ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

รัฐเสนอปลดเรือประมงที่ผิดกฎหมาย 3,292 ลำ แก้ปัญหา "โอเวอร์ฟิชชิ่ง" 1.3 แสนตัน/ปี

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 16, 15, 19:43:28 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

จุดมุ่งหมายของสหภาพยุโรป (EU) ในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU Fishing คือการรักษาทรัพยากรทางทะเล และ EU ได้นำมาตรการนี้ไปใช้กับคู่ค้าที่ส่งออกอาหารทะเลสู่ตลาด EU โดยวางบทลงโทษสูงสุดกับประเทศคู่ค้าที่ขัดขืนมาตรการนี้ด้วยการ "แบน" ไม่ยอมรับสินค้าวัตถุดิบที่จับจากทะเลทั้งหมด


ล่าสุด EU ได้ส่งคณะผู้บริหารระดับสูงเข้าพิจารณาการทำงานของไทยช่วงเดือน พ.ค. 58 และมีข้อคิดเห็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรักษาทรัพยากรทางทะเลนั่นคือ EU เห็นว่าการประมงไทยอยู่ในภาวะที่ทรัพยากรถูกทำลาย มีการจับสัตว์น้ำมากเกินศักยภาพ (Overfishing) เนื่องจากมีเรือประมงมากเกินไปไม่สัมพันธ์กับทรัพยากรที่มีอยู่

ซึ่ง ดร.เพราลัย นุชหมอน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีประมงทะเล นำเสนอบนเวทีอภิปรายหัวข้อ "การแก้ไขปัญหา IUU" ในการประชุมวิชาการประมงปี 2558 ว่า กรมประมงได้เร่งดำเนินการศึกษาด้วยการคำนวณจากข้อมูลการจับสัตว์น้ำย้อนหลังของไทย 14-32 ปี อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยและจำนวนเรือเท่าที่มีการบันทึกข้อมูลในปัจจุบัน เพื่อหาค่าผลการจับสัตว์น้ำสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield : MSY) พบว่า

ไทยควรมีผลผลิตจับสัตว์น้ำ หรือ MSY ปีละ 1.6 ล้านตัน แบ่งเป็นการจับจากเขตอ่าวไทย 1.24 ล้านตัน และจากเขตอันดามัน 3.6 แสนตัน จึงจะอยู่ในภาวะสมดุล แต่ในความเป็นจริงไทยมีผลผลิตการจับสัตว์น้ำรวม 1.728 ล้านตัน แต่ละเขตล้วนมีภาวะโอเวอร์ฟิชชิ่งในช่วง 3.61-36.48% แล้วแต่พื้นที่และประเภทปลาที่จับ ดังนี้

เขตอ่าวไทย มีการจับสัตว์น้ำหน้าดิน 8.82 แสนตัน ซึ่งถือว่าโอเวอร์ฟิชชิ่ง 36.48% มีการจับปลาผิวน้ำ 2.48 แสนตัน โอเวอร์ฟิชชิ่ง 31.55% และมีการจับปลากะตัก 2.09 แสนตัน ถือว่าอยู่ในภาวะสมดุล

เขตอันดามัน มีการจับสัตว์น้ำหน้าดิน 2.29 แสนตัน ซึ่งถือว่าโอเวอร์ฟิชชิ่ง 3.61% มีการจับปลาผิวน้ำ 1.23 แสนตัน โอเวอร์ฟิชชิ่ง 14.70% และมีการจับปลากะตัก 3.7 หมื่นตัน ถือว่าอยู่ในภาวะสมดุล

จึงควรมีมาตรการต่าง ๆ ในการรักษาทรัพยากรทางทะเลนั่นคือ การจำกัดจำนวนเรือตามประเภทเครื่องมือประมงและสัตว์น้ำที่จับ และลดจำนวนวันที่ทำการประมง คือ

เขตอ่าวไทยจากเรือจับสัตว์น้ำหน้าดินที่มีอยู่ 14,647 ลำ ให้ลดลง 2,615 ลำ และลดวันทำการประมง 60 วัน/ปี ส่วนใหญ่ที่ลดเป็นเครื่องมือประเภทไดหมึก แผ่นตะเฆ่ อวนลากคู่ และเรือจับปลาผิวน้ำที่มีอยู่ 3,814 ลำ ให้ลดลง 612 ลำ และลดวันทำการประมง 85 วัน/ปี ซึ่งทั้งหมดที่ควรลดเป็นเรืออวนล้อมจับ

