ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

21 แท่นขุดน้ำมันในอ่าวไทยเสี่ยงปิดเพิ่ม ส่งผลแรงงานขุดเจาะน้ำมันตกงาน 6 พันแล้ว

เริ่มโดย mrtnews, ก.พ 05, 16, 06:28:00 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กรมเชื้อเพลิงฯ จับตา 21 แท่นขุดเจาะน้ำมันหยุดกิจการเพิ่ม หลังหยุดแล้ว 2 แห่ง เหตุราคาโลกดิ่งเหลือ 30 เหรียญ


แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันราคาน้ำมันดิบลดเหลือเฉลี่ย 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ขณะนี้แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในอ่าวไทยหยุดกิจการชั่วคราวไปแล้ว 2 แห่ง จากแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีความเสี่ยงจะหยุดกิจการชั่วคราว 23 แห่ง

นายสุริยันต์ อภิรักษ์สัตยากุล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 จนอยู่ที่ระดับ 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในขณะนี้ ทำให้บริษัทที่ได้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย เลื่อนแผนการขุดเจาะสำรวจน้ำมันออกไป และมีแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย 2 แห่ง คือ แท่นสงขลา C และแท่นสงขลา G กำลังการผลิตรวม 2,600 บาร์เรล/วัน ของบริษัท คอสตอลเอนเนอร์ยี่ หยุดกิจการชั่วคราว

นายสุริยันต์ กล่าวว่า กรมกำลังติดตามว่าจะมีแท่นขุดเจาะน้ำมันหยุดกิจการเพิ่มหรือไม่ และหากทั้ง 23 แท่นหยุดกิจการ จะทำให้พนักงานบนแท่นขุดเจาะและพนักงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตกงาน 6,000 คน

"กรมอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าธุรกิจขุดเจาะปิโตรเลียมจะกลับมาเดินเครื่องการผลิตอีกครั้ง เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นจนเข้าสู่ระดับที่คุ้มค่าต่อการลงทุน" นายสุริยันต์ กล่าว

สำหรับการรื้อถอนแท่นขุดเจาะน้ำมันนั้น จะต้องอยู่บนเงื่อนไข 3 กรณี คือ 1.ผู้ประกอบการหยุดการผลิตปิโตรเลียมเป็นระยะเวลา 1 ปี และหากไม่มีแผนงานลงทุนชัดเจนต่อเนื่องจะต้องทำแผนรื้อถอน 2.ผู้ประกอบการที่มีปริมาณปิโตรเลียมสำรองเหลือเพียง 40% และ 3.สัญญาสัมปทานของผู้ประกอบการจะสิ้นสุดสัญญาภายในระยะเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องจัดทำแผนประมาณค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งเสนอมายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยต้องวางเงินประกันการรื้อถอน 100% จากนั้นกรมจะส่งต่อให้คณะกรรมการปิโตรเลียมทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่พิจารณาอนุมัติให้รื้อถอนสิ่งติดตั้งตามลำดับขั้นต่อไป

นายสุริยันต์ กล่าวว่า เมื่อ วันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียตามกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียมตามร่างกฎกระทรวงกำหนดแผนงานประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ...ออกตามความในมาตรา 80/1 และ 80/2 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 เพื่อนำข้อเสนอแนะและข้อห่วงใยของทุกฝ่ายไปปรับปรุง

"กรมและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะนำความคิดเห็นและข้อห่วงใยในประเด็นต่างๆ ไปใช้ประกอบการพิจารณาแนวทางการกำกับดูแล การดำเนินกิจกรรมการรื้อถอนที่จะมีขึ้นในอนาคตให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และลดข้อห่วงกังวลต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะประกาศหลักเกณฑ์ภายใน 6 เดือน ซึ่งจะสอดคล้องกับสัญญาสัมปทานของเชฟรอนฯ และ ปตท.สผ.ที่จะหมดอายุในปี 2565-2566" นายสุริยันต์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีแท่นหลุมผลิตและขุดเจาะปิโตรเลียมและแท่นที่พักอาศัยทั้งสิ้น 535 แห่ง ประกอบด้วย 1.แท่นในอ่าวไทย 435 แท่น และ 2.แท่นบนบก 100 แท่น คาดใช้งบประมาณในการรื้อถอนหลักแสนล้านบาท



ที่มา Data & Images -




แรงงานขุดเจาะน้ำมันตกงาน 6 พันคน

แรงงานขุดเจาะปิโตรเลียมตกงานกว่า 6,000 คน หลังผู้ประกอบการหยุดแท่นผลิต เพราะราคาน้ำมันร่วงต่อเนื่อง


นายสุริยันต์ อภิรักษ์สัตยากุล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 57 จากประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจนล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลว่า ได้ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเลียมหลายราย เลื่อนขุดเจาะผลิตน้ำมันและมีแท่นขุดเจาะน้ำมันบางแห่งหยุดกิจการชั่วคราวแล้ว 2 แท่น ได้แก่ แท่นสงขลา ซี และจี ของบริษัท คอสตอลเอนเนอร์ยี กำลังการผลิตรวม 2,600 บาร์เรลต่อวัน รวมทั้งมีแท่นบริการสำรวจ และผลิตถอนแท่นออกจากไทยแล้ว 2 แท่นจากทั้งหมด 10 แท่น ส่งผลให้พนักงานตกงานไปมากกว่า 6,000 คนแล้ว

"ตอนนี้กรมฯกำลังติดตามสถานการณ์ทั้งหมดเชื่อว่า เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น จนถึงจุดราคาคุ้มค่าแก่การลงทุน คาดว่ากิจกรรมต่างๆจะกลับมาเดินเครื่องการผลิตอีกครั้ง" นายสุริยันต์ กล่าว

บีพีขาดทุนหนัก - ปลดพนง. 7 พันคน

"บีพี" เปิดเผยตัวเลขขาดทุนหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว พร้อมกับประกาศปลดพนักงานหลายพันคน หลังราคาน้ำมันทรุดตัวลง

บริษัทบีพี เปิดเผยตัวเลขขาดทุนหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว พร้อมกับประกาศปลดพนักงานหลายพันคน หลังราคาน้ำมันทรุดตัวลง

บีพี เปิดเผยว่า บริษัทประสบภาวะขาดทุน 6,500 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าระดับ 4,900 ล้านดอลลาร์ที่รายงานในปี 2553นอกจากนี้ บริษัทยังระบุว่า จะปลดพนักงาน 7,000คนภายในปลายปีหน้า หรือราว 9% ของพนักงานทั้งหมด

ทั้งนี้ราคาน้ำมันทรุดตัวลงราว 70% นับตั้งแต่แตะระดับสูงสุดของปี 2557 เหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ขณะที่บริษัทเอ็กซอน โมบิล คอร์ป รายงานตัวเลขกำไรรายไตรมาสต่ำที่สุดในรอบกว่า 10 ปี โดยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลงเช่นกัน โดยบริษัทมีกำไร 2,780 ล้านดอลลาร์ หรือ 67 เซนต์ต่อหุ้นในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย.2545 จากระดับ 6,570 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.56 ดอลลาร์ต่อหุ้นในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ เอ็กซอน ยังระบุว่าจะปรับลดการใช้จ่ายทุนเหลือ 23,200 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ลดลง 25% จากปีที่แล้ว



ที่มา Data & Images -