ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

การจัดทำร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลของไทย

เริ่มโดย mrtnews, ก.พ 20, 16, 06:27:52 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 3 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- ศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 
รุจิระ บุนนาค rujira_bunnag@yahoo.com
Twitter : @ RujiraBunnag


ประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance) เป็นประกันภัยที่มีความสำคัญต่อระบบการเดินเรือและการค้าระหว่างประเทศ เป็นการสร้างความมั่นคงทางการค้าระหว่างประเทศ เพราะการค้าระหว่างประเทศต้องมีการขนส่งสินค้าทางไกล การประกันภัยทางทะเลจะครอบคลุมถึงการประกันความเสียหายอันเกิดขึ้นแก่ตัวเรือ ทรัพย์สินหรือสินค้า ระหว่างการเดินทางขนส่งสินค้าจากต้นทางไปปลายทาง เรืออาจประสบภัย เช่น ลมพายุ เรือเกยตื้น เรือชนกัน เรือชนหินโสโครก เรือล่ม ไฟไหม้ หรือภัยซึ่งเกิดจากการกระทำของโจรสลัด หรือสินค้าถูกน้ำทะเลซัดตกจากเรือ น้ำทะเลเข้าระวางเรือหรือตู้บรรจุสินค้า ภัยต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสียหายและสูญเสีย


การทำประกันภัยจึงทำให้เจ้าของสินค้าได้รับการชดใช้ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างหลักประกันให้กับสถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ หากไม่มีการทำประกันภัย ถ้าผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย จะไม่มีเงินมาชดใช้หนี้สถาบันการเงินได้ การทำประกันภัยจึงเป็นการยืนยันว่า ถ้าทรัพย์สินเสียหาย บริษัทประกันภัยจะชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นให้สถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ ทั้งกรมธรรม์ประกันภัยยังเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้

ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเล ขณะนี้กฎหมายไทยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพียงมาตราเดียวคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 868 ซึ่งบัญญัติว่า "อันสัญญาประกันภัยทะเล ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล" และนับตั้งแต่การประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 เมื่อพ.ศ. 2472 ในระบบกฎหมายไทยก็ไม่เคยมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเลแต่อย่างใด

เมื่อมีคดีเกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเลขึ้นสู่ศาล ศาลได้นำหลักการอุดช่องว่างของกฎหมายตามป.พ.พ.มาตรา 4 คือ "เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป"

แนวคำพิพากษาฎีกาของไทยมีแนววินิจฉัย 2 ทาง คือ (1) ใช้กฎหมายอังกฤษในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2496 และ 7350/2537 ศาลได้วินิจฉัยทำนองเดียวกันว่าเมื่อกฎหมายทะเลของไทยไม่มีและจารีตประเพณีก็ไม่ปรากฏ จึงควรถือกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลของอังกฤษเป็นกฎหมายทั่วไปเพื่อ เทียบเคียงวินิจฉัย และ (2) ใช้ป.พ.พ. ว่าด้วยประกันภัยในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในการวินิจฉัยคดี เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6649/2537 ศาลฎีกา ได้วินิจฉัยว่า "ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายทะเลเกี่ยวกับสัญญาประกันภัย ทะเล ทั้งไม่มีจารีตประเพณีเกี่ยวกับสัญญา เช่นว่านั้น เรื่องอายุความฟ้องเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามสัญญาประกันภัยในคดีนี้จึงต้องนำป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคหนึ่ง (ประกันวินาศภัย) อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี"

สำหรับกฎหมายอังกฤษที่นำมาปรับใช้ คือ พ.ร.บ.ประกันภัยทางทะเล ค.ศ. 1906 (พ.ศ.2449) รวมทั้งคำพิพากษา ของศาล ตลอดจนกรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐาน (Institute Clauses) และแนวปฏิบัติต่างๆที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดประกันภัยทางทะเล

แม้บางครั้งศาลฎีกาจะนำหลักการ ในการประกันวินาศภัยมาปรับใช้กับการประกันภัยทางทะเลในบางกรณี แต่เนื่องจากกฎหมายประกันภัยทางทะเลมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการประกันวินาศภัยทั่วไป และตามป.พ.พ. มาตรา 868 บัญญัติว่า "อันสัญญาประกันภัยทะเล ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทางทะเล" แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของป.พ.พ.ต้องการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเลแยกต่างหากจากกฎหมายประกันภัยทั่วไป

แต่นับจาก ปี พ.ศ. 2472 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานถึง 87 ปี ประเทศไทยยังไม่มีการบัญญัติกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นเอกเทศที่จะสามารถนำมาบังคับใช้ได้โดยตรง


อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นทั้งข่าวดีและเรื่องที่น่ายินดีที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีกฎหมายประกันภัยทางทะเล เพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริม และยกระดับมาตรฐานการประกันภัยไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายประกันภัยทางทะเลทั้งภายในและภายนอกองค์กรร่วมเป็นกรรมการ รวมทั้งมีผู้แทนจากกรมเจ้าท่าเป็นกรรมการ เพื่อศึกษาความจำเป็นในการจัดทำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการประกันภัย ทางทะเล พ.ศ. ...

การที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นการเฉพาะ ย่อมจะช่วยให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการขนส่ง การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยทางทะเลในการคุ้มครองผู้เอาประกันภัยทั้งภายในและนอกประเทศ ทั้งยังเป็นการเตรียมตัวเพื่อจะรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน/เออีซี (Asean Economic Community/AEC) ของประเทศไทยอีกด้วย การมีกฎหมายประกันภัยทางทะเลยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของไทยในสายตาของประเทศคู่ค้า

อีกไม่นานเกินรอประเทศไทยจะได้มีกฎหมายประกันภัยทางทะเลใช้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยไม่ต้องใช้วิธีเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงยิ่ง (Analogy) จากกฎหมายอังกฤษเสียที



ที่มา Data & Images -