เขตอันดามันจากเรือจับสัตว์น้ำหน้าดินที่มีอยู่ 3,529 ลำ ให้ลดลง 29 ลำ และลดวันทำการประมง 5 วัน/ปี ส่วนใหญ่ที่ลดเป็นเครื่องมือประเภทแผ่นตะเฆ่ อวนลากคู่ และอวนรุน และเรือจับปลาผิวน้ำที่มีอยู่ 1,214 ลำ ให้ลดลง 36 ลำ และลดวันทำการประมง 50 วัน/ปี ซึ่งทั้งหมดที่ควรลดเป็นเรืออวนล้อมจับและเรืออวนลอยปลาอินทรีย์

ส่วนเรือจับปลากะตักถือว่ามีปริมาณที่เหมาะสมแล้วทั้ง 2 เขต ดังนั้น จะมีจำนวนเรือที่ควรลดลง 3,292 ลำ ซึ่งกรมประมงได้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นให้แก่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เรียบร้อยแล้ว แต่พบว่ามีปัญหาด้านข้อมูลเรือประมงที่แน่ชัดและเป็นปัจจุบัน จึงต้องทำการตรวจสอบก่อนประเมินข้อมูลโอเวอร์ฟิชชิ่งใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ศปมผ.ได้สั่งการให้กรมประมงทำแผนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเตรียมไว้ก่อน หากต้องลดเรือประมงหรือลดวันทำการประมงจริง

ดร.เพราลัยยังกล่าวถึมาตรการอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อบริหารทรัพยากรสัตว์ทะเล เช่น การออกกฎหมายกำหนดขนาดตาอวนขั้นต่ำ 4 ซม. และออกกฎหมายให้จำแนกประเภทเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ออกจากกันอย่างชัดเจน เช่น กำหนดสีเรือ มาตรการระบบโควตาหรือระบบโซนนิ่งพื้นที่ทำประมง มาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณการทำประมงลง 40-50% และมีอัตราการจับสัตว์น้ำต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้น 20%

ซึ่งปัจจุบันอัตราการจับสัตว์น้ำต่อชั่วโมงของไทยลดลงอย่างมาก ปี 2558 ลดเหลือเพียง 24 กก./ชม. จากปี 2504 ที่เคยจับได้ 300 กก./ชม. เนื่องจากมีการจับสัตว์น้ำมากเกินศักยภาพของทะเลมาตั้งแต่ปี 2519 "EU บอกว่าแผนจัดการของเราที่มีอยู่นั้นไม่พอ เขาบอกว่าทรัพยากรของเราแทบไม่มีอะไรเหลือแล้ว และถ้าเรายังใช้วิธีการเล็ก ๆ จะไม่สามารถจัดการได้ เราเลยต้องมาดูกันใหม่แบบนี้" ดร.เพราลัยกล่าว


นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงเรืออวนลากคู่ จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ตัวเลขจำนวนเรือตอนนี้ยังคลาดเคลื่อน ศปมผ.สั่งแล้วให้กรมประมงกับกรมเจ้าท่าไปจัดทำตัวเลขที่สมบูรณ์ ตรวจสอบเรือว่ามีตัวตนจริงทั้งหมดหรือไม่ และแบ่งแยกประเภทเรือ ขนาดเรือ ชัดเจนแล้วจึงจะนำมาคำนวณใหม่ ซึ่งจากประสบการณ์มองว่าประมงไทยไม่ได้โอเวอร์ฟิชชิ่ง เพราะไทยมีเรือประมงพาณิชย์ขนาดเกิน 30 ตันกรอส แค่ 7,000-8,000 ลำเท่านั้น

"ไม่เป็นไร ชาวประมงรับได้ ถ้ามันเป็นตัวเลขที่สมบูรณ์ และวิธีแก้ไม่ได้มีแค่ลดเรืออย่างเดียว สามารถลดแรงงานทำการประมงด้วยการเพิ่มวันหยุดจับปลาแทนได้ มีการปิดอ่าว ขยายตาอวน และเรามีการติดตั้ง VMS มีระบบ PIPO แล้ว มันจะแสดงได้หมดเลยว่าเราเข้า-ออกกี่วันกันแน่ แต่ทั้งหมดต้องควบคุมได้ ให้ทุกลำทำเท่าเทียมกันหมด สมมติขยายตาอวนก็ต้องขยายทุกลำ" นายมงคลกล่าว

