ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

อินโดฯ สกัดจับเรือบรรทุกห้องเย็นของไทย ฐานลักลอบเข้าไปจับสัตว์น้ำ

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 14, 15, 20:57:17 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กองทัพเรืออินโดนีเซียจับกุมเรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นขนาดใหญ่ของไทย หลังล่วงล้ำจับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซียและปาปัวนิวกินี โดยใช้ลูกเรือที่บังคับใช้แรงงานทาส


สำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันพฤหัสที่ 13 สิงหาคม 2558 ว่า กองทัพเรืออินโดนีเซียจับกุมเรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นขนาดใหญ่ "ซิลเวอร์ ซี 2" ระวางขับน้ำ 2,285 ตัน ของไทย ฐานลักลอบเข้าไปจับสัตว์น้ำ ในเขตน่านน้ำของอินโดนีเซีย โดยการจับกุมมีขึ้นหลังจากทีมงานเฉพาะกิจของสำนักข่าวเอพี ที่เฝ้าติดตามเรือลำนี้ด้วยระบบสัญญาณดาวเทียม จากน่านน้ำประเทศเกาะปาปัวนิวกินี ทางเหนือของออสเตรเลีย ได้แจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่กองทัพเรืออินโดนีเซีย ซึ่งใช้เวลาในการติดตามประมาณ 1 สัปดาห์ จนกระทั่งสกัดจับได้เมื่อคืนวันพุธ (12 ส.ค. 58) ในทะเลประมาณ 130 กิโลเมตรนอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือสุดของประเทศ โดยขณะจับกุมเรือซิลเวอร์ ซี 2 ใกล้จะแล่นออกพ้นเขตน่านน้ำอินโดนีเซีย และเจ้าหน้าที่นำเรือซิลเวอร์ ซี 2 เข้าฝั่ง ควบคุมไว้ที่ฐานทัพเรือเมืองซาบัง เขตจังหวัดอาเจะห์ ทางเหนือสุดของเกาะ

นาวาโท ซูจัตมิโก ผู้บัญชาการฐานทัพเรือซาบัง กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ เต็มลำเรือซิลเวอร์ ซี 2 ซึ่งจับโดยลูกเรือที่ถูกบังคับใช้แรงงาน ขณะที่ นางซูซิ ปุดจี อัสตูตี รมว.กระทรวงการประมงและกิจการทะเลอินโดนีเซีย กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก การจับกุมแทบเป็นไปไม่ได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็สามารถทำได้สำเร็จ ซิลเวอร์ ซี 2 เป็นเรือลำเดียวกันกับที่กล้องดาวเทียมบันทึกภาพได้ในน่านน้ำปาปัวนิวกินีเมื่อเดือนที่แล้ว แสดงให้เห็นห้องเย็นของเรือเปิดว่าง มีเรือลากอวน 2 ลำอยู่สองข้าง กำลังลำเลียงปลาขึ้นเรือใหญ่ ส่วนเรือประมงไม้ขนาดเล็กกว่าอีกหลายลำที่ถูกกลุ่มนักวิเคราะห์ระบุว่า แล่นหนีออกจากเกาะเบนจินา ที่อยู่ห่างไกลของอินโดนีเซียเมื่อช่วงต้นปี และเรือเหล่านี้ใช้ลูกเรือแรงงานทาส จากหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถูกทุบตีทำร้ายเป็นประจำ และถูกบับคับทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้รับเพียงเล็กน้อย

การสอบสวนของเอพี แสดงให้เห็นว่า สัตว์น้ำที่จับได้โดยเรือประมงแรงงานทาสเหล่านี้ ได้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทผู้ขายอาหารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เช่น วอล-มาร์ต, ซิสโก และโครเกอร์ และกลุ่มบริษัทอาหารสัตว์อเมริกัน เช่น แฟนซี ฟีสต์, เมียว มิกซ์ และ ไอแอมส์ กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ต่างกล่าวประณามอย่างรุนแรง ต่อการใช้แรงงานทาส และให้คำมั่นจะดำเนินมาตรการเพื่อป้องกัน

ลูกเรือประมงทาสหลายร้อยคนได้รับการช่วยเหลือเป็นอิสระเมื่อต้นปีนี้ หลังจากสำนักข่าวเอพีเปิดโปงเรื่องราวการถูกปล่อยเกาะ รวมถึงหลายคนถูกขังในกรง บนเกาะเบนจินา แต่เรือ 34 ลำที่เต็มไปด้วยลูกเรือแรงงานทาส สามารถหลบหนีไปได้ก่อนที่เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียจะไปถึง และลูกเรือเหล่านี้ยังคงสูญหายจนถึงขณะนี้ นางปุดจี อัสตูตี กล่าวอีกว่า กัปตันเรือซิลเวอร์ ซี 2 จะถูกสอบปากคำ และการสอบสวนจะมุ่งเน้นไปที่การค้ามนุษย์ และการขนส่งปลาที่ลักลอบจับโดยผิดกฎหมาย

ทางด้าน นายโทเบียส อากีเร่ ผู้อำนวยการบริหารกลุ่ม Fishwise องค์กรไม่หวังผลกำไรที่ส่งเสริมการทำประมงอย่างยั่งยืน และต่อต้านอาหารทะเลจากแรงงานทาส แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวแสดงความชื่นชมรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่ดำเนินการอย่างจริงจังต่อเรือต่าง ๆ ในเขตน่านน้ำของตนเอง ทั้งเรือลักลอบจับสัตว์น้ำ และเรือที่ใช้แรงงานทาส

