ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

บุก "ทวายเมกะโปรเจ็กต์" เดินหน้าโครงการ 1.6 ล้านล้าน

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 06, 15, 06:44:27 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เช้าวันรุ่งขึ้น อากาศแจ่มใสกว่าที่คิด ไม่มีเมฆฝน ก่อนจะเดินทางไปดูบริเวณที่จะสร้าง "ท่าเรือน้ำลึก" ซึ่งอยู่ห่างจากที่พัก Dawei Project Site ราว 10 กม. ได้โอกาสไปดูพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่กำลังมีการก่อสร้างอึกทึกครึกโครมอยู่ขณะนี้ เจ้าหน้าที่อิตาเลียนไทยฯเล่าว่า พื้นที่เดิมเป็นสวนปาล์มอายุมากกว่า 30 ปี ไม่ได้ใช้งานแล้ว รัฐบาลเมียนมาจึงจัดสรรให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม


เนวิน สินสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ให้รายละเอียดว่า พื้นที่ทั้งหมดของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย รวม 197 ตร.กม. จะเป็นโครงการระยะแรก 27 ตร.กม. ประกอบด้วย ท่าเรือขนาดเล็ก อ่างเก็บน้ำ และระบบประปา ไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคม เขตที่อยู่อาศัย และถนน 2 เลน

ในพื้นที่ส่วนของนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยรวมทั้งหมดมี 16,000 ไร่ จัดแบ่งออกเป็นแปลงย่อย ๆ แปลงละ 3,000 ไร่ ขณะนี้เริ่มมีการปรับปรุงพื้นที่และจัดเตรียมสาธารณูปโภคพื้นฐาน แหล่งน้ำ ไฟฟ้า ระบบจัดเก็บขยะ ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น พื้นที่ลอตแรกเปิดให้ผู้สนใจเข้าจับจองแล้ว ซึ่งมีนักลงทุนจากสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น และอินเดีย รวมทั้งไทย เข้ามาจับจอง

"เราเปิดขายเฟสแรก คือ เฟส A จำนวน 3,000 ไร่ ราคาประเมินเบื้องต้นอยู่ที่ 3 ล้านบาทต่อไร่ มูลค่ารวมจะไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ได้รับความสนใจเข้ามาลงทุนเยอะพอสมควร ในจำนวน 3,000 ไร่ เวลานี้เราพัฒนาเรียบร้อยแล้ว 700 ไร่ และขณะนี้นักลงทุนจองหมดแล้ว คาดว่าน่าจะปิดการขายได้ในปีหน้า (2559) โดยอุตสาหกรรมที่จะให้สิทธิ์ก่อนเป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงาน เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม อาหารแช่แข็ง การแปรรูปยางพารา" ผอ.สพพ.กล่าว

เนวินชี้แจงเพิ่มเติมว่า พื้นที่ในนิคมจะทยอยขายเป็นเฟส ๆ ไป เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนเข้ามาสำหรับการลงทุนในเฟสต่อไป ซึ่งตามโครงการแล้ว แบ่งเป็น 4 เฟส คือ A-B-C-D จัดสรรเป็นพื้นที่สีเขียว 25% นอกนั้นเป็นพื้นที่ขาย โรงงานแรกจะเกิดขึ้นได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับกระบวนการเอกสารสิทธิ กล่าวคือผู้ลงทุนหรือเจ้าของโรงงานจะต้องทำแผนธุรกิจ

ยื่นให้ทางเมียนมาพิจารณา ถ้าเรียบร้อยจึงเริ่มซื้อขายที่ดินและก่อสร้างได้ อย่างไรก็ตาม การอนุมัตินักลงทุนรายแรกอาจจะใช้เวลา เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาต้องการป้องกันการซื้อเพื่อเก็งกำไร ซึ่งเคยมีกรณีแบบนี้ในย่างกุ้งมาแล้ว จึงเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติการก่อสร้าง สำหรับปี 2559 จะพัฒนาอีก 2,200 ไร่ การขายพื้นที่ทั้งหมดให้กับนักลงทุน เชื่อว่าขายได้หมดภายใน 8 ปี

อีกจุดที่ต้องไปดูก่อนจะไปท่าเรือน้ำลึก เพราะเกี่ยวโยงเชื่อมกัน คือ ท่าเรือเล็ก หรือ Small Port อยู่ห่างจากที่พักออกไปอีก 16 กม. คนละฟากกับท่าเรือน้ำลึก ท่าเรือขนาดเล็ก ขณะนี้ถนนที่ใช้สัญจรยังเป็นถนนดิน แต่กำลังพัฒนาปรับปรุงเพื่อลาดยาง และเริ่มมีการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น

