ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

มาเลย์จ่อโวย “สี จิ้นผิง” เรือยามฝั่งจีนบุกรุกเขต ศก.จำเพาะเหนือเกาะบอร์เนียว

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 10, 15, 21:39:39 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

รอยเตอร์ - รัฐบาลมาเลเซียเตรียมยื่นหนังสือประท้วงต่อทางการปักกิ่ง เหตุเรือยามฝั่งจีนรุกล้ำน่านน้ำทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ซึ่งนับเป็นอีกครั้งที่แดนเสือเหลืองได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้


เมื่อวานนี้ (8 มิ.ย. 58) หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ได้อ้างคำพูดของ ชาฮิดัน กัสซิม รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งระบุว่านายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค เตรียมหยิบยกปัญหานี้ขึ้นพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนโดยตรง

รัฐมนตรี ชาฮิดัน ได้โพสต์ภาพถ่ายลงในเฟซบุ๊ก พร้อมระบุว่าเป็นภาพของเรือยามฝั่งจีนที่จอดทอดสมออยู่บริเวณเกาะปะการังลูโคเนีย (Luconia Shoals) ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะบอร์เนียวไปทางเหนือประมาณ 150 กิโลเมตร

ชาฮิดันชี้ว่า เกาะปะการังแห่งนี้อยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของมาเลเซีย และห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 2,000 กิโลเมตร ดังนั้นเรือต่างชาติที่แล่นเข้าไปในน่านน้ำบริเวณดังกล่าวจึงถือว่าเป็น "ผู้บุกรุก"

"น่านน้ำบริเวณนั้นไม่ใช่พื้นที่ที่มีการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน เราจึงจำเป็นต้องตอบโต้ด้วยมาตรการทางการทูต" รายงานซึ่งอ้างคำพูดของชาฮิดันระบุ

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ยังไม่สามารถติดต่อขอสัมภาษณ์ชาฮิดันเพิ่มเติมได้

ที่ผ่านมา รัฐบาลเสือเหลืองมักจะใช้วิธีนุ่มนวลกับจีนในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ตรงกันข้ามกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่ารับไม่ได้กับการแผ่อิทธิพลแบบล่วงล้ำก้ำเกินของจีน

อย่างไรก็ตาม นักการทูตอาวุโสหลายคนเผยกับรอยเตอร์ว่า การที่จีนจัดการซ้อมรบทางทะเลถึง 2 ครั้งติดๆ กันบริเวณเกาะปะการังเจมส์ (James Shoal) ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซีย ทำให้รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ต้องเปลี่ยนมาใช้ท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในปีที่แล้ว

เมื่อไม่นานนี้ ปักกิ่งก็ได้ทำการถมทะเลสร้างเกาะเทียมซึ่งมีทั้งอ่าวจอดเรือและรันเวย์สำหรับเครื่องบินขึ้น-ลงบริเวณน่านน้ำพิพาท เรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากบรรดาเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงญี่ปุ่นและสหรัฐฯ

มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และไต้หวัน ต่างอ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำบางส่วนของทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าที่สำคัญและยังรุ่มรวยด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของน่านน้ำ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร โดยยึดแผนที่ที่นานาชาติไม่ให้การยอมรับ

แม้สหรัฐฯ จะประกาศจุดยืนเป็นกลางในเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ แต่ก็ยืนยันจะปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือสินค้าผ่านน่านน้ำสำคัญบริเวณนี้

ที่มา -




มาเลย์เตรียมประท้วงจีนรุกล้ำน่านน้ำ

รัฐบาลมาเลเซียเตรียมประท้วงจีน หลังเรือยามฝั่งของจีนรุกล้ำน่านน้ำเกาะบอร์เนียว ขณะที่นายกฯนาจิบ ราซัคจะนำเรื่องนี้หารือกับปธน.สี จิ้นผิง


หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานว่า มาเลเซียจะประท้วงต่อต้านสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า การบุกรุกของเรือยามฝั่งจีน เข้าไปในน่านน้ำของเกาะบอเนียว ที่อยู่ทางเหนือของประเทศ ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางจากเดิมที่เคยใช้ท่าทีนุ่มนวมในเหตุพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งนายชาฮิดัน คัสซิม รัฐมนตรีความมั่นคงแห่งชาติของมาเลเซีย บอกว่านายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค จะยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือโดยตรงกับประธานาธิบดีสี จิ้่นผิง

รายงานข่าวเรื่องนี้ มีขึ้นหลังจากนายชาฮิดัน ได้โพสต์ภาพลงในเฟซบุ๊คว่า เรือยามฝั่งของจีน ทอดสมอที่ "ลูโคเนีย โชลส์" ในบริเวณหมู่เกาะและแนวประการัง ที่อยู่ห่างไปทางเหนือของเกาะบอเนียวของมาเลเซียประมาณ 150 กิโลเมตร โดยลูโคเนีย โชลส์ ได้ชื่อว่า อยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะระยะทาง 200 ไมล์ทะเล หรือ 370 กิโลเมตร ที่มาเลเซียอ้างกรรมสิทธิ์ และอยู่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ราว 2,000 กิโลเมตร ซึ่งนายชาฮิดันระบุด้วยว่า เรือของต่างชาติลำใดก็ตามที่เข้าไปในน่านน้ำแห่งนี้ ถือว่าเป็นผู้บุกรุก เนื่องจากบริเวณนี้ ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนที่มีการอ้างกรรมสิทธิ์ กรณีนี้ มาเลเซียจะใช้มาตรการทางการทูต

ด้านนักการทูตหลายคน ให้ความเห็นว่า มาเลเซีย ใช้แนวทางที่รอบคอบในการรับมือกับจีน กรณีข้อพิพาทเรื่องน่านน้ำในทะเลจีนใต้ แตกต่างจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ ที่กล่าวโทษจีนอย่างรุนแรงว่าแผ่ขยายจักรวรรดินิยม แต่การที่กองทัพเรือจีน จัดการซ้อมรบในบริเวณรอบเจมส์ โชลส์ ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซีย ถึง 2 ครั้ง ส่งผลให้มาเลเซียต้องเปลี่ยนวิธีการรับมือเช่นกันเมื่อปีที่แล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ จีน ได้สร้างความไม่พอใจให้บรรดาประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสร้างความไม่สบายใจให้แก่สหรัฐและญี่ปุ่น ด้วยการสร้างเกาะเทียมในน่านน้ำที่เชื่อว่า อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และยังสร้างท่าเรือกับรันเวย์เพื่อใช้งานทางทหารอีกด้วย

ที่มา -