EU จี้ 11 ข้อครหาประมง

น.ส.ศิริลักษณ์ สุวรรณรังษี ผู้ตรวจราชการกรมประมง เปิดเผยบนเวทีอภิปรายหัวข้อ "การแก้ไขปัญหา IUU" ในการประชุมวิชาการประมงปี 2558 ว่า จากการประเมินของคณะผู้บริหารระดับสูงของ EU ระหว่างวันที่ 8-20 พ.ค. 58 EU ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ไทยไว้ 11 ข้อดังนี้

1) กฎหมายประมงไทยยังขาดบริบทที่เกี่ยวกับการป้องกันการประมง IUU Fishing และบทลงโทษยังไม่เหมาะสม เช่น การลงโทษปรับ 30 ล้านบาท ควรมีการทอนสัดส่วนให้เป็นไปตามระดับความผิด และกฎหมายยังขาดการรับรองเรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับ 2) ไทยต้องเป็นภาคีกับองค์กรบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาคให้ครบถ้วน 3) ไทยต้องให้สัตยาบันกับ UN Fish Stock Agreement 4) แผนงานหลักในการควบคุมการประมง IUU ยังสับสน มีแต่เชิงนโยบาย ขาดแผนปฏิบัติการ

5) การประมงไทยอยู่ในภาวะทรัพยากรถูกทำลายจากการจับสัตว์น้ำเกินศักยภาพ (Overfishing) เนื่องจากมีเรือประมงมากเกินไป ไม่สัมพันธ์กับปริมาณทรัพยากร 6) ขาดแผนบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างมีประสิทธิภาพ 7) ขาดการควบคุมเรือประมงทั้งในและนอกน่านน้ำ ไม่สามารถควบคุมหรือติดตามปริมาณสัตว์น้ำ การขนถ่าย และการค้าได้ โดยเฉพาะเรือประมงนอกน่านน้ำ 8) การบังคับใช้กฎหมายเพื่อหยุดยั้ง IUU Fishing ยังไม่ครอบคลุม 9) การควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับการนำเข้า แปรรูป ส่งออกสัตว์น้ำยังขาดการเชื่อมโยง 10) แผนการตรวจ คู่มือสำหรับผู้ปฏิบัติงานไม่ชัดเจน 11) ฐานข้อมูลล้าสมัย ไม่สามารถรองรับได้

น.ส.ศิริลักษณ์กล่าวว่า โรดแมปของไทยจะต้องเร่งแก้ปัญหาตามที่ EU ให้ข้อเสนอแนะไว้ทั้งหมด แต่ 2 เรื่องที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีกำหนดส่งให้ EU พิจารณาช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ คือ

1) การปรับปรุงกฎหมายประมงที่จะต้องให้ครอบคลุมบริบทเรื่อง IUU Fishing ในระยะนี้จะมีการออกกฎหมายลูกประมาณ 18 ฉบับ เพื่อใช้เฉพาะหน้าระหว่างปรับปรุงกฎหมายอีกฉบับ ซึ่งอาจออกเป็นพระราชบัญญัติฉบับใหม่หรือเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2558 ก็ได้ จากนั้นไทยจะต้องเข้าร่วมภาคีองค์กรบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค และให้สัตยาบันกับ UN Fish Stock Agreement

และ 2) การจัดทำร่างการจัดการทรัพยากรประมงทะเลของไทย ซึ่งไปเกี่ยวพันกับการประเมินศักยภาพทะเลและเรือที่ไทยมีอยู่เพื่อจัดทำแผน ที่อาจต้องลดเรือหรือเครื่องมือทำประมงและวันทำประมงลง

"EU บอกว่าประมงไทยมีความซับซ้อนและยุ่งยากกว่าประเทศอื่นทั่วโลก ทุกประเทศที่เขาไปตรวจมามีปัญหาหมดไม่ใช่แค่ไทย แต่สถานการณ์ของเรายากเพราะเรามีทั้งการทำประมง การแปรรูป และส่งออกในที่เดียว เราจึงเป็นรัฐในทุกรูปแบบที่ EU กำหนดในกฎหมายของเขา" น.ส.ศิริลักษณ์กล่าว

ที่มา -