เท่าที่มองเห็นเวลานี้ยังเป็นท่าเรือที่มีร่องน้ำตื้นเขิน แต่ได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ สพพ.ว่า ในอนาคตวางแผนแล้วว่าจะมีการขุดร่องน้ำใหม่เพื่อให้เรือสัญจรเข้ามาได้สะดวกขึ้น เวลานี้กำลังเจรจากับทางสิงคโปร์ว่าจะรับงานขุดลอกร่องน้ำนี้หรือไม่ เพราะทางสิงคโปร์เองก็อยากได้ทรายไปถมทะเล อย่างไรก็ดีการปรับรูปแบบโครงการและการลงทุนในส่วนแรกนี้จะมีการนำเข้าหารือกับคณะกรรมการประสานงานร่วม ภายในเดือนพฤศจิกายน 2558

อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ใกล้กับท่าเรือขนาดเล็ก คือ ส่วนของโรงไฟฟ้า และ LNG Terminal อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด ขณะนี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทเชลล์ จองใช้พื้นที่หมดแล้ว โดย ปตท.จะนำเข้าก๊าซประมาณ 3 ล้านตัน คาดว่าจะใช้ได้กลางปี 2561 วงเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation : IFC) และธนาคารโลกจะให้กู้เงินลงทุน

หลังเยี่ยมชมและดูสภาพ "ท่าเรือขนาดเล็ก" หรือ Small Port ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยท่าเรือเล็กแห่งนี้จะเป็นท่าเรือที่เสริมให้กับ "ท่าเรือน้ำลึกทวาย" ที่จะก่อสร้างในลำดับถัดไปในอนาคต หลังการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในระยะแรกเสร็จสิ้นแล้ว

โดยการพัฒนาเต็มรูปแบบ (Full Phase) ของนิคมอุตสาหกรรมทวายนั้น "เนวิน สินสิริ" ผู้อำนวยการ สพพ. อธิบายว่า จะมี "ท่าเรือน้ำลึก" เป็นจุดไฮไลต์ รองรับสินค้าได้ 300 ล้านตันต่อปี จอดเรือได้ 55 ลำพร้อมกัน และโรงเหล็กขนาดใหญ่ อู่ต่อและซ่อมเรือขนาดใหญ่ ฯลฯ ซึ่งถือเป็น "ยุทธศาสตร์การขนส่ง" ตั้งแต่เมียนมาไปจนถึงเวียดนาม และยังสามารถเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าจากท่าเรือน้ำลึกในอาเซียน ต่อไปยังอินเดีย ยุโรปด้วย

แต่ ณ วันนี้ ที่ดินบริเวณที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก ยังคงเป็นที่ราบ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม ยังไม่มีสัญญาณการก่อสร้างใด ๆ ภายในเร็ววัน

"ท่าเรือน้ำลึกทวาย" ห่างจากท่าเรือขนาดเล็กประมาณ 9 กม. ชาวบ้านเรียกบริเวณที่จะสร้างว่า "Zero" หรือกิโลเมตร "ศูนย์" แม้ว่าวันนี้ยังไม่มีสัญญาณการก่อสร้างใด ๆ เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ราบ สี่เหลี่ยม สวยงาม เข้าตำรา "ฮวงจุ้ย" เป็นอย่างดี กล่าวคือด้านหน้าเป็นน้ำ คือทะเลอันดามัน ด้านหลังเป็นเขาสูง งานที่ดำเนินอยู่เวลานี้เป็นงานซ่อมบำรุงถนนเพิ่มเติม

เนวินอธิบายว่า จะพัฒนา ท่าเรือขนาดเล็ก ก่อน ซึ่งเดิมท่าเรือขนาดเล็กเป็นท่าเรือสำหรับขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างจากไทยมาเมียนมา การพัฒนาจะเริ่มด้วยการทำระบบน้ำ ขุดร่องน้ำกว้าง 8 เมตร และทำพื้นที่หลังท่าเพื่อให้ใช้งานได้ ส่วนตัวท่าเรือจะออกแบบสำหรับรองรับเรือขนาด 13,000 ตัน ซึ่งเป็นเรือวิ่งผ่านย่างกุ้ง-สิงคโปร์ตามปกติ คาดว่าในอนาคตจะมาแวะที่สมอลพอร์ต อีกขนาดเป็นเรือ 25,000 ตัน ในเฟสแรกการใช้ท่าเรือน้ำลึกยังไม่จำเป็น แต่จะใช้ตอน Full Phase

