ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ความปั่นป่วนของ ตลาดน้ำมันดิบกับอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันของโลก

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 18, 15, 20:10:23 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

โดย วีรพงษ์ รามางกูร

การที่สหรัฐอเมริกาสามารถพึ่งตนเองได้ในเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะสหรัฐอเมริกาสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้เรื่อย ๆ จากปริมาณการผลิตที่มากขึ้น พร้อม ๆ กับความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการผลิต การอัดน้ำลงไปแทนที่ก๊าซและน้ำมันที่อยู่ใต้ชั้นหินน้ำมัน Shale


ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันของโลกเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพังทลายลง จากราคาที่เคยสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาเป็นเวลานาน จากที่เคยมีราคาสูงถึง 114 เหรียญเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา แล้วราคาน้ำมันดิบก็ดิ่งลงมาเหลือเพียง 45 เหรียญสหรัฐเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะไต่กลับมาอยู่ที่ประมาณ 60-65 เหรียญต่อบาร์เรลในขณะนี้

กลุ่มประเทศโอเปกที่เคยดำเนินนโยบายตัดโควตา ลดการผลิตของประเทศในกลุ่มของตนลงเมื่อราคาน้ำมันดิบลดลง เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไว้ ซาอุดีอาระเบียประกาศว่าจะไม่ดำเนินการเช่นว่านั้นอีกต่อไป เพราะเมื่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมันลดปริมาณการผลิตลง ประเทศอื่น ๆ นอกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศนอร์เวย์ รัสเซีย บราซิล จีน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม รวมทั้งมาเลเซีย ก็จะเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันดิบกลับลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น

ปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตทั่วโลกในขณะนี้มีประมาณวันละ100ล้านบาร์เรล ในจำนวนนี้ประเทศในกลุ่มโอเปกมีโควตาการผลิตประมาณ 33 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีก 66-67 ล้านบาร์เรลต่อวันผลิตโดยประเทศนอกกลุ่มโอเปก

ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างหนักมาอยู่ที่ 45 ดอลลาร์ ก่อนที่จะไต่ขึ้นมาเป็น 60 เหรียญต่อบาร์เรล แทนที่สหรัฐอเมริกาจะลดการผลิตลง กลับกลายเป็นว่าสหรัฐอเมริกาเพิ่มกำลังผลิตมากขึ้นและผลิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

โครงสร้างของบริษัทที่ลงทุนขุดเจาะก๊าซและน้ำมันใต้ชั้นหินดานในสหรัฐนั้น แตกต่างจากบริษัทขุดเจาะน้ำมันในประเทศอื่น ๆ ทั้งในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกกล่าวคือ บริษัทขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในประเทศอื่น มักจะเป็นบริษัทที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลของประเทศนั้น ๆ จึงเป็นผู้ควบคุมนโยบายทั้งในด้านราคาและปริมาณการผลิต

แต่บริษัทผู้ขุดเจาะก๊าซและน้ำมันใต้ชั้นหินดานของอเมริกานั้นมีถึงกว่า4,000-5,000บริษัท โดยที่รัฐบาลอเมริกันไม่ได้ร่วมถือหุ้นด้วย รัฐบาลจึงไม่มีอำนาจเข้าไปควบคุม กำหนดนโยบาย หรือแทรกแซงการตลาดของบริษัทที่ทำธุรกิจการขุดเจาะเหล่านี้ ตลาดในอเมริกาจึงเป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเสรีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

บริษัทอเมริกันเหล่านี้ระดมเงินทุนจากตลาดทุนในสหรัฐเองประชาชนผู้ลงทุนในสหรัฐยินดีลงทุนในหุ้นและพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของบริษัทเหล่านี้แม้ว่าในขณะนี้บริษัทเหล่านี้จะยังไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ ขณะเดียวกัน ดอกเบี้ยเงินฝากในสถาบันการเงินก็ต่ำมากใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยที่ผู้ลงทุนหวังว่าในอนาคตบริษัทเหล่านี้จะทำกำไรได้อย่างมหาศาล เมื่อสามารถขุดเจาะได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของก๊าซและน้ำมันที่ขุดเจาะได้ในสหรัฐลดลง บริษัทเหล่านี้จึงมีสภาพคล่องค่อนข้างสูงด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในการลงทุนขุดเจาะเพื่อผลิตก๊าซและน้ำมันผลผลิตของสหรัฐจึงเพิ่มขึ้นแทนที่จะต่ำลงผู้ลงทุนในหุ้นบริษัทเหล่านี้คาดว่าอนาคตของอุตสาหกรรมนี้จะมีผลกำไรอย่างมาก

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้หากซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศโอเปกลดกำลังการผลิตลงปริมาณน้ำมันลดลงก็จะยิ่งเป็นการชดเชยอุตสาหกรรมขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในสหรัฐอเมริกามากขึ้น กลุ่มโอเปกจึงประกาศว่ากลุ่มประเทศของตนจะไม่ลดปริมาณ ไม่ลดกำลังการผลิตลง

สำหรับประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่น ๆ ทั้งที่อยู่ในและนอกกลุ่มโอเปก เช่น ไนจีเรีย แอลจีเรีย เวเนซุเอลา ลิเบีย ต่างก็พากันเดือดร้อนเพราะหลายประเทศเหล่านั้นมีรายได้จากการส่งออกกว่าร้อยละ 90 หรืออาจจะกล่าวได้ว่ารายได้ของประเทศทั้งหมดรวมทั้งรายได้ของรัฐบาลมาจากการขายน้ำมันดิบ เมื่อราคาน้ำมันลดลงประเทศเหล่านี้จึงต้องออกไปกู้เงินจากต่างประเทศมาชดเชยการขาดดุลการค้าและดุลงบประมาณ

