ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ประมง "สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม" จอดเรือทิ้ง 3 พันลำ-ปิดล้ง-ตกงานหลายหมื่น

เริ่มโดย mrtnews, มี.ค 16, 16, 06:24:36 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 3 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เกือบหนึ่งปีแล้วสำหรับการแก้ไขปัญหาการประมงทำผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU หลังจากสหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลือง และให้ไทยเร่งสะสางปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าได้สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจอย่างมากในพื้นที่ 22 จังหวัดที่เป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการประมงขนาดใหญ่ที่กระจายสินค้าไปจำหน่ายทั่วประเทศ และส่งออก


จอดเรือทิ้ง 3,000 ลำ ใน 22 จังหวัด

นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเรือประมง 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล ไม่สามารถทำการประมงได้ ต้องจอดเรือเทียบท่ากว่า 3,000 ลำ ส่วนจังหวัดสมุทรสาครมีเรือพาณิชย์ทั้งหมด 1,100 ลำ สามารถออกเดินเรือได้ 200 ลำ และจอดทิ้งกว่า 900 ลำ ปัญหาดังกล่าวแม้ว่ารัฐบาลจะเร่งเยียวยา แต่เม็ดเงินยังลงไปไม่ถึงผู้ประกอบการที่เดือดร้อนเท่าที่ควร

"วันนี้ชาวประมงยังได้รับความเดือดร้อนแม้ว่าภาครัฐจะช่วยเหลือเยียวยาแต่เงินยังไม่ถึงมือชาวประมงได้แต่เพียงบางส่วนแต่ไม่ได้มากหากเทียบกับโอกาสที่เสียไป ส่วนแหล่งเงินกู้ที่รัฐให้กู้กับธนาคารออมสินก็เข้าถึงยาก มีกฎเกณฑ์ เงื่อนไขที่ยุ่งยาก ทำให้ชาวประมงที่จอดเรือเริ่มขาดสภาพคล่อง หันมากู้เงินกู้นอกระบบมากขึ้น หากปัญหานี้ไม่คลี่คลายจะทำให้เจ้าของเรือหนี้ท่วมหัว"

กำลังซื้อวูบ-ศก.ถดถอย

นายปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาครมาจากอุตสาหกรรมประมง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากการประมงเป็นหลัก หลังจากเผชิญปัญหาไอยูยู ทำให้ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาครชะลอตัว การจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคัก ตลาดสดซบเซา ค้าปลีกค้าส่งตามห้างสรรพสินค้ามีคนเดินช็อปปิ้งลดลง โดยคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะทำให้เศรษฐกิจสมุทรสาครถดถอย 30%

ขณะที่วัตถุดิบกลุ่มปลาเบญจพรรณ ที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมอาหารหายากและมีราคาสูงขึ้น ทำให้ล้งปิดตัวประมาณ 20-30% และห้องเย็นปิดตัวลง 7 แห่ง สำหรับปัญหาแรงงานภาคประมง ซึ่งส่วนใหญ่ 90% เป็นแรงงานเมียนมา และอีก 10% เป็นแรงงานไทย ขณะนี้ผู้ประกอบการเริ่มลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้แรงงานเมียนมาส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศไปแล้ว ในระยะยาวจะส่งผลเสียหากอุตสาหกรรมประมงฟื้นตัวกลับมา จะทำให้ขาดแคลนแรงงาน

ปิดล้งกุ้ง-โรงน้ำแข็ง/ห้องเย็นอ่วม

นายอาคม เครือวัลย์ ประธานชมรมแปรรูปอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดปัญหาขึ้น ทำให้สัตว์น้ำขาดแคลนทุกชนิด เกิดการแย่งวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น แต่ยังคงขายราคาเดิม ตอนนี้ล้งกุ้งปิดตัวไปแล้ว 392 แห่ง เหลือเพียง 3-4 แห่งเท่านั้น ซึ่งมีแรงงานตกงานจำนวนหลายหมื่นคน ส่วนลูกจ้างที่เป็นแรงงานเมียนมาก็กลับประเทศ

ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมประมงที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องก็อยู่ในสภาพย่ำแย่เช่นกัน โดยเจ้าของโรงน้ำแข็งเจ้ทิ้ง จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่โชคร้ายสำหรับอุตสาหกรรมประมง นอกจากแพปลาและตลาดทะเลไทยจะซบเซามากแล้ว ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ห้องเย็น โรงน้ำแข็ง ชะลอตัวตาม ปัจจุบันโรงน้ำแข็งรายใหญ่ในสมุทรสาครกว่า 30 แห่ง บรรยากาศการซื้อขายเงียบเหงา และตั้งแต่เรือประมงหยุดเดินเรือจนถึงขณะนี้ ภาพรวมยอดขายลดลง 40-50%

ด้าน นายปพิชญา แต้ศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยนาวีห้องเย็น จำกัด กล่าวว่า ช่วงที่เรือประมงหยุดเดินเรือ ธุรกิจห้องเย็นให้เช่าได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย และก่อนหน้านั้นก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากรัฐบาลอินโดนีเซีย ประกาศห้ามไม่ให้เรือประมงต่างชาติเข้าทำการประมงในน่านน้ำอินโดนีเซีย


หนี้เสียพุ่งหันนำสินทรัพย์จำนอง

สำหรับสถานการณ์ที่จังหวัดสมุทรสงคราม นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม กล่าวว่า สมุทรสงครามมีเรือประมง 2,297 ลำ เป็นเรือต่ำกว่า 30 ตันกรอส 1,351 ลำ เรือขนาด 30-60 ตันกรอส 509 ลำ และเรือ 60 ตันกรอสขึ้นไป 437 ลำ โดยมีเรือประมงที่สามารถออกทำการประมงได้ 60% และอีก 40% เป็นเรือจอดทิ้งไว้ ทำให้อาหารทะเลลดลง และราคาอาหารทะเลสูงขึ้น 10-20% เช่น ปลาทูติดอวนดำ ปกติราคา 70-80 บาท/กก. ขณะนี้ราคา 150-160 บาท/กก. และปลาทูอวนลากเดิมราคา 70-150 บาท/กก. เพิ่มเป็น 300 บาท/กก. แต่ยังไม่มีการปลดแรงงาน

"ปัญหา IUU ส่งผลให้ 22 จังหวัดชายทะเลขาดแคลนอาหารทะเล หรือในอนาคตจะต้องนำเข้าและบริโภคในราคาที่สูงขึ้น หากประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในระยะ 1 ปี ความเสียหายเป็นแสนล้าน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อวูบหนัก เจ้าของเรือประมงไม่สามารถที่จะชำระหนี้ธนาคารได้ หนี้เสีย (NPL) พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง มีการนำที่ดินและบ้านไปจำนอง พร้อมทั้งประกาศขายเรือ แต่ก็ขายไม่ได้ เพราะมีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 44 ห้ามโอนใบอนุญาต" นายมงคลกล่าว

ผลกระทบเป็นลูกโซ่เช่นนี้ เกิดขึ้นกันถ้วนหน้าใน 22 จังหวัดชายทะเลจากปัญหา IUU กับการไล่จัดระเบียบเรือประมงในรอบ 1 ปีนี้ เพื่อให้ได้มาตรฐานในแบบฉบับยุโรป

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat



ที่มา Data & Images -