เจ้าหน้าที่ทางการปาปัวนิวกีนีติดตามหาเรือซิลเวอร์ ซี 2 เช่นกัน แต่จับกุมเรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นของไทยได้อีกลำคือ บลิสฟูล รีเฟอร์ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว พร้อมกับช่วยเหลือแรงงานทาสในเรือได้ 8 คน เป็นชาวเมียนมา 2 คน และกัมพูชา 6 คน ทั้งหมดเข้าทำงานในเรือลำนี้โดยผ่านขบวนการค้ามนุษย์

แรงงานหลายคนที่เดินทางกลับบ้านที่เมียนมาเมื่อไม่นานมานี้ หลังถูกบังคับใช้แรงงานในเรืออวนลากลำหนึ่ง ที่หลบหนีออกจากน่านน้ำปาปัวนิวกีนี เผยว่า พวกเขาถ่ายเทปลาขึ้นสู่เรือซิลเวอร์ ซี เป็นประจำ โดยเรือลำนี้ขนปลากลับไปประเทศไทย เพื่อทำการแปรรูป และป้อนเข้าสู่ธุรกิจส่งออกอาหารทะเลของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าปีละ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อุตสาหกรรมประมงไทยต้องพึ่งพาแรงงานกลุ่มคนยากจน จากประเทศของตนและแรงงานอพยพจากเมียนมา กัมพูชา และลาว ซึ่งมักจะถูกขาย ลักพาตัว และล่อลวงให้เป็นแรงงานในเรืออวนลาก นอกจากนั้น แรงงานทาสชาวเมียนมาส่วนหนึ่งที่ได้รับการช่วยเหลือจากเกาะเบนจินา เผยแก่เอพี ว่า ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำเข้าสู่ประเทศไทย จากนั้นนำขึ้นเรือซิลเวอร์ ซี 2 ออกไปหาปลาในน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยไม่มีทางได้กลับบ้าน

บริษัทซิลเวอร์ ซี รีเฟอร์ ซึ่งเป็นเจ้าของเรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นอย่างน้อย 9 ลำในไทย กล่าวว่า บริษัทไม่มีความเกี่ยวข้องกับลูกเรือเหล่านี้."



ที่มา Data & Images -




เอพีแจ้งกองทัพอินโดฯ โร่จับเรือสินค้าไทยใช้แรงงานทาส

กองทัพเรือของอินโดนีเซีย ได้จับกุมเรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นของไทยลำหนึ่ง เมื่อวานนี้ ซึ่งคาดว่าบรรทุกสัตว์น้ำที่จับโดยแรงงานทาส โดยสำนักข่าว AP เป็นผู้สังเกตเห็นเรือลำดังกล่าว และแจ้งเตือนแก่ทางการของอินโดนีเซีย


นาวาเอกสุจาตมิโค ผู้บัญชาการฐานทัพเรือซาบัง เผยว่า เรือของอินโดนีเซียได้พบเห็นเรือ "ซิลเวอร์ซี 2? เรือบรรทุกสินค้าของไทย ในช่วงเย็นของวันพุธ ซึ่งอยู่ห่างจากฐานทัพเรือซาบังไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 129 กิโลเมตร

โดยสำนักข่าว AP ได้ใช้เครื่องระบุตำแหน่งผ่านสัญญาณดาวเทียม ติดตามเส้นทางของเรือลำดังกล่าวจากน่านน้ำของปาปัวนิวกินี จนกระทั่งเข้ามาในน่านน้ำอินโดนีเซีย ขณะที่กองทัพเรืออินโดนีเซียใช้เวลาถึง 1 สัปดาห์ ในการตามจับเรือลำนี้ได้ทันก่อนที่จะพ้นจากน่านน้ำของอินโดนีเซีย
ซิลเวอร์ซี 2 เป็นเรือบรรทุกสินค้าระวางขับน้ำ 2,285 ตัน ลำเดียวกับที่ AP เคยบันทึกภาพได้ในน่านน้ำของปาปัวนิวกินีเมื่อเดือนที่แล้ว แสดงให้เห็นเรือลากอวน 2 ลำ แล่นมาขนาบข้าง และมีการขนย้ายปลาขึ้นไปบนเรือลำใหญ่

นักวิเคราะห์ระบุว่า เรือประมงลำขนาดเล็กดังกล่าว เป็นเรือที่หลบหนีมาจากเกาะเบนจินาของอินโดนีเซีย เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งชาวประมงบนเรือเหล่านี้มาจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่ถูกทารุณกรรมและบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส โดยไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนใดๆ
รายงานการสืบสวนของ AP เปิดเผยว่า สินค้าประมงที่ได้จากแรงงานทาส จะถูกส่งไปยังบริษัทผู้จำหน่ายอาหารรายใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น วอลมาร์ท ซิสโก้ และโครเกอร์ รวมถึงบริษัทผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงอย่าง แฟนซีฟีสต์ เหมียวมิกซ์ และไอแอมส์ โดยเจ้าของธุรกิจเหล่านี้ต่างประณามการใช้แรงงานทาสทุกรูปแบบ และจะพยายามป้องกันปัญหานี้

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ทางการของปาปัวนิวกินีได้จับกุมเรือบรรทุกสินค้าประมงอีกลำหนึ่งของไทย คือเรือ "บลิสฟูลรีฟเฟอร์" (Blissful Reefer) โดยพบแรงงานทาสชาวพม่า 2 คน และชาวกัมพูชาอีก 6 คน บนเรือลำดังกล่าว

ด้านบริษัทซิลเวอร์ซี รีฟเฟอร์ เจ้าของเรือบรรทุกสินค้าประมงอย่างน้อย 9 ลำในไทย กล่าวว่า พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับชาวประมงเหล่านั้น



ที่มา Data & Images -