ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ญี่ปุ่นชวดประมูลโครงการสร้างเรือดำน้ำให้กองทัพเรือออสเตรเลีย

เริ่มโดย mrtnews, เม.ย 27, 16, 06:29:16 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- อังคารที่ 26 เมษายน 2559 - ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ประเทศญี่ปุ่นแพ้การประมูลโครงการสร้างเรือดำน้ำให้กับกองทัพเรือของออสเตรเลีย


นายมัลคอล์ม เทิร์นบูล นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แถลงว่า บริษัท DCNS สัญชาติฝรั่งเศสชนะการประมูลโครงการสร้างเรือดำน้ำ โดยสามารถเอาชนะเหนือบริษัท ThyssenKrupp Marine Systems ของเยอรมนี และบริษัท Mistubishi Heavy Industries ของญี่ปุ่น ด้วยสัญญาก่อสร้างมูลค่าห้าหมื่นล้านดอลล่าร์ออสเตรเลีย (3.86 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ)

"ผมขอขอบคุณบริษัท TKMS และรัฐบาลญี่ปุ่นที่ยื่นข้อเสนอมา ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเสนอที่มีคุณภาพเยี่ยมยอด แต่กระบวนการการประเมินผลการแข่งขันของเราเป็นไปอย่างโปร่งใส ซึ่งเราพบว่าทางฝรั่งเศสนำเสนอความสามารถในการเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดที่จะตอบสนองความต้องการเฉพาะของออสเตรเลียได้" นายเทิร์นบูล ขยายความ

ตามสัญญาดังกล่าว บริษัท DCNS ของฝรั่งเศสจะทำการออกแบบและก่อสร้างเรือดำน้ำ 12 ลำร่วมกับหน่วยงานออสเตรเลีย เพื่อใช้แทนเรือหลวงราชนาวีคอลลินส์ชุดปัจจุบันซึ่งเรือจำนวน 6 ลำมีกำหนดครบอายุการใช้งานช่วงกลางทศวรรษ 2020

ทั้งนี้ เรือดำน้ำล็อตใหม่จะดำเนินการก่อสร้าง ณ เมืองแอดิเลด ทางตอนใต้ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งการบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีรายละเอียดระบุอยู่ในสัญญาดังกล่าวด้วย

สำหรับประเด็นของประเทศผู้แพ้การประมูล นายเทิร์นบูลให้ความเห็นว่า "ผมเชื่อว่าทั้งนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ และตัวกระผมเอง รวมถึงรัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่าย มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ต่อกัน และจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ มิว่าเวลาใด"



ที่มา Data & Images -




ซามูไรอกหัก! รบ.ออสซี่เลือก "ฝรั่งเศส" เป็นหุ้นส่วนพัฒนาเรือดำน้ำรุ่นใหม่มูลค่า Aus$50,000 ล้าน

เอเอฟพี - รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจเลือกบริษัท ดีซีเอ็นเอส กรุ๊ป ของฝรั่งเศสเป็นหุ้นส่วนในการออกแบบและผลิตกองเรือดำน้ำรุ่นใหม่ มูลค่าถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้วงเงินสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแดนจิงโจ้


คำประกาศของนายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ ในวันนี้ (26 เม.ย.) ถือเป็นคำตอบสุดท้าย หลังจากที่ลุ้นกันมานานหลายเดือนว่าชาติใดจะคว้าสัมปทานโครงการผลิตเรือดำน้ำรุ่นใหม่ เพื่อมาทดแทนฝูงเรือดำน้ำชั้นคอลลินส์ของแดนจิงโจ้ซึ่งใช้เครื่องยนต์ดีเซลและไฟฟ้า และจวนถึงกำหนดปลดระวางในราวปี 2026

เทิร์นบูลล์ ระบุว่า ฝูงเรือดำน้ำรุ่นใหม่ของออสเตรเลียซึ่งจะมีจำนวน 12 ลำ "จะเป็นยานพาหนะทางทะเลซึ่งมีความทันสมัยและซับซ้อนที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา"

"จากการประเมินศักยภาพด้านการแข่งขัน... เราได้คำแนะนำที่ชัดเจนว่า บริษัทของฝรั่งเศสเสนอเทคโนโลยีและศักยภาพที่ตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของออสเตรเลียมากที่สุด" ผู้นำออสเตรเลียระบุในการแถลงข่าวที่อู่ต่อเรือในเมืองแอดิเลด ซึ่งจะถูกใช้เป็นสถานที่ผลิตเรือดำน้ำรุ่นใหม่

"นี่คือความมุ่งมั่นครั้งสำคัญของชาติ... และเป็นการประกันอนาคตที่สดใสของกองทัพเรือออสเตรเลียตลอดหลายทศวรรษข้างหน้า"

ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส กล่าวยกย่องการตัดสินใจ "ครั้งประวัติศาสตร์" ของรัฐบาลออสเตรเลีย

"นี่คือเครื่องหมายแสดงถึงความก้าวหน้าในการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างเราทั้ง 2 ชาติ ซึ่งจะได้ร่วมมือกันไปตลอด 50 ปีข้างหน้า... ความสำเร็จครั้งนี้จะช่วยสร้างงานและส่งเสริมการพัฒนาทั้งในฝรั่งเศสและออสเตรเลีย" ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสแถลง

กลุ่มบริษัทญี่ปุ่นซึ่งนำโดย มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ และบริษัท ธีสเซนครุปป์ มารีน ซิสเต็มส์ ของเยอรมนี ก็ได้ยื่นซองประมูลในโครงการนี้ด้วยเช่นกัน แต่รัฐบาลออสเตรเลียเห็นว่า ดีซีเอ็นเอส ของฝรั่งเศส "สามารถตอบสนองศักยภาพที่จำเป็นทั้งหมดที่เราต้องการ"

นอกจากพิสัยเดินทางและความทนทานที่จะต้องไม่ด้อยไปกว่าเรือดำน้ำชั้นคอลลินส์แล้ว ออสเตรเลียยังคาดหวังให้เรือดำน้ำที่จะผลิตขึ้นใหม่นี้มีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับที่เหนือกว่า รวมถึงเทคโนโลยีในการพรางตัว

ดีซีเอ็นเอส ระบุว่า บริษัทมีแผนออกแบบเรือดำน้ำที่ใช้พลังงานแบบดั้งเดิม (conventionally-powered) เหมือนกับชั้นบาร์ราคูดา ซึ่งมีระวางขับน้ำ 4,700 ตัน แต่รุ่นใหม่นี้จะมีระวางขับน้ำเพียง 4,500 ตัน และใช้ชื่อว่า "ชอร์ตฟิน บาร์ราคูดา" (Shortfin Barracuda) ซึ่งจะเป็น "สิ่งประดิษฐ์ที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีสูงสุดในออสเตรเลีย"

เว็บไซต์ของ ดีซีเอ็นเอส ระบุว่า เรือดำน้ำรุ่นใหม่จะใช้เทคโนโลยีที่ "ลับสุดยอด และได้รับการป้องกันมากที่สุดของฝรั่งเศส และจะเป็นเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมที่มีอานุภาพโจมตีร้ายกาจที่สุดเท่าที่เคยคิดค้นมา"

"ระบบขับเคลื่อนแบบใช้แรงดันน้ำ (pump jet propulsion) จะทำให้ ชอร์ตฟิน บาร์ราคูดา สามารถเดินทางได้เงียบกว่าเรือดำน้ำแบบใบพัดซึ่งล้าสมัยแล้ว" ดีซีเอ็นเอส ระบุ

สำหรับระบบการต่อสู้และอาวุธหลักที่ออสเตรเลียจะนำมาติดตั้งบนเรือดำน้ำรุ่นใหม่คือ ตอร์ปิโดขนาดใหญ่ ที่ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น

ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นถือเป็นตัวเลือกโปรดที่มีแนวโน้มจะคว้าสัมปทานโครงการนี้มากที่สุด โดยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียได้ออกมาพูดในเดือน พ.ย. ปีที่แล้วว่า การเลือกบริษัทญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาค ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ บางคน รวมถึง ริชาร์ด อาร์มิเทจ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ออกมาแสดงจุดยืนหนุนญี่ปุ่นเช่นกัน

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนนี้ หนังสือพิมพ์แดนจิงโจ้ได้อ้างคำพูดเจ้าหน้าที่อเมริกันซึ่งไม่เพียงสนับสนุนญี่ปุ่นในแง่ของคุณภาพเรือดำน้ำเท่านั้น แต่ชี้ว่าการเลือกญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนจะยิ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ทางทะเลระหว่างแคนเบอร์รา วอชิงตัน และโตเกียว ในห้วงเวลาที่จีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพล

ญี่ปุ่นถึงกับเคยเสนอที่จะแบ่งปันเทคโนโลยีล่องหน (สเตลธ์) ซึ่งถือเป็นความลับสุดยอดของรัฐบาลให้แก่ออสเตรเลีย หากได้รับเลือกให้เป็นผู้พัฒนาและผลิตกองเรือดำน้ำรุ่นใหม่แก่แดนจิงโจ้

อย่างไรก็ตาม ในมุมของรัฐบาลแคนเบอร์ราก็มีความหวั่นเกรงว่า การร่วมมือกับญี่ปุ่นจะเป็นเหตุให้ต้องผิดใจกับจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ อีกทั้งญี่ปุ่นยังขาดประสบการณ์ในการส่งออกยุทโธปกรณ์ทางทหารที่มีความซับซ้อน

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า การตัดสินใจเลือกฝรั่งเศสจะไม่ทำให้พันธมิตรสำคัญอย่างสหรัฐฯ ขุ่นเคืองใจหรือ? นายกฯ เทิร์นบูล ก็ตอบว่า การเลือกคู่สัญญากลาโหม "เป็นอำนาจอธิปไตยของออสเตรเลีย" และในส่วนของความสัมพันธ์ทวิภาคีกับญี่ปุ่นก็ยังคง "เข้มแข็งขึ้นทุกๆ วัน"

การยื่นซองประมูลโครงการนี้ได้กลายเป็นประเด็นละเอียดอ่อนทางการเมืองในแดนจิงโจ้ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้แรงงานและผู้ผลิตในประเทศได้มีส่วนร่วมมากที่สุด และเกรงกันว่าหากรัฐบาลตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำแบบสำเร็จรูปพร้อมใช้งานจากญี่ปุ่น หรือผู้ผลิตรายอื่นๆ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศ



ที่มา Data & Images -


..