"เราต้องผลักดันให้เกิดเฟสแรกให้ได้ก่อน แต่ทั้งนี้โครงการทั้งหมดไม่จำเป็นจะต้องรอให้เฟสแรกเสร็จหมด แต่สามารถดำเนินการคู่ขนานกันไปได้ เพราะมีส่วนของธุรกิจที่แตกต่างกัน ส่วนสำคัญคือท่าเรือน้ำลึก แต่ส่วนของธุรกิจอื่น ๆ ที่จะต้องดำเนินการ เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี เหล็ก และขนาดของโรงไฟฟ้าที่จะขยายเพิ่ม พวกนี้สามารถเริ่มได้เลย นอกเหนือจากศูนย์การค้าต่าง ๆ เซอร์วิสอินดัสตรี ธนาคารต่าง ๆ ที่จะต้องเข้ามาด้วย ที่มาดูกันวันนี้คงเห็นเส้นทางแล้วว่ามีโอกาสของธุรกิจการท่องเที่ยวเกิดขึ้นได้ด้วย เพราะมีสถานที่หลายแห่งที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ รวมทั้งธุรกิจรีสอร์ต โรงแรม" ผอ.สพพ.กล่าว

เนวินย้ำถึงความสำคัญของนิคมอุตสาหกรรมทวายว่า เป็นการเชื่อมโยงกับอีสเทิร์นซีบอร์ดของไทย เป็นประตูสู่ตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของวัตถุดิบต่าง ๆ ในภูมิภาค ไม่ว่ายางพารา ปาล์ม แร่ธาตุต่าง ๆ ในบริเวณนี้ และค่าแรงที่ถูกกว่าเมืองไทย (100 บาท/วัน) และถือเป็นตลาดที่ใหญ่ มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ 8% และเมียนมาก็มีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น นิคมอุตสาหกรรมทวายเวลานี้พร้อมแล้ว ทั้งระบบไฟฟ้า (เสร็จสมบูรณ์ใน 2 ปี) ระบบน้ำดิบ ที่มีแหล่งน้ำถึง 2 แหล่งด้วยกัน คือ เขื่อนปายินบิว และฝายน้ำล้นตานาย่า

เรื่องน้ำไม่เป็นปัญหากับเมียนมา เพราะมีน้ำอุดมสมบูรณ์มาก ส่วนที่ต้องทำเพิ่มต่อจากนี้ คือ ระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งกำลังสำรวจพื้นที่ที่จะก่อสร้าง สำหรับโครงข่ายการติดต่อสื่อสาร ขณะนี้เป็นสายชั่วคราว หลังจากนี้จะเปลี่ยนเป็นสายไฟเบอร์ออปติก เดินสายมาจากประเทศไทย ให้บริการครบวงจรทั้งอินเทอร์เน็ต ยกเว้นโมบายที่สัมปทานเป็นของเมียนมา


สำหรับนิคมอุตสาหกรรมในเมืองทวาย เวลานี้มีทั้งหมด 3 นิคมด้วยกัน คือโครงการทวายที่เป็นการร่วมทุนกับไทย แล้วยังมีนิคมอุตสาหกรรมเจ้าผิ่วและนิคมอุตสาหกรรมติลาวา โดยเจ้าผิ่วนั้นเป็นนักลงทุนจีนเสียเป็นส่วนมากและเน้นในอุตสาหกรรมน้ำมัน ขณะที่ติลาวาอยู่ใกล้ย่างกุ้ง ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น และมีข้อจำกัด คือ ท่าเรืออยู่ในแม่น้ำไป-มาลำบาก แต่นิคมอุตสาหกรรมทวายได้เปรียบที่สุด คือมีขนาดใหญ่สุด และเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย

จากภาพรวมทั้งหมด มองเห็นได้ถึงความคืบหน้าของโครงการที่เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย ได้เห็นการดำเนินงานขึ้นมาจริง ๆ และเริ่มให้ทางญี่ปุ่นเข้ามาช่วยในการวางแผนมากขึ้น แต่ก็นั่นแหละ ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่า โครงการทวายจะไม่มีอุปสรรค ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ส่งผลต่อการลงทุนโครงการทวาย แม้ว่าในอนาคตโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายก็ตาม

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ผลการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมา วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ระหว่างพรรคสหสามัคคีเพื่อการพัฒนา ของ "เต็ง เส่ง" และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของ "ออง ซาน ซูจี" ซึ่งต้องรอดูผลการเลือกตั้งว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ และผลแห่งชัยชนะนั้นจะทำให้โครงการทวายเกิดขึ้นได้ หรือไม่ได้ ?



ที่มา Data & Images -