ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ว่าด้วยกองทุนระหว่างประเทศเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 02, 15, 19:57:31 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

มติคณะรัฐมนตรี -- พุธที่ 30 กันยายน 2558 - เรื่อง ขอความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. 1992 (IOPC - International Fund for Compensation for Oil Pollution Damage, 1992) และร่างพระราชบัญญัติการเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. ....


คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. 1992 และเสนออนุสัญญาดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมาตรา 23 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติขอความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. 1992 และร่างพระราชบัญญัติการเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ร่างพระราชบัญญัติการเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. ....

1. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับเมื่อพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. .... มีผลใช้บังคับ

2. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีขอบเขตใช้บังคับกับความเสียหายจากมลพิษที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยซึ่งรวมถึงทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้มาตรการในการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ดังกล่าวไม่ว่าจะได้ดำเนินมาตรการนั้น ณ ที่ใด รวมถึงการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

3. กำหนดกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมันมีสถานะเป็นนิติบุคคลและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย โดยให้ผู้อำนวยการกองทุนเป็นผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายของกองทุนฯ และรับเอกสิทธิ์ในการยกเว้นภาษีและอากร

4. กำหนดให้กองทุนระหว่างประเทศฯ เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษหากบุคคลนั้นไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนและเพียงพอ ตามที่กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งได้กำหนดไว้

5. กำหนดให้กองทุนระหว่างประเทศฯ ไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษ หากกองทุนระหว่างประเทศฯ พิสูจน์ได้ว่า อุบัติการณ์นั้นเกิดจากภัยสงคราม หรือน้ำมันนั้นถูกปล่อยจากเรือรบหรือเรือที่รัฐถือกรรมสิทธิ์หรือดำเนินการหรือผู้ได้รับความเสียหายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายจากมลพิษนั้นเกิดขึ้นจากอุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรือ

6. กำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่กองทุนระหว่างประเทศฯ จะจ่ายกรณีความเสียหายจากมลพิษเกิดขึ้น ทั้งนี้ เมื่อรวมกับค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ. .... แล้วเป็นจำนวนไม่เกิน 203 ล้านหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน หรือ 300.74 ล้านหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินหากเป็นกรณีที่มีประเทศภาคี 3 ประเทศขึ้นไปเกี่ยวข้องกับอุบัติการณ์นั้น

7. กำหนดให้บุคคลที่รับน้ำมันที่ต้องจ่ายเงินสมทบจากการขนส่งทางทะเลซึ่งมีจำนวนรวมกันเกินกว่า 150,000 ตันในแต่ละปีปฏิทินมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนระหว่างประเทศฯ แม้ว่าบุคคลนั้นจะรับน้ำมันที่ต้องจ่ายเงินสมทบจำนวนไม่ถึง 150,000 ตันก็ตาม แต่หากรวมกับบริษัทลูกแล้วมีจำนวนเกินกว่า 150,000 ตันในแต่ละปีปฏิทิน บุคคลนั้นก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนระหว่างประเทศฯ ตามปริมาณที่รับไว้จริง ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวจะต้องได้รับน้ำมัน ณ บริเวณท่าเรือหรือจุดรับน้ำมันในราชอาณาจักรหรือการรับน้ำมันที่ต้องจ่ายเงินสมทบ ณ สิ่งติดตั้งใด ๆ ในราชอาณาจักรและภายหลังมีการส่งต่อไปเพื่อขนถ่ายในประเทศอื่นที่ไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญากองทุนฯ

8. กำหนดให้บุคคลที่รับน้ำมันที่ระบุตามปริมาณที่กำหนดมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลปริมาณน้ำมันที่ตนได้รับไว้ในรอบปีปฏิทินให้กับกรมเจ้าท่า

9. กำหนดให้กรมเจ้าท่ามีหน้าที่รวบรวมบัญชีรายชื่อและที่อยู่ของบุคคลที่รับน้ำมันที่ระบุ ตลอดจนข้อมูลและปริมาณน้ำมันส่งให้แก่กองทุนระหว่างประเทศฯ

10. กำหนดให้บุคคลที่รับน้ำมันที่ระบุไว้มีหน้าที่ส่งเงินสมทบให้แก่กองทุนระหว่างประเทศฯ ตามจำนวนที่กองทุนแจ้งและให้กองทุนสามารถคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดได้หากบุคคลนั้นไม่ชำระเงินสมทบ

11. กำหนดให้สิทธิที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนมีอายุสามปีนับแต่วันที่เกิดความเสียหายหรือหกปีนับแต่วันที่เกิดอุบัติการณ์ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายนั้น รวมถึงให้สิทธิเรียกร้องเงินสมทบตามพระราชบัญญัตินี้เป็นอันขาดอายุความเมื่อพ้นหกปีนับแต่วันที่ผิดนัดชำระเงินสมทบ

12. กำหนดให้คำพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของกองทุนระหว่างประเทศฯ ของศาลประเทศภาคีอนุสัญญากองทุนระหว่างประเทศ เพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. 1992 สามารถใช้บังคับในประเทศไทยได้

13. บุคคลใดมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลแก่กรมเจ้าท่า แล้วไม่ให้ข้อมูลหรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือมีเจตนาหลบเลี่ยงเพื่อไม่ต้องอยู่ในข่ายที่ต้องให้ข้อมูล ต้องระวางโทษปรับไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นบาท แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 กันยายน 2558--



ที่มา Data & Images -




คมนาคมปรับร่างกม.ขนส่งสินค้าอันตรายฉบับใหม่

กระทรวงคมนาคม เตรียมร่างกฎหมายขนส่งสินค้าอันตรายฉบับใหม่ ให้ครอบคลุมมากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมการจัดทำร่างกฎหมายขนส่งสินค้าอันตรายสำหรับทุกภาคการขนส่งของประเทศครั้งที่ 2 ว่า ที่ประชุมได้มีข้อสรุปในการจัดทำร่างกฎหมายขนส่งสินค้าอันตรายสำหรับทุกภาคการขนส่งของประเทศฉบับใหม่ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่จะใช้กำกับพระราชบัญญัติการขนส่งสินค้าอันตรายในภาพรวมของทุกหน่วยงานและสอดคล้องกันกับกฎหมายทุกกระทรวง เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพิ่มความปลอดภัยในการขนส่งสินค้า รวมถึงการศึกษาเรื่องประกันภัยและการใช้ค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเคลื่อนย้ายและการขนส่งสินค้า แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าร่างกฎหมายนี้จะออกมาใช้งานได้เมื่อใด เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงคมนาคมและกรมการบินพลเรือน ได้ดำเนินการแก้ไขการขนส่งวัตถุอันตรายทางอากาศให้ได้มาตรฐานสากลตามกฎขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศแล้ว ส่วนทางน้ำ คณะรัฐมนตรีก็ได้มีการอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ IMO และการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเรื่องการป้องกันความเสียหายจากมลพิษทางเรือ เช่น น้ำมัน ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงต้องเร่งออกกฎหมายใหม่ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น



ที่มา Data & Images -