและบนบกให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

นายวิฑูรย์ฯ  กล่าวต่ออีกว่า กนอ. พัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สามารถรองรับเรือขนาด 140,000 ตัน ได้ตลอดปี มีความยาวหน้าท่ากว่า 4.7 กิโลเมตร เป็นท่าเรือขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย มีศักยภาพในการขนส่งสินค้าวัตถุดิบและสินค้าเหลว   ประกอบด้วยท่าเรือทั้งหมด 12 ท่า โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

- ท่าเรือสาธารณะ (Public Berths) ท่าเรือบริการขนส่งสินค้าทั่วไปและสินค้ากลุ่มของเหลว มี 2 ท่า คือ ท่าไทยพรอสเพอริตี้ เทอร์มินอล หรือ TPT และท่าไทยแท้งค์เทอมินัล หรือ TTT

- ท่าเรือเฉพาะกิจ (Specific Berths) ท่าเรือพิเศษให้บริการเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมซึ่ง มีจำนวน 10 ท่าเรือได้แก่ ท่าเรือ NFC, MIT, SPRC, PTTGC, MTT, GLOW SPP3, BLCP, PTT LNG, PTT TANK, และ RTC 

ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมที่มีความทันสมัยที่สุดในประเทศไทย โดยมีการนำระบบเทคโนโลยีทันสมัยเทียบเท่าท่าเรือสากล มาใช้จำนวนมาก อาทิ

- ศูนย์ประสานและอำนวยความสะดวกในการเดินเรือเพื่อการปฏิบัติในการดูแลรักษาพื้นเขตท่าเรือทั้งทางน้ำและบนบก ให้มีความปลอดภัยตามาตรฐานสากล ISPS Code โดยการใช้อุปกรณ์  AIS (Automatic Identification System) เรดาร์ กล้องโทรทัศน์วงจรปิด ตามจุดต่างๆรอบท่าเรือ รวมถึง การตอบโต้ภาวะฉุกเฉินอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง

- ระบบ Automatic Identification System, Aid to Navigation (AtoN)  ใช้แสดงสถานะและตำแหน่งของทุ่นเครื่องหมายช่วยในการเดินเรือและสภาพอากาศของบริเวณท่าเรือ รวมถึงมีพื้นที่ทิ้งสมอรัศมี 1 ไมล์ทะเล ตามหลักสากล ตลอดจนมีระบบเรือ    นำร่อง ลากเข้าเทียบท่าเพื่อลดมลภาวะบริเวณชายฝั่งอีกด้วย  ฯลฯ

นอกจากนี้ ท่าเรือฯ มาบตาพุด ได้นำระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยเผยข้อมูลด้านการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนได้ทราบการดำเนินงาน และจัดทำระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไข (EIA) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และได้รับมาตรฐานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ หรือ International Health Regulations (IHR) เพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาดในฐานะที่ท่าเรือเป็นช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ตามมาตรฐานอนามัยโลก โดยปัจจุบันได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 และ ISO 14001 ตามมาตรฐานของ The United Kingdom Accreditation Service หรือ UKAS

นายวิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติม ในส่วนภาพรวมของระบบการขนส่งทางน้ำ ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีท่าเรือหลักสำหรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สำคัญๆ ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ หรือ ท่าเรือคลองเตย ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นท่าเรือน้ำลึกที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และเป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดในการขนส่งสินค้าเหลว เช่น น้ำมันและสารเคมี รวมทั้งสินค้าเทกองแห้งต่างๆ จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีท่าเรือเพื่อขนส่งสินค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า แต่อย่างไรก็ตาม ในการจัดอันดับ สถาบันการจัดอันดับ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (World Economic Forum: WEF) พบว่า คุณภาพโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวมทางด้านท่าเรือของประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 56 ของโลก ซึ่งตามหลังประเทศผู้นำอาเซียนอย่างสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับที่ 2 ของโลก และมาเลเซีย อยู่อันดับที่ 21ของโลก จากผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2011-2012 นอกจากนี้ เวียดนามเพิ่งเปิดให้บริการท่าเรือก๋ายแม็บ (Cai Mep Port) ในปี 2552 รองรับเส้นทางการขนส่งสินค้าจากเวียดนามไปฝั่งตะวันตกของสหรัฐโดยไม่ต้องหยุดพักระหว่างทาง ดังนั้น กนอ.จึงจำเป็นต้องพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ให้มีศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสิงคโปร์ เพราะมั่นใจว่า ด้วยศักยภาพ ทำเลที่ตั้ง และขนาดของท่าเรือฯ มาบตาพุด จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้หากได้รับการส่งเสริม และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ 

