ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

เตรียมพร้อม "ท่าเทียบเรือ" การพัฒนาที่ต้องคำนึง "สิ่งแวดล้อม"

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 24, 13, 20:26:22 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

โดย วรรณโชค ไชยสะอาด

เอ่ยถึงพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท หรือเรียกให้สั้นแต่ติดหูว่า "พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน" หลายคนสนใจแต่พระเอกของ พ.ร.บ.นี้อย่าง "รถไฟฟ้าความเร็วสูง"


ทำให้ "โครงการสร้างท่าเทียบเรือ" หรือแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางลำน้ำและชายฝั่ง อาทิ โครงการก่อสร้างท่าเรือชุมพร สร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 สร้างสถานีขนส่งทางลำน้ำเพื่อการประหยัดพลังงานที่ จ.อ่างทอง สร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล กลับกลายเป็นยิ่งกว่าพระรอง

ทั้งที่เมื่อโครงการเหล่านี้สำเร็จจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนได้ไม่ยาก

แต่เพราะการลงทุนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่มักแลกมาด้วยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ดังนั้น "คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพ" หรือ "กอสส." ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ โดยจัดสัมมนาเชิงวิชาการในชื่อ ""ผลกระทบของการสร้างท่าเทียบเรือต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน"" เพื่อสร้างและแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับผลกระทบของการสร้างท่าเทียบเรือ

รวมทั้งประเมินสถานการณ์ถึงการเคลื่อนไหวของชุมชนต่อการสร้างท่าเทียบเรือในพื้นที่ต่างๆ

เปิดเวทีก็เข้าสู่โหมดจริงจังทันทีเมื่อ "ดร.ไตรเทพ วิชย์โกวิทเทน" หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หยิบรีโมตเปิดสไลด์ก่อนบอกความหมายของท่าเทียบเรือว่า หมายถึง อาณาบริเวณพื้นที่สำหรับให้เรือเข้าจอดเทียบท่า มีการทอดสมอเรือ มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการดำเนินกิจกรรมระหว่างเรือกับชายฝั่ง เช่น การขนถ่ายสินค้า

สำหรับความสำคัญในการสร้างท่าเทียบเรือ ดร.ไตรเทพเล่าว่า การขนส่งทางทะเลมีความสำคัญและจำเป็นต่อการค้าขายระหว่างประเทศ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการขนส่งทางด้านอื่นๆ และจากนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลเพื่อรองรับการเป็นศูนย์ในอาเซียนด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างท่าเทียบเรือ

ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือที่มีขนาดโครงการเข้าข่าย 3 เรื่องต่อไปนี้ จะต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ "อีไอเอ (EIA)" ตามกฎหมาย คือ 1.รับเรือขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอส หรือความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 100 เมตร หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวมตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ขึ้นไป, 2.ท่าเรือสำราญกีฬา ที่รองรับเรือได้ตั้งแต่ 50 ลำ และ 3.มีการถมที่ดินในทะเล ที่พื้นที่ต่ำกว่า 300 ไร่

"และยังมีรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ "อีเอชไอเอ (EHIA)" สำหรับโครงการท่าเรือที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง"

นั่นคือ 1.มีความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 300 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือตั้งแต่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป ยกเว้นท่าเรือที่ชาวบ้านใช้สอยในขีวิตประจำวันและการท่องเที่ยว, 2.มีการขุดลอกร่องน้ำตั้งแต่ 100,000 ตร.ม.ขึ้นไป และ 3.มีการขนถ่ายวัตถุอันตรายหรือกากของเสียอันตรายซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 มีปริมาณรวมกันตั้งแต่ 25,000 ตันต่อเดือนขึ้นไป หรือมี 250,000 ตันต่อปีขึ้นไป

ดร.ไตรเทพชี้แจงต่อถึงผลกระทบของการสร้างท่าเทียบเรือ เริ่มจากผลกระทบระหว่างก่อสร้าง เป็นการเพิ่มปริมาณของสารแขวนลอย ทับถมและทำลายแหล่งปะการังหรือหญ้าทะเล ลดอัตราการสังเคราะห์แสงของแพลงตอนพืช ลดความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ มีน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล สร้างปัญหาการจราจรทางบกและทางน้ำ เป็นต้น

