ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

แกร่งจริงๆ เรือรบสหรัฐโดนสารพัดจรวด-ตอร์ปิโด ระดมยำ 12 ชั่วโมงช่วยกันจม

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 23, 16, 06:27:38 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

MGRออนไลน์ -- เรือฟริเกต เรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ หลายลำ รวมทั้งเครื่องบินปราบเรือดำน้ำ กับเรือลาดตระเวณอีก 1 ลำ ของกองทัพเรือ 3 ประเทศ ได้ร่วมกันจมเรือรบที่ไม่ใช้แล้วลำหนึ่ง โดยใช้สารพัดอาวุธทันสมัย ตามด้วยการทิ้งระเบิดโดยเครื่องบิน F/A-18 และ B52 กว่าจะจมลงสู่ก้นมหาสมุทรได้ ก็ใช้เวลานานเกือบ 12 ชั่วโมง แต่เหตุการณ์นี้ ได้แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง ถึงความแข็งแกร่งของเรือสหรัฐ ที่ออกแบบและใช้มานานตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เพิ่งปลดระวางไปทั้งหมดในช่วงไม่กี่ปีมานี้


เราไม่ได้เห็นเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ นั่นคือ การจมเรือรบแสนทรหดลำหนึ่ง ด้วยอาวุธนำวิถีหลากหลายรุ่น และ รวมทั้งจรวดฮาร์พูน (Harpoon) หรือ จรวด RGM-84 ซึ่งโดยทั่วไป สามารถจมเรือรบขนาด 3,000-4,000 ตันได้ โดยใช้เพียงลูกเดียวเท่านั้น วิดีโอคลิปที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐ ในช่วงวันสองวันมานี้ มีผู้เข้าชมแล้ว 130,000 ครั้ง จำนวนเพจวิวเพิ่มทวีอย่างรวดเร็ว เมื่อมีการเผยแพร่ผ่านยูทิวบ์


นั่นคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2559 ในการฝึกซ้อมการจมเรือที่เรียกว่า SINKEX อันเป็นส่วนหนึ่งของการฝึก Rim of the Pacific หรือ RIMPAC 2016 ระหว่างสหรัฐกับพันธมิตร 26 ประเทศ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นการฝึกซ้อมทางทหารใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี และ กำลังดำเนินอยู่ในช่วงเดือนนี้จนถึงต้นเดือนหน้า โดยกองทัพเรือที่ 3 หรือ "กองเรือแปซิฟิก" ของสหรัฐเป็นเจ้าภาพ

เรือที่ใช้เป็นเป้าหมายในการฝึกยิงเพื่อให้จมครั้งนี้ คือ เรือทัค (USS Thac, FFG 43) หนึ่งในบรรดาเรือฟริเกตชั้นโอลิเวอร์ ฮาร์ซาร์ด เพอร์รี (Oliver Hazrad Perry-Class) กว่า 50 ลำ ที่สหรัฐทะยอยปลดประจำการไปทั้งหมดแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รวมทั้ง 2 ลำ ที่เคยเสนอจะมอบให้แก่ราชนาวีไทย แบบ "ฟรีๆ" อีกด้วย แต่เรื่องได้เงียบหายไป โดยไร้คำอธิบาย และ ไม่มีการกล่าวหาใดๆ

ระหว่างการฝึกดังกล่าว เรือ USS Thac โดนสารพัดจรวดและระเบิด ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งได้แสดงให้เห็นความทรหดอย่างยิ่ง สามารถทนทานต่อการทำลายล้างอันหนักหน่วง ครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนค่อยๆ จมลงสู่ก้นมหาสมุทร ช่วงที่มีความลึก 15,000 ฟุต หรือเกือบ 5 กิโลเมตร นอกชายฝั่งเกาะใหญ่ฮาวายเกือบ 6 กม. มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์กองทัพเรือสหรัฐ

บนเรือ USS Thach ปราศจากอาวุธยุทโธปกรณ์ใด ไม่มีเชื้อเพลิง หรือ สารใดๆ ที่เป็นมลพิษต่อสภาพแวดล้อม มีเพียงโครงเรือล้วนๆ ถูกลากจูงไปยังจุดที่จัดเตรียมล่วงหน้า เพื่อให้เป็นปะการังเทียม เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ในท้องทะเลลึก