ประเทศหลายประเทศที่ยากจนเช่นไนจีเรีย แอลจีเรีย อิหร่าน รวมทั้งประเทศที่มีเจ้าผู้ครองนครรัฐในคาบสมุทรอาหรับ ต่างก็มีปัญหาการขาดดุลงบประมาณแผ่นดินกันอย่างทั่วหน้า ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไนจีเรีย รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมด และคิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายได้ ถ้าจะให้งบประมาณไม่ขาดดุลราคาน้ำมันดิบต้องอยู่ที่ 88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ขณะนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกมีมากกว่าความต้องการใช้อยู่ที่วันละ 2.2 ล้านบาร์เรล โดยปริมาณการใช้เคยเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันทุก ๆ ปี แต่ในปี 2558 นี้คาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นเพียง 65,000 บาร์เรลต่อวัน และคงจะเพิ่มขึ้นในปริมาณที่ลดลงในปีต่อ ๆ ไป เพราะนโยบายการลดปัญหาโลกร้อน การลดก๊าซเรือนกระจกจากพลังงานปิโตรเลียม นโยบายการประหยัดพลังงานของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีที่ช่วยในการประหยัดพลังงานที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ

ถ้าหากกลุ่มโอเปกไม่ลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ สหรัฐซึ่งมีบ่อน้ำมันที่อะแลสกา ยุโรปที่ทะเลเหนือ ประเทศต่าง ๆ ที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน ที่รายได้ส่วนใหญ่ของรัฐบาลมาจากการให้สัมปทานน้ำมัน ในไม่ช้าก็คงจะเห็นปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ จะทำให้เกิดการเสียดุลยภาพทางการเงินในตลาดโลก ในอนาคตวิกฤตการณ์ทางการเงินก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แบบเดียวกับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งหรือวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ แต่คราวนี้อาจจะเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดจากราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างหนักก็ได้

แม้ว่าซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มโอเปกจะประกาศไม่ยอมเจรจากับประเทศในกลุ่มโอเปกเรื่องลดกำลังการผลิตน้ำมันลงแต่เชื่อได้ว่าปัญหาที่จะเกิดกับประเทศต่าง ๆ ที่เป็นประเทศที่ใกล้ชิดกับซาอุดีอาระเบีย เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต กาตาร์ และอื่น ๆ ก็น่าจะมีปัญหาในการบริหารงบประมาณแผ่นดินไม่น้อยไปกว่าเวเนซุเอลา ไนจีเรีย แอลจีเรีย อิหร่าน และประเทศอื่น ๆ ด้วย ในอนาคตหรือในทศวรรษหน้าประเทศเศรษฐีน้ำมันเหล่านี้อาจจะต้องออกไปกู้หนี้ยืมสิน โดยการระดมทุนจากตลาดทุนของโลกก็ได้

ผลกระทบจากราคาน้ำมันพังทลายลงมีมากมาย เหมือนกับตอนที่ราคาน้ำมันดิบถีบตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมาจนถึงปี 1986 ราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นอ้อยและน้ำตาล ยางพารา ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง และอื่น ๆ พากันขึ้นราคาตามราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อของโลกพุ่งขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 ต่อปี พาให้ดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันคือกว่าร้อยละ 20 ต่อปีเหมือนกัน อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อในระดับนี้การลงทุนย่อมไม่เกิด จึงได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก


มาบัดนี้เกิดปรากฏการณ์ตรงกันข้าม ราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ราคาสินค้าเกษตรที่เชื่อมโยงกับพลังงานลดลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน สถานการณ์กลับข้างกันกับสมัยที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันขึ้นราคากล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อลดลงจนติดลบ อัตราดอกเบี้ยลดลงจนติดพื้นที่ร้อยละศูนย์ เศรษฐกิจแทนที่จะฟื้นตัวรุ่งเรืองกลับซบเซา หดตัว ทั้งนี้ ก็เพราะการที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ธุรกิจกิจการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันหดตัวลงอย่างกะทันหัน ลดลงอย่างรวดเร็วในอัตราที่สูงกว่าการลดลงของราคาน้ำมัน

ภาวะเงินฝืดนั้นเป็นภาวะที่ผู้คนวิตกมากกว่าภาวะเงินเฟ้อถ้าหากภาวะเงินเฟ้อนั้นไม่ใช่ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงภาวะเงินเฟ้อที่ไม่รุนแรงจะเป็นภาวะที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่ ทั้งจากภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ล้วนได้กำไร ได้ผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้น

ตรงกันข้ามกับภาวะเงินฝืดที่ราคาสินค้าพากันลดราคาลง ผู้ผลิตทุกคนหรือส่วนใหญ่จะพากันขาดทุนหมด เพราะราคาสินค้าลดลงต่ำกว่าราคาในขณะที่ผู้ผลิตตัดสินใจผลิตเมื่อ 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือ 1 ปีก่อนหน้านั้น ภาวะเงินฝืดหรือภาวะราคาตกต่ำจึงทำให้การผลิตลดลง การจ้างงานลดลงจนกว่าระบบเศรษฐกิจจะปรับตัวได้

การที่ราคาน้ำมันพังทลาย ดิ่งหัวลงอย่างรวดเร็ว จึงสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจทั่วโลกได้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน จนกว่าระบบเศรษฐกิจของโลกจะปรับตัวได้

ราคาสิ่งของขึ้นมากไปก็ไม่ดี ลดลงเร็วไปก็ไม่ดี

(ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 15-17 มิ.ย.2558)

ที่มา -