อย่างไรก็ตาม กนอ. คาดว่าในอนาคต ท่าเรือฯมาบตาพุด จะเป็นหนึ่งในท่าเรือสำคัญของอาเซียนและสามารถรองรับการเชื่อมโยงขนส่งสินค้าได้หลากหลายประเภทยิ่งขึ้น ทั้งการนำเข้า และส่งออกไปยังกลุ่มประเทศต่าง ๆ ต่อไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ และรองรับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายในอนาคต การพัฒนาการขนส่งทางท่าเรือ ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ทำให้เกิดการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากระบบการขนส่งดังกล่าว สามารถขนส่งสินค้าได้ปริมาณมาก ประหยัด และช่วยลดมลภาวะ  ตลอดจนลดการเกิดปัญหาการจราจรและความเสี่ยงจากอุบัติเหตุต่างๆที่เกิดจากขนส่งได้  นายวิฑูรย์กล่าวสรุป

โดยนักลงทุนและผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2253-0561 ต่อ 1112, 1132  หรือเข้าไปที่ www.ieat.go.th


ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ประกอบด้วยท่าเรือทั้งหมด 12 ท่า แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. ท่าเรือสาธารณะ (Public Berth) หมายถึงท่าเรือที่ไม่จำกัดจำนวนผู้มาใช้บริการ โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ลงทุนก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน รวมทั้งท่าเทียบเรือให้ ประกอบด้วย

- ท่าเรือ บริษัท ไทยพรอสเพอริตี้ เทอร์มินัล จำกัด (TPT) เป็นท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าทั่วไป รับสินค้าได้ 20,000 ตัน/ลำเรือ

- ท่าเรือ บริษัท ไทยแทงค์เทอร์มินัล จำกัด (TTT) เป็นท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รับสินค้าได้ 45,000 ตัน/ลำเรือ

2. ท่าเรือเฉพาะกิจ (Specific Berth) เป็นท่าเรือที่จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเท่านั้น โดยเอกชน ลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานเองทั้งหมด ผู้ลงทุนท่าเทียบเรือเฉพาะกิจมีทั้งหมด 10 ราย ประกอบด้วย

- บริษัท ปุ๋ย เอ็นเอฟซี จำกัด (NFC)

- บริษัท ท่าเทียบเรืออุตสาหกรรมเหล็กและสินค้าทั่วไป จำกัด (มหาชน) (MIT)

- บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC)

- บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC)

- บริษัท มาบตาพุดแทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (MTT)

- บริษัท โกลว์เอสพีพี3 จำกัด (GLOW SPP3)

- บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP)

- บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTT LNG)

- บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด(PTT TANK)

- บริษัท ระยอง เทอร์มินัล จำกัด (RTC)

นอกจากนี้ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 และ ISO 14001 โดยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุตามมาตรฐานสากลมีนโยบายให้บริการที่รวดเร็ว ถูกต้อง มีมาตรฐานในคุณภาพของการบริการและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ป้องกัน และลดผลกระทบทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยอย่างต่อเนื่อง ป้องกัน ควบคุม และแก้ไขเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะฉุกเฉิน

ที่มา -