ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

อินโดนีเซียจับกุม 3 ลูกเรือประมงไทยหลังยึดเรือ "ซิลเวอร์ ซี 2"

เริ่มโดย mrtnews, ก.ย 30, 15, 06:44:04 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

อินโดนีเซียจับกุม 3 ลูกเรือประมงไทย ทางการอินโดนีเซียจับกุมไต้ก๋งและลูกเรือประมงไทย 3 คน หลังยึดเรือไว้ตั้งแต่เดือน ส.ค. 58 ฐานลักลอบจับสัตว์น้ำในเขต และค้ามนุษย์ จากการบังคับใช้แรงงานทาสลูกเรือประมง


สำนักข่าวเอพีรายงานจากเมืองซาบัง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2558 ว่า ทางการอินโดนีเซียประกาศการจับกุมกัปตันและลูกเรืออีก 2 คน ของเรือบรรทุกห้องเย็นขนาดใหญ่ "ซิลเวอร์ ซี 2" ของไทย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทางการอินโดนีเซียจับกุมและควบคุมไว้ ที่ฐานทัพเรือเมืองซาบัง จังหวัดอาเจะห์ บนเกาะสุมาตรา ทางภาคตะวันตกสุดของประเทศ เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ฐานต้องสงสัยลักลอบเข้าไปจับสัตว์น้ำในเขตน่านน้ำของอินโดนีเซีย และมีการกระทำอันเป็นการเข้าข่ายค้ามนุษย์ จากการบังคับใช้แรงงานทาสลูกเรือประมง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพต่างชาติฐานะยากจน

เริ่มแรก เรือซิลเวอร์ ซี 2 ระวางขับน้ำ 2,285 ตัน ซึ่งมีอาหารทะเลที่ตรวจพบในเรือรวมมูลค่าประมาณ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (72.3 ล้านบาท) ถูกตรวจพบโดยทีมงานปฏิบัติการพิเศษของสำนักข่าวเอพี ในเดือน ก.ค. หลังติดตามความเคลื่อนไหวนาน 1 สัปดาห์ โดยหลักฐานจากภาพถ่ายความคมชัดสูงจากดาวเทียม แสดงให้เห็นเรือประมงขนาดเล็ก 2 ลำ ที่มีลูกเรือถูกบังคับใช้แรงงานทาสกำลังจอดเทียบ 2 ข้าง และลำเลียงสัตว์น้ำที่จับได้ขึ้นสู่เรือซิลเวอร์ ซี 2 ในเขตน่านน้ำของปาปัวนิวกินี

หลังจากนั้นทีมงานของเอพีได้ติดตามเรือซิลเวอร์ ซี 2 โดยผ่านเครื่องบอกตำแหน่งผ่านดาวเทียมของเรือ และแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทางการอินโดนีเซีย เมื่อเรือผ่านเข้าสู่เขตน่านน้ำของอินโดนีเซีย เพื่อเดินทางกลับสู่ประเทศไทย และเรือลาดตระเวณของกองทัพเรืออินโดนีเซียสกัดจับกุมเรือได้ เมื่อคืนวันพุธที่ 12 ส.ค. ในทะเลห่างจากชายฝั่งเกาะสุมาตราประมาณ 130 กิโลเมตร ก่อนจะควบคุมเรือและลูกเรือรวม 19 คน เข้าฝั่งที่ฐานทัพเรือซาบัง โดยขณะจับกุมเรือซิลเวอร์ ซี 2 ใกล้จะแล่นออกพ้นเขตน่านน้ำของอินโดนีเซียแล้ว

การประกาศการจับกุมเมื่อวันศุกร์ เป็นหนึ่งในการจับกุมอย่างน้อย 10 ครั้ง ในอินโดนีเซียและไทย นับตั้งแต่เริ่มมีการสอบสวน การบังคับแรงงานอพยพชาวต่างชาติ เป็นแรงงานทาสในเรือประมง จับสัตว์น้ำเป็นอาหารทะเลให้เครือข่ายบริษัทผู้จัดจำหน่ายอาหารรายใหญ่ และหลายบริษัทผุ้ผลิตอาหารสัตว์ในสหรัฐ เมื่อ 6 เดือนก่อน ซึ่งผลการสอบสวนสามารถช่วยเหลือแรงงานทาสกว่า 2,000 คน ซึ่งเป็นชาวเมียนมา ไทย กัมพูชา และลาว และส่งแรงงานเหล่างนี้กลับสู่ครอบครัว ธุรกิจประมงไทย-อินโดนีเซีย มูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐถูกปิด มีการฟ้องคดีละเมิดแบบกลุ่มเรียกร้องค่าชดเชย และออกกฎหมายใหม่หลายฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา

นางซูซิ ปุดจีอัสตูติ รมว.ประมงอินโดนีเซีย กล่าวในระหว่างการขึ้นตรวจเรือซิลเวอร์ ซี 2 เมื่อวันศุกร์ (26 ก.ย. 58) ว่า เธอเชื่อว่าอาหารทะเลแช่แข็งเต็มลำเรือซิลเวอร์ ซี 2 มาจากทะเลอราฟูรา ทางภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเขตต้องห้ามสำหรับเรือประมงต่างชาติ และเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียกำลังตรวจสอบหลักฐานเพิ่มเติม เรือลำนี้อาจเกี่ยวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ ตามการอธิบายของสำนักข่าวเอพี โดยเรือซิลเวอร์ ซี 2 ถูกกล่าวหาว่ารับปลาที่ถูกลักลอบจับโดยผิดกฎหมายในทะเล และปิดสัญญาณเครื่องบอกตำแหน่งผ่านดาวเทียมขณะหลบหนี ส่วนลูกเรือที่เหลืออีก 16 คนจะถูกเนรเทศกลับถิ่นฐานเดิม

นางปุดจีอัสตูตี กล่าวอีกว่า เธอหวังว่าใครก็ตามที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง จะได้รับการลงโทษสถานหนัก เพื่อเป็นการป้องปราม และย้ำว่าเรือซิลเวอร์ ซี 2 อาจจะยึดและถูกทำลายทิ้ง ทั้งนี้ กองทัพเรืออินโดนีเซียดำเนินการทำลายของกลาง เรือประมงต่างชาติที่ลักลอบเข้าไปจับปลาในเขตน่านน้ำ ด้วยการระเบิดทิ้งกลางทะเลด้วยระเบิดไดนาไมต์หลายสิบลำแล้ว


บริษัทซิลเวอร์ ซี รีเฟอร์ เจ้าของเรือซิลเวอร์ ซี 2 ยังคงยืนกรานปฏิเสธว่า ไม่ได้ทำผิดใดๆ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมประมงของไทย ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกปีละประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้องพึ่งพาแรงงานอพยพยากจนหลายหมื่นคน ซึ่งเดินทางจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน มาหางานทำในประเทศไทย กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกหลอกลวง ขาย หรือลักพาตัว และส่งขึ้นเรือประมง ออกไปหาปลากลางทะเลลึก ในน่านน้ำต่างชาติที่อยู่ห่างไกล เรือบรรทุกห้องเย็นจะถูกใช้เป็นเรือรับสัตว์น้ำที่จับได้ หรือบางครั้งใช้ส่งแรงงานทาสชุดใหม่ไปให้เรือประมง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบไม่พบเหยื่อของการค้ามนุษย์บนเรือซิลเวอร์ ซี 2 แต่อย่างใด

ผลงานจากปฏิบัติการสืบสวนของทีมงานสำนักข่าวเอพี ถูกนำเข้าสู่การบันทึกเป็นวาระ เพื่อเข้าสู่พิจารณาในสภาคองเกรสสหรัฐ และหลังการติดต่อกับเครือข่ายจัดส่งอาหารรายใหญ่ของอเมริกา เช่น วอล-มาร์ต, ซิสโก, โครเกอร์, แฟนซี ฟีสต์, เมียว มิกซ์ และไอแอมส์ กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ต่างกล่าวว่า พวกเขาประณามอย่างรุนแรงต่อการบังคับใช้แรงงาน และได้ดำเนินการเป็นขั้นตอนแล้วเพื่อป้องกัน สภาคองเกรสสหรัฐกำหนดจะมีการประชุมหารือ เกี่ยวกับการค้นพบของสำนักข่าวเอพีอีกครั้ง ในปลายเดือน ก.ย. นี้."



ที่มา Data & Images -