"ต่อมาผลกระทบระหว่างดำเนินการ คือสิ่งก่อสร้างที่ยื่นไปในทะเลเป็นการกีดขวางการไหลเวียนของกระแสน้ำ ทำให้เกิดการสะสมของดินตะกอนและกลายเป็นแหล่งสะสมโลหะหนัก ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ เริ่มอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหามลพิษทางเสียง ปัญหาการสั่นสะเทือน และปัญหาฝุ่นควันที่เป็นผลจากการขนถ่ายสินค้าอีกด้วย

"เเละด้านผลกระทบจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง พบว่าคือปัญหาขยะจากเรือที่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม ปัญหาการระบายน้ำอับเฉาหรือคราบน้ำมันจากเรือ และยังมีผลพวงจากสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่ติดมากับเรือซึ่งนำพาโรคร้ายเข้ามา" ดร.ไตรเทพกล่าว   

สิ่งสำคัญมากไม่แพ้กันสำหรับการสร้างท่าเรือ ก็คือ "การมีส่วนร่วมของชุมชน" ในการพิจารณาเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยก่อนจะทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนต้องมีการฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่เสียก่อนว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไรและถ้ามีความขัดแย้งจะมีวิธีชี้แจงอย่างไร

"ต้องมีการประชาสัมพันธ์และให้รายละเอียดของโครงการ เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น ให้ประชาชนรับทราบ และเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาพิจารณาประกอบกับโครงการ ประเด็นสำคัญคือการรับฟังข้อคิดเห็น โดยเชิญทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ชาวบ้านหรือหน่วยงานอิสระ ผู้ได้รับผลประโยชน์และได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการก่อสร้างท่าเทียบเรือทั้งหลายเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน" ดร.ไตรเทพกล่าว

"เมื่อทราบถึงผลกระทบแล้ว จึงมาถึงวิธีการสร้างแนวทางการแก้ไขและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบของการสร้างท่าเทียบเรือ"

"ปกรณ์ ประเสริฐวงษ์" หัวหน้ากลุ่มสิ่งแวดล้อมสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า บอกว่า ผลกระทบและสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันทั้งหมด อย่างเช่นการทำเขื่อนกั้นคลื่นป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้นไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้กับทุกที่ ทำให้แต่ละพื้นที่ต้องศึกษารายละเอียดกันอย่างมากมาย ซึ่งการทำรายงานศึกษาผลกระทบอีเอชไอเอ (EHIA) และอีไอเอ (EIA) ก็เป็นการป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมได้ทางหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีมาตรการด้านความปลอดภัยของการเดินเรือ และมาตรการรักษาความปลอดภัยตามที่กำหนดโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับผู้เดินเรือและลดผลกระทบในด้านความเสียหายต่างๆ

ปกรณ์บอกต่อว่าการพัฒนาระบบขนส่งทางรางเพื่อมารองรับกับท่าเทียบเรือก็ถือเป็นการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนอีกทางหนึ่งเพราะจะช่วยในเรื่องการจราจรที่ติดขัดและลดการสร้างมลพิษทางเสียงและอากาศที่เป็นอยู่ในระบบขนส่งทางถนน

"สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการสร้างท่าเทียบเรือให้ได้ประโยชน์และเกิดผลกระทบที่ทุกฝ่ายรับได้ ก็คือ การนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ทั้งด้านดีและไม่ดี เพื่อนำมาร่วมพูดกันทุกๆ ฝ่าย หากท่าเทียบเรือเรายืนอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาที่ตรงไปตรงมา ก็เชื่อว่าเราจะได้ท่าเทียบเรือที่ให้คุณประโยชน์" ปกรณ์กล่าว

ท้ายที่สุดเเล้วความซื่อสัตย์ของทุกฝ่ายอาจเป็นมาตรการหนึ่งในการป้องกันเเละลดผลกระทบสิ่งเเวดล้อม

"หรือแม้แต่ปัญหาเรื่อง "คอร์รัปชั่น" ที่หลายคนเกรงตั้งแต่โครงการยังไม่เกิดขึ้น"

ที่มา -