ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

พลิกโฉมท่าเรือจุกเสม็ดรับ EEC เชื่อมคมนาคม "บก-น้ำ-อากาศ"

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 16, 16, 06:29:34 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

"บิ๊กตู่" หนุนแจ้งเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ปั้นท่าเรือจุกเสม็ด 3 ท่า รับการค้า-ท่องเที่ยวโต ผุดสะพานเทียบเรือเฟอร์รี่ เชื่อมสัตหีบ-หัวหิน-จังหวัดพระสีหนุ-โฮจิมินห์ซิตี-สิงคโปร์ เปิดใช้ปี?61 ตั้งเป้ารายได้เพิ่ม 500 ล้าน เชื่อมโลจิสติกส์บก น้ำ อากาศ


พล.ร.ต.อารักษ์ แก้วเอี่ยม ผู้อำนวยการการท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงแผนการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ หรือท่าเรือจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ มีพื้นที่ทั้งหมดราว 20,000 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยท่าเรือ 6 ท่า แบ่งเป็นท่าจอดเรือรบของกองทัพเรือ (ท่าที่ 1-3) และเป็นท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้าประเภทอุตสาหกรรม (ท่าที่ 4-6) โดยมีแผนจะพัฒนาท่าเรือที่ 4-6 ให้เป็นท่าเรือรองรับด้านการท่องเที่ยว และเรือเฟอร์รี่ รวมทั้งปรับปรุงพื้นที่สำหรับการขนส่งสินค้าให้ได้มากขึ้น

ลงทุน 192 ล.บริหารท่าเรือพาณิชย์

ขณะนี้มีแผนการพัฒนาท่าเรือหมายเลข 6 เป็นแห่งแรก มีพื้นที่หน้าท่าประมาณ 150 เมตร ความลึกประมาณ 3.5-9 เมตร เป็นท่าชายฝั่งที่มีความลึกไม่มาก เหมาะสำหรับการจอดเรือเฟอร์รี่ โดยมีแผนปรับปรุงขยายหน้าท่าออกไป สร้างสะพานเทียบเรือ 2 สะพาน และท่าเทียบเรือ 4 ท่า สามารถรองรับการจอดเรือเฟอร์รี่ได้ 4 ลำ โดยใช้งบประมาณจากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการบริหารท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ จำนวน 192 ล้านบาท

การออกแบบท่าเรือจะเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ จากนั้นจะประกาศหาผู้ว่าจ้างและจะเริ่มเปิดประกวดราคาช่วงต้นปี 2560 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี แล้วเสร็จในปี 2561

ในส่วนของท่าเรือที่ 4 และ 5 นั้น ในปีนี้มีแผนจะขยายหน้าท่าเพิ่มจาก 330 เมตร เป็น 380 เมตร และในปี 2560-2563 มีโครงการขุดลอกร่องน้ำ จากเดิมที่มีความลึก 10.5 เมตร รองรับเรือสินค้าขนาด 5,000 ตันกรอส เพิ่มเป็นความลึก 14 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ขึ้น เช่น เรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ได้ รวมทั้งเรือครุยส์ขนาดใหญ่ที่กินน้ำลึกตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ขณะนี้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมกำลังศึกษาการขุดหน้าท่าและการขุดลอกร่องน้ำ ส่วนท่าที่ 1, 2, 3 นั้นจะยังคงใช้เป็นที่สำหรับจอดเรือรบของกองทัพเรือ เพราะท่าเรืออื่นของกองทัพเรือยังไม่มีพื้นที่ที่สามารถรองรับเรือเหล่านี้ได้

อาคารผู้โดยสารรับเรือเฟอร์รี่

นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสำหรับเรือเฟอร์รี่(FerryTerminal)และสิ่งอำนวยความสะดวก บริเวณท่าเรือที่ 4 และ 5 ซึ่งต้องประเมินจากจำนวนผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่ก่อน เบื้องต้นต้องการให้รองรับได้ประมาณ 2,000 คน ปัจจุบันมีการใช้พื้นที่เกือบเต็มแล้ว เพราะเอกชนต้องใช้พื้นที่สำหรับวางกองและประกอบโครงสร้างชิ้นส่วนสินค้า ดังนั้นหากจะสร้างอาคารผู้โดยสารอาจต้องมีการเจรจาผู้ประกอบการบางรายให้ย้ายออก และต้องหาพื้นที่อื่นไว้รองรับ

สำหรับการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ นั้น พล.ร.ต.อารักษ์กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างก่อสร้างถนนสาย 331 ขยายจาก 2 เลน เป็น 4 เลน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ตัดเข้ามาสิ้นสุดในท่าเรือ จะแล้วเสร็จสิ้นปี 2559 นี้ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการเดินทางและขนส่งสินค้า ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็ได้ปรับปรุงรางรถไฟที่วิ่งเข้ามาในท่าเรือที่ไม่ได้ใช้งานตั้งแต่ปี 2546 โดยขยายรางจากขนาด 80 ซม. เป็น 120 ซม. เพื่อให้มีมาตรฐาน รองรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้ในอนาคต โดยจะเปิดให้บริการได้ปลายปี 2559 นี้


มอเตอร์เวย์เชื่อม บก-น้ำ-อากาศ

ขณะที่มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด ที่จะมาลงบริเวณหน้าสนามบินอู่ตะเภาก็คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2560 หากโครงการทั้งหมดนี้แล้วเสร็จ จะช่วยเชื่อมโยงการคมนาคมทั้งทางบก อากาศ และทางน้ำ โดยท่าเรือพาณิชย์สัตหีบอยู่ห่างจากสนามบินอู่ตะเภาเพียง 4 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งไม่มีที่ไหนในประเทศไทยที่สนามบินและท่าเรืออยู่ใกล้กันขนาดนี้ จะพัฒนาควบคู่กันไป ซึ่งท่าหมายเลข 6 จะเกิดแน่นอน และพื้นที่อุตสาหกรรมกับท่องเที่ยวก็สามารถอยู่ด้วยกันได้ เพราะจะแยกช่องทางกันระหว่างคนกับสินค้า

ที่สำคัญยังได้วางแผนเชื่อมโยงเส้นทางเรือเฟอร์รี่ไว้ 3 เส้นทาง คือ 1.สัตหีบ-เกาะช้าง-จังหวัดพระสีหนุ-โฮจิมินห์ซิตี 2.สัตหีบ-ปราณบุรี-หัวหิน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ช่วยทุ่นเวลาการเดินทางจาก กทม. ทางรถยนต์ที่ต้องใช้เวลาถึง 6-7 ชั่วโมง และเป็นการเชื่อมต่อระหว่างภาคใต้กับภาคตะวันออก สามารถเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าได้ และ 3.เส้นทางสัตหีบ-สมุย-สิงคโปร์ คาดว่าจะเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นรูปธรรมชัดเจนใน 5 ปี หรือเต็มที่ภายใน 10 ปี

ทั้งนี้ ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบมีเอกชนเข้ามาใช้พื้นที่จำนวน 16 ราย สินค้าที่ขนส่งผ่านท่าเรือจะเป็นสินค้าขนาดใหญ่ เช่น โครงสร้างอาคาร ฐานขุดเจาะน้ำมัน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท แต่ปีนี้มีรายได้ประมาณ 190 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจน้ำมันซบเซาลง จึงติดต่อสินค้าประเภทวางกองอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติม หากมีการพัฒนาเป็นไปตามแผน คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 500-1,000 ล้านบาทต่อปี จากการท่องเที่ยวและเรือสินค้าที่เพิ่มขึ้น



ที่มา Data & Images -