เรือฟริเกตทรหด โดนนัดแรกเป็นจรวดฮาร์พูน ปล่อยจากเรือดำน้ำลีอ็อกจี (Lee Eokgi) กองทัพเรือเกาหลีใต้ แต่เรือทัคก็ยังอยู่ ก็จึงตามด้วยจรวดฮาร์พูนอีกลูกหนึ่ง จากเรือบัลลารัต (HMS Ballarat) เรือฟริเกตของราชนาวีออสเตรเลีย ตามอีกหมัด ด้วยจรวดเฮลไฟร์ "ไฟนรก" (Hellfire) จาก เฮลิคอปเตอร์ "แบล็กฮอว์ก" (SH-60S) ของออสเตรเลีย .. แต่เรือเป้าหมายก็ยังอยู่

ราวกับจะรู้มาล่วงหน้า เครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำแบบ P-3 "โอไรออน" (Orion) กองทัพเรือสหรัฐลำหนึ่ง จึงกระหน่ำตามด้วยจรวดฮาร์พูนอีก 1 ลูก จรวดเมเวอริก (Maverick) อีกลูก รวมเป็นสอง จากนั้นเรือลาดตระเวณพรินซ์ตัน (USS Princeton, CG 59) ได้ตามไปซ้ำอีกลูก ด้วยจรวดฮาร์พูน และ นี่คือเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ

เรือฟริเกตโบราณๆ ลำนี้ยังคงลอยลำต่อไป ในที่สุด เอฟ-18 "ซูเปอร์ฮอร์เน็ต" ลำหนึ่ง จากเรือบรรทุกเครื่องบิน จึงตามไปถล่มด้วยระเบิด MK 84 ขนาด 2,000 ปอนด์ ยัง.. ยังไม่พอ เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ B52 ตามไปรุมกินโต๊ะ ด้วยระเบิด "เพฟเวย์" (Paveway) หรือ ระเบิด GBU-12 ขนาด 500 ปอนด์ นำวิถีด้วยเลเซอร์

ดาบสุดท้ายเป็นตอร์ปิโด MK 48 จากเรือดำน้ำไม่ระบุชั้นลำหนึ่ง ของกองทัพเรือสหรัฐ.. เพื่อกล่าวคำอำลาเรือ USS Thach ซึ่งโดนหัวรบกับดินระเบิดชนิดต่างๆ น้ำหนัก รวมกันราว 5,000 ปอนด์

สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำเรือเป้าหมาย "จมยาก" ก็คือ บนเรือไม่มีวัตถุระเบิด และ ไม่มีเชื้อเพลิงใดๆ ซึ่งโดยปรกติ เรือชั้นเพอร์รี่ลำหนึ่งบรรทุกน้ำมัน 578 ตัน เชื้อเพลิงสาหรับเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ อีก 64 ตัน ซึ่งถ้าหากโดนยิงในเหตุการณ์สู้รบปรกติ สถานการณ์ก็จะเปลี่ยนไป และ ลงเอยแตกต่างกัน

แต่ถึงกระนั้นเรือเพอร์รี่หลายลำได้เคยพิสูจน์ความแข็งแกร่ง ทรหดให้โลกได้ตระหนัก เป็นข่าวใหญ่มาหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เหตุการณ์วันที่ 17 พ.ค. 2530 ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเรือสตาร์ค (USS Stark, FFG 31) โดนจรวดเอ็กโซเซ่ 2 ลูก ที่ยิงจากเครื่องบินขับไล่แบบมิราจ เอฟ-1 (Mirage F-1) ของอิรัก ขณะทำหน้าที่คุ้มกัน เรือบรรทุกน้ำมัน ระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับช่องแคบฮอร์มุซ และ ถูกโจมตีขณะที่เรือ ไม่ได้เปิดระบบอาวุธป้องกันใดๆ



เรือสตาร์คเสียหายหนัก แต่ไม่จม และ ถูกลากจูงกลับเข้าฝั่ง ก่อนจะนำกลับสหรัฐ และปลดระวางในเวลาต่อมา มีทหารเรือสหรัฐเสียชีวิต 37 คนในเหตุการณ์ครั้งนั้น จากความประมาท และ ละเมิดกฎแห่งการปฏิบัติในสถานการณ์สู้รบ ของผู้บังคับการเรือ ซึ่งต่อมาได้ถูกลงโทษทางวินัยสถานหนัก รวมทั้งรับโทษทางอาญาอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในการฝึก SINKEX ครั้งนี้ โลกได้เห็นการใช้จรวดฮาร์พูน จำนวน 3 เวอร์ชั่นด้วยกัน ยกเว้นเพียงรุ่นที่ใช้ยิงเป้าหมายบนบกเท่านั้น และ ในบรรดาจรวดที่ใช้นั้น ก็มีรุ่นหนึ่งที่ประจำการในราชนาวีไทยรวมอยู่ด้วย นั่นก็คือ จรวด RGM-84D ที่ติดตั้งบนเรือชุด เรือหลวงนเรศวร-ตากสิน ในปัจจุบัน

จรวดฮาร์พูนเป็นอาวุธปล่อยนำวิธียิงเรือที่ใช้กันแพร่หลาย ในกองทัพเรือสหรัฐ กับชาติพันธมิตรราว 30 ประเทศ ผลิตออกมาครั้งแรกเมื่อปี 2518 ผ่านการพัฒนามาหลายยุค ที่เรียกกันทั่วไปว่า "บล็อค" (Block) คู่แข่งสำคัญที่สูสีกันในด้านประสิทธิภาพก็คือ จรวดเอ็กโซเซ ที่ผลิตในฝรั่งเศส

ในย่านนี้นอกจากราชนาวีไทย ก็ยังมีใช้ในกองทัพอากาศมาเลเซีย ซึ่งเป็นรหัส AGM-84 และ ในกองทัพเรือสิงคโปร์ ทั้งหมดมีระยะยิงตั้งแต่ 100 กม.เศษ ไปจนถึงเกือบ 300 กม.

สำหรับเรือชั้นเพอร์รี เป็นเรือฟริเกตติดอาวุธนำวิถี ที่ใช้แพร่หลายที่สุด ประจำการยาวนานที่สุดอีกรุ่นหนึ่ง นับตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา มีการต่อออกมาจากอู่ต่างๆ ในสหรัฐ ถึง 55 ลำ ใน "ไฟล้ต์" ต่างกันออกไป และ เมื่อรวมกับที่ต่อในออสเตรเลีย กับจีนไทเป ก็จะมีจำนวนทั้งหมดกว่า 70 ลำ

เรือ USS Thach ปลดระวางในปลายปี 2556 ก่อนกันหนึ่งและสองปี กับเรือเร็นซ์ (USS Rentz, FFG 46) และ เรือแวนเดกริฟ (USS Vandegrift, FFG 48) ที่รัฐบาลสหรัฐประกาศ จะมอบให้แก่ราชนาวีไทยแบบให้เปล่า โดยมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง กับค่าอัปเกรดระบบจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มีการดำเนินการเรื่องนี้ต่อเนื่องอีกเลย แม้จะผ่านรัฐบาลมาหลายสมัย ตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน


รัฐสภาสหรัฐลงมติผ่านความเห็นชอบ ร่างรัฐบัญญัติฉบับหนึ่งในปลายปี 2556 เพื่อมอบเรือชั้นเพอร์รีให้แก่รัฐบาลไทย กับมิตรประเทศอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งขายเรือชั้นเดียวกันนี้ ให้กับอีกบางประเทศ ในคราวเดียวกัน แต่ไม่มีการนำรัฐบัญญัติฉบับดังกล่าว เข้าสู่วุฒิสภาอีกนับตั้งแต่นั้น โดยไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการ และ ไม่มีการกล่าวอ้างหรือกล่าวหาใดๆ ติดตามมา

อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 ได้มีการผ่านร่างรัฐบัญญัติฉบับใหม่ในเรื่องเดียวกัน และ วุฒิสภาอนุมัติ ในเดือน ธ.ค. แต่คราวนี้ไม่มีชื่อประเทศไทยรวมอยู่ด้วย ขณะที่ตุรกี ได้รับเรือฟริเกตชั้นเพอร์รีแบบให้เปล่าจำนวน 2 ลำ ส่วนกองทัพเรือกรีกไม่ผ่านการอนุมัติ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า มีแผนคุกคามประเทศไซปรัส ถูกต่อต้านจาก สส. ที่มีเชื้อสายเป็นชาวไซปรัสและชาวเติร์ก

ตามรายงานเว็บไซต์อาวุธยุทโธปกรณ์สหรัฐ ฐานะปัจจุบันของเรือเร็นซ์คือ เตรียมถูกนำไปใช้ในการฝึก SINKEX เช่นเดียวกันกับเรือทัคลำล่าสุดนี้ ขณะที่เรือแวนเดกริฟต์ถูกเตรียม เพื่อจำหน่ายภายใต้ระบบ FMS (Foreign Military Sale) ระบบการขายอาวุธยุทโธปกรณ์แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ที่สหรัฐใช้กับมิตรประเทศ รวมทั้งไทยด้วย.



ที่มา Data & Images -