ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

เมียนมาอนุมัติคลังก๊าซลอยน้ำ ปตท. เปิดพื้นที่ "กันบ่อก" นำเข้า LNG

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 24, 16, 06:23:28 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เมียนมาไฟเขียว ปตท.ลงพื้นที่ "กันบ่อก" ศึกษาเชิงลึกโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ หรือ FSRU 3 ล้านตัน/ปี สนพ.-ปตท.ถกแนวทางร่วมพัฒนากับรัฐบาลเมียนมา-ชวนร่วมศึกษาโอกาสตลาดก๊าซ LNG คาดประชุม กพช.ก.ย.นี้จะสรุปปริมาณส่วนขยายของคลัง LNG เพิ่มเติมใน จ.ระยองของ ปตท.และความเป็นไปได้โครงการ FSRU ของ กฟผ.


นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าความร่วมมือในการพัฒนาคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ หรือ FSRU (Floating Storage & egasification Unit) กำลังผลิต 3 ล้านตัน/ปี ในประเทศเมียนมาที่จะต้องลงทุนโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางรัฐบาลเมียนมาได้อนุมัติความร่วมมือในโครงการดังกล่าว และให้ทาง ปตท.สามารถลงสำรวจพื้นที่เป้าหมายคือบริเวณ "กันบ่อก" เพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการในเชิงเทคนิคต่อไป โดยจุดประสงค์ของคลังก๊าซ LNG ดังกล่าวมีเป้าหมายคือ 1) นำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มเติมในส่วนที่แหล่งเยตากุนเริ่มผลิตได้ลดลง เพื่อนำมาผสมกับก๊าซกับแหล่งที่ยังมีการผลิตอยู่ และส่งเข้าระบบท่อมายังพื้นที่ภาคตะวันตกของไทย 2) เมียนมาได้ใช้ประโยชน์จากก๊าซ LNG ร่วมกัน และยังสามารถขยายผลไปสู่ความร่วมมือด้านอื่น ๆ ทางพลังงานในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ตามแผนการนำเข้าก๊าซ LNG ในส่วนของ ปตท.นั้นจะต้องจัดหาเพิ่มเติมเข้าเพื่อรองรับความต้องการใช้เพิ่มเติมประมาณร้อยละ 10 ซึ่งหมายถึงว่า ปตท.จะต้องขยายคลังก๊าซ LNG เพิ่มเติมอีก 2 โครงการ โดยเบื้องต้นคือขยายในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และอีกโครงการอยู่ในระหว่างพิจารณาพื้นที่และกำลังผลิตว่าจะอยู่ที่ 5 ล้านตัน/ปี หรือ 7.5 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้ยังมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการ FSRU เช่นกันในพื้นที่บริเวณอ่าวไทย เพื่อส่งก๊าซ LNG ผ่านระบบท่อมายังโรงไฟฟ้าพระนครใต้โดยตรงว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดทั้งหมดของโครงการได้

"เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เดินทางไปหารืออย่างเป็นทางการกับทางรัฐบาลเมียนมาอีกครั้ง เพื่อเดินหน้าโครงการต่อไปตามขั้นตอน โครงการนี้จะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานในอนาคตให้กับทั้ง 2 ประเทศต่อไป ก.พลังงานพยายามจะต่อจิ๊กซอว์ด้านพลังงานให้เป็นระบบ ส่วนใดขาดเราจะเติมเพื่อไม่ให้มีปัญหาแน่นอน ที่สำคัญไม่ได้ดูความพร้อมของก๊าซ LNG เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น แต่ได้ดูความพร้อมเพื่อรองรับระยะยาวถึง 10 ปี"


ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เดินทางไปหารือกับรัฐบาลเมียนมาถึงความร่วมมือในโครงการพัฒนาคลังก๊าซ LNG ลอยน้ำในพื้นที่กันบ่อก และมีการหารือใน 2 ประเด็นคือ 1) ข้อตกลงเบื้องต้น รวมถึงแนวทางการพัฒนาโครงการ FSRU และ 2) ให้เมียนมาเข้ามาศึกษาตลาดก๊าซ LNG ร่วมกัน เพราะในอนาคตการซื้อขายก๊าซ LNG จะเหมือนกับตลาดค้าน้ำมัน ที่สำคัญในอนาคตก๊าซ LNG จะมีความจำเป็นมากขึ้น สำหรับการลงทุนในโครงการดังกล่าวในเบื้องต้นคือ ปตท. ส่วนในอนาคตหากรัฐบาลเมียนมาสนใจจะเข้ามาลงทุนก็สามารถเจรจาเพิ่มเติมได้

"ขั้นตอนต่อจากนี้คือ ปตท.จะส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่สำรวจก่อนที่จะมีการออกแบบทางเทคนิคของโครงการว่าจะใช้รูปแบบใด เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ เพราะรูปแบบของ FSRU ก็ยังมีหลายเทคนิคให้เลือกใช้อีก"

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติที่รองรับการใช้ในประเทศส่วนใหญ่มาจากพื้นที่อ่าวไทยร้อยละ 64 มาจากเมียนมาร้อยละ 16 พื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย (JDA) ร้อยละ 10 และนำเข้าประมาณร้อยละ 10 โดยเฉพาะการนำเข้าในอนาคตจะมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศผลิตได้น้อยลง โดยก่อนหน้านี้ ปตท.เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงการคลังและท่าเรือรับก๊าซ LNG ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อรองรับการนำเข้าที่ 5-10 ล้านตัน/ปีแล้ว กระทรวงพลังงานยังต้องการแผนรองรับในอนาคตที่ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศเมียนมาคือแหล่งเยดานา-เยตากุน เริ่มผลิตได้น้อยลง และอาจจะกระทบต่อโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันตกเป็นหลัก ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาโครงการ FSRU ในพื้นที่กันบ่อกในประเทศเมียนมา ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย (JDA) ที่ป้อนเข้าโรงไฟฟ้าจะนะ สงขลา ก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงตามสัญญาด้วย โดย ปตท.ได้เตรียมศึกษาในโครงการ FSRU ในทะเลสงขลาเพิ่มเติมด้วย



ที่